เรื่องที่ 2 การคุ้มครองสิทธิของบุคคลในกระบวนการยุติธรรม
1. ความเป็นมา
สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย เป็นสิทธิโดยธรรมชาติที่ติดตัวมนุษย์ และเป็นสิทธิและเสรีภาพที่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย ทั้งในกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายภายในตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย การกระทำของบุคคลหรือองค์กรของรัฐที่เกี่ยวข้องกับบุคลอื่นจึงต้องตระหนักและคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเข้าไปแทรกแซงในสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งเรื่องการจับ การตรวจค้น การควบคุม หรือการทรมาน ทารุณกรรมหรือการลงโทษด้วยวิธีการที่โหดร้ายต่อบุคคลโดยอำเภอใจจะกระทำ มิได้เว้นแต่ที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งรัฐจำต้องดำเนินมาตรการทั้งด้านบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการหรือมาตรการอื่นๆ เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญ ภายใต้เจตนารมณ์แห่งการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามหลักการว่าด้วยสถานะและหน้าที่ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนหรือหลักการปารีส (Paris Principles) ที่มุ่งหมายจะให้เป็นสถาบันที่เป็นตัวแทนของประเทศโดยส่วนรวม เพื่อช่วยให้ประชาชนทั้งประเทศก้าวเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจที่ยึดหลักสิทธิมนุษยชน โดยทำหน้าที่ในการเสนอความเห็น ข้อเสนอแนะและรายงานต่าง ๆ ต่อรัฐบาล รัฐสภา และหน่วยงานอื่นในเรื่องที่เกี่ยวกับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ในฐานะที่เป็นสถาบันที่ให้คำปรึกษา ไม่ว่าจะได้รับการร้องขอจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องหรืออาศัยอำนาจหน้าที่ในการรับฟังปัญหาโดยไม่ต้องส่งเรื่องต่อไปให้กับหน่วยงานอื่นที่สูงกว่า โดยที่การเผยแพร่ความเห็น ข้อเสนอแนะและรายงานต่างๆ รวมทั้งอำนาจพิเศษของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรครอบคลุมถึงเรื่องบทบัญญัติของกฎหมาย หรือการบริหารด้านต่าง ๆ รวมถึงบทบัญญัติที่เกี่ยวกับองค์กรตุลาการที่จะมุ่งรักษาและขยายการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
2. การดำเนินการ
2.1 การตรวจสอบเรื่องร้องเรียนด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรม
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรมในปี พ.ศ. 2559 จำนวน 206 เรื่อง ปี พ.ศ. 2560 จำนวน 530 เรื่อง และปี พ.ศ. 2561 จำนวน 203 เรื่อง โดยได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและมีข้อเสนอแนะในเชิงป้องกัน เชิงแก้ไขปัญหา และให้หน่วยงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ อาทิเช่น
รายงานผลการตรวจสอบ ที่ 211/2559 กรณีกล่าวอ้างว่า มีกลุ่มชายประมาณ 10 คน พร้อมทั้งรถแบคโฮกำลังรื้อรั้วบ้านของผู้ร้องซึ่งเป็นผู้หญิง เมื่อผู้ร้องเข้าไปสอบถามกลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งพูดจาด้วยถ้อยคำที่ไม่สุภาพ พร้อมทั้งแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจอื่นใส่กุญแจมือผู้ร้อง แล้วมีการทำร้ายร่างกายและพยายามใส่กุญแจมือ ผู้ร้องพยายามดิ้นรนขัดขืน แต่ถูกนำตัวขึ้นรถตู้โดยมีมารดาของผู้ร้องอยู่ในเหตุการณ์ด้วย จากนั้นได้นำรถตู้ไปจอดที่โรงอาหารของศูนย์ฝึกยุทธวิธีตำรวจกลาง หนองสาหร่าย ซึ่งมิใช่สถานีตำรวจและมิได้ส่งตัวผู้ร้องส่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนทันที คงใส่กุญแจมือตลอดเวลา ทำให้ข้อมือชาและเขียวซ้ำ อีกประมาณ 1 ชั่วโมงต่อมา ผู้ร้องจึงถูกนำตัวไปส่งที่สถานีตำรวจภูธรหนองสาหร่าย มอบตัวแก่พนักงานสอบสวน และถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าดูหมิ่นเจ้าพนักงานและต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่าการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมโดยใช้กำลังบังคับและใส่กุญแจมือผู้ร้องซึ่งเป็นหญิงแน่นเกินไปและเป็นเวลานานเกินความจำเป็น ถือว่าเป็นการใช้วิธีการที่ไม่เหมาะสม อันเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 86 และประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี บทที่ 14 การใช้เครื่องพันธนาการ และเมื่อการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจมีผลทำให้ผู้ร้องได้รับบาดเจ็บจนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลปากช่องนานา จึงเป็นการจับกุมและควบคุมผู้ร้องโดยวิธีการที่ไม่เหมาะสม อันถือเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นไปตามหลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 4 (ที่ใช้บังคับในขณะตรวจสอบ) กรณีจึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ร้อง และเห็นสมควรให้มีการกำหนดมาตรการการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อ ตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานอัยการสูงสุด ดังนี้
(1) ให้ตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมาใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าว
(2) ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำชับและสั่งการให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ภายในสังกัดว่า ในการจับกุมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด มิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นอีก
(3) ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำชับและสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้วยการชี้แจงข้อเท็จจริงและเสนอพยานหลักฐานตามที่ได้รับการร้องขอ อันถือเป็นโอกาสที่จะพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่มีการอ้างว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
(4) ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานอัยการสูงสุด พิจารณาการตั้งข้อหา การสอบสวนดำเนินคดีและการสั่งคดีว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดครบถ้วนตามองค์ประกอบความผิดทางอาญาหรือไม่
รายงานผลการตรวจสอบ ที่ 1029/2560 กรณีกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหาร รวมจำนวน 20 นาย สนธิกำลังเข้าบุกตรวจค้นบ้านของผู้ร้อง โดยอ้างอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 กล่าวหาว่าผู้ร้องผลิตสินค้าไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จากนั้นได้ยึดสินค้าและอุปกรณ์ต่าง ๆ นำขึ้นรถยนต์กระบะไปยังสถานีตำรวจนครบาลธรรมศาลา เจ้าหน้าที่ตำรวจขอตรวจสอบใบอนุญาตผลิตสินค้า ผู้ร้องจึงได้แสดงหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่ามีใบอนุญาตเลขที่สารบบอาหารที่ 12 –1–09448 –1–0484 และเลขที่สารบบอาหารที่ 12 –1 –09448 –1–0155 เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไม่แจ้งข้อกล่าวหาและได้คืนสินค้าให้แก่ผู้ร้อง ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้โทรศัพท์เรียกผู้ร้องทุกข์และทนายความผู้รับมอบอำนาจมาพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงทราบจากทนายความว่าได้รับมอบอำนาจจากบริษัทคู่แข่งของผู้ร้องที่ผลิตสินค้าประเภทเดียวกัน แต่มิใช่ประชาชนทั่วไปที่ใช้สินค้าของผู้ร้องมาร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่อย่างใด ผู้ร้องมีความกังวลว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุและอาจได้รับผลประโยชน์จากบริษัทคู่แข่ง นอกจากนี้ การตรวจค้นในวันดังกล่าว ไม่มีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือกระทรวงสาธารณสุขมาร่วมตรวจสอบด้วย
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพิจารณาเห็นว่า ประเด็นตามคำร้องเกี่ยวข้องกับเสรีภาพในเคหสถานของบุคคลกับการใช้อำนาจค้นและการปฏิบัติของผู้ถูกร้องในเรื่องการค้น ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 33 ประกอบมาตรา 26 มาตรา 27 และมาตรา 29 ประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 4 (ที่ใช้บังคับในขณะตรวจสอบ) ได้ให้การรับรองเสรีภาพดังกล่าวไว้ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในเคหสถาน และได้รับความคุ้มครองในการที่จะอยู่อาศัยและครอบครองเคหสถานโดยปกติสุข การเข้าไปในเคหสถานโดยปราศจากความยินยอมของผู้ครอบครอง หรือการตรวจค้นเคหสถานหรือในที่รโหฐานจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ ทั้งนี้ เสรีภาพดังกล่าวรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีความผูกพันองค์กรของรัฐฝ่ายบริหารในอันที่จะให้ความเคารพและปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยการค้นในเคหสถานจะกระทำได้เท่าที่จำเป็นและไม่กระทบต่อสาระสำคัญของสิทธิและเสรีภาพ สำหรับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเป็นกระบวนการเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาฟ้องลงโทษต่อศาล โดยกฎหมายกำหนดให้มีมาตรการบังคับทางอาญาสำหรับเป็นเครื่องมือของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการจับกุม ควบคุมตัวบุคคล รวมถึงการค้นเคหสถาน อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมย่อมมีผลกระทบเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ ทั้งต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของบุคคลผู้ถูกกล่าวหารัฐธรรมนูญจึงให้การคุ้มครองบุคคลที่ถูกกล่าวหาจากมาตรการบังคับทางอาญาดังกล่าว โดยกำหนดให้การใช้อำนาจตามกฎหมายโดยองค์กรของรัฐฝ่ายบริหารต้องคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองด้วย ดังนั้น เมื่อการค้นเป็นการรบกวนและแทรกแซงความเป็นอยู่ในเคหสถานของบุคคลและเป็นมาตรการทางกฎหมายที่มีผลกระทบเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในเคหสถาน การเข้าตรวจค้นในเคหสถานโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย กล่าวคือ ต้องมีหมายค้นของศาลเพื่อให้ศาลได้ตรวจสอบถึงเหตุผลความจำเป็นก่อนการค้น หรือต้องมีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติให้ค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายของศาล และในการใช้อำนาจเข้าตรวจค้นต้องกระทำเท่าที่จำเป็นโดยจะต้องคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายรับรองด้วย จึงจะเป็นการค้นที่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบน่าเชื่อว่ามีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกัน หรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกองทัพบก ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 247 (1) ดังนี้
(1) สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจนครบาลธรรมศาลา ที่กระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามคำร้องนี้
(2) สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรกำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ปฏิบัติหน้าที่ไปตามกรอบของกฎหมายโดยคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมถึงเพิ่มมาตรการที่เหมาะสมเพื่อป้องกันมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในลักษณะนี้ขึ้นอีกในอนาคต
(3) กองทัพบกควรดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบกับเจ้าหน้าที่ทหาร กองร้อยชุดประสานงานประจำพื้นที่ ร.19 พัน 2 ที่กระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามคำร้องนี้
รายงานผลการตรวจสอบ ที่ 1011/2560 เป็นคำร้องเกี่ยวกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรม และสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย กรณีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจข่มขู่และทำรายร่างกายเพื่อให้รับสารภาพซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ที่ใช้บังคับในขณะตรวจสอบ) ประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 4 ได้ให้การรับรองสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวไว้ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมจะกระทำมิได้ แต่การลงโทษตาม คำพิพากษาของศาลหรือตามที่กฎหมายบัญญัติไม่ถือว่าเป็นการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม และบุคคลที่เป็นผู้เสียหาย ผู้ต้องหา โจทก์ จำเลย คู่กรณี ผู้มีส่วนได้เสีย หรือพยานในคดีมีสิทธิได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งสิทธิในการได้รับการสอบสวนอย่างถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรม และการไม่ให้ถ้อยคำเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง สำหรับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเป็นกระบวนการเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาฟ้องลงโทษต่อศาล โดยกฎหมายกำหนดให้มีมาตรการบังคับทางอาญาสำหรับเป็นเครื่องมือของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำการจับกุม ควบคุมตัวบุคคล รวมถึงการสอบสวน อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมย่อมมีผลกระทบเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลผู้ถูกกล่าวหาได้ รัฐธรรมนูญจึงให้การคุ้มครองบุคคลที่ถูกกล่าวหาจากมาตรการบังคับทางอาญาดังกล่าว โดยกำหนดให้การใช้อำนาจตามกฎหมาย โดยองค์กรของรัฐฝ่ายบริหารต้องคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญให้การรับรอง และต้องกระทำเท่าที่จำเป็น โดยจะต้องคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายรับรองด้วย
จากการตรวจสอบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเห็นว่ามีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 247 (1) ดังนี้
(1) สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรโคกกลอยและสถานีตำรวจภูธรท้ายเหมือง (ผู้ถูกร้องทั้งสอง) ซึ่งกระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรท้ายเหมือง ที่ละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตามคำร้องนี้
(2) สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรกำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ปฏิบัติหน้าที่ไปตามกรอบของกฎหมาย โดยคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมถึงเพิ่มมาตรการที่เหมาะสม เพื่อป้องกันมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต
(3) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) ควรดำเนินการตามอำนาจหน้าที่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจตามคำร้องนี้ (ผู้ถูกร้องทั้งสอง) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ที่ทำการควบคุมตัวผู้ถูกจับไม่เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ว่าด้วยการแต่งตั้ง การปฏิบัติหน้าที่และการกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. พ.ศ. 2545
(4) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 ควรร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 มาตรา 15 ในส่วนของอำนาจควบคุมผู้ถูกจับในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ว่าด้วยการแต่งตั้ง การปฏิบัติหน้าที่ และการกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. พ.ศ. 2545 ข้อ 24 โดยสมควรกำหนดให้ใช้สถานที่ของราชการเท่านั้นเป็นสถานที่ในการควบคุมผู้ถูกจับ และจะต้องมีการควบคุมการใช้อำนาจที่รัดกุมและตรวจสอบได้
รายงานผลการตรวจสอบ ที่ 220/2561 กรณีกล่าวอ้างว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหาร เข้าตรวจค้นและจับกุมบุคคลภายในบ้าน โดยกล่าวหาว่าร่วมกันฆ่าและอำพรางศพ จากนั้นได้ควบคุมตัวบุคคลภายในบ้าน จำนวน 5 คน ไปยังกองบังคับการตำรวจนครบาล 3 ได้ยึดโทรศัพท์มือถือและเอกสารสำคัญหลายอย่างของกลุ่มผู้ร้องและบุคคลภายในบ้าน เมื่อไปถึงกองบังคับการตำรวจนครบาล 3 โดยได้ควบคุมตัวบุคคลทั้งเจ็ดไว้ในห้องทึบ และในคืนดังกล่าวได้เรียกแต่ละคนมาทำการสอบสวนผลัดเปลี่ยนกันไป ในระหว่างการสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ข่มขู่และทำร้ายร่างกายผู้ถูกสอบสวนเพื่อให้กล่าวหาบุคคลที่ถูกควบคุมตัว 2 ราย ว่าร่วมกันฆ่าและอำพรางศพ ต่อมา ในช่วงเช้าของวัน ญาติได้ขอเข้าเยี่ยมบุคคลที่ถูกควบคุมตัวทั้งหมด แต่ได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมได้เฉพาะราย จากการสอบถามผู้ถูกควบคุมที่ได้รับการเยี่ยมทราบว่าผู้ถูกควบคุมตัวอื่นที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เยี่ยมถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายในระหว่างการสอบสวนเพื่อข่มขู่ให้ยอมรับสารภาพ วันต่อมาญาติได้ขอเข้าเยี่ยมบุคคลทั้งหมดอีกครั้ง โดยได้รับอนุญาตให้พบและได้สังเกตเห็นผู้ถูกควบคุมตัวรายหนึ่งมีอาการซึมเศร้าและมีอาการบวมที่บริเวณใบหน้า ในวันดังกล่าวได้ย้ายผู้ถูกควบคุม 2 ราย ไปควบคุมตัวที่สถานีตำรวจนครบาลมีนบุรี และปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมอื่นจำนวน 3 คน
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพิจารณาเห็นว่า ประเด็นตามคำร้องเกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของบุคคล ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 32 และมาตรา 40 ประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 4 ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ ได้ให้การรับรองสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวไว้ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา โจทก์ จำเลย คู่กรณี ผู้มีส่วนได้เสีย หรือพยานในคดีมีสิทธิได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งสิทธิในการได้รับการสอบสวนอย่างถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรม และการไม่ให้ถ้อยคำเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง นอกจากนี้ สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวยังได้รับการคุ้มครองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 และมาตรา 135 ซึ่งวางหลักการไว้ว่า ผู้ต้องหามีสิทธิได้รับการสอบสวนด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม โดยในการถามคำให้การผู้ต้องหา ห้ามมิให้พนักงานสอบสวนทำหรือจัดให้ทำการใด ๆ ซึ่งเป็นการให้คำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง ทรมาน ใช้กำลังบังคับ หรือกระทำโดยมิชอบประการใด ๆ เพื่อจูงใจให้เขาให้การอย่างใด ๆ ในเรื่องที่ต้องหานั้น ดังนั้น ในการดำเนินการสอบสวน พนักงานสอบสวนจะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติไว้ จึงจะเป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยกฎหมายและสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ ยังมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับเสรีภาพในเคหสถานของบุคคลกับการใช้อำนาจค้นและการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้องที่ 2 และที่ 3 ในเรื่องการค้น ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 33 ประกอบมาตรา 26 มาตรา 27 และมาตรา 29 ประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 4 ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ ได้ให้การรับรองและคุ้มครองเสรีภาพดังกล่าวไว้ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในเคหสถาน และได้รับความคุ้มครองในการที่จะอยู่อาศัยและครอบครองเคหสถานโดยปกติสุข การเข้าไปในเคหสถานโดยปราศจากความยินยอมของผู้ครอบครอง หรือการตรวจค้นเคหสถานหรือในที่รโหฐานจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ ทั้งนี้ หลักความคุ้มครองเสรีภาพดังกล่าว รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีความผูกพันองค์กรของรัฐฝ่ายบริหารในอันที่จะให้ความเคารพและปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย กล่าวคือ จะต้องมีหมายค้นของศาล หรือต้องมีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติให้ค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายของศาล และในการใช้อำนาจเข้าตรวจค้น ต้องกระทำเท่าที่จำเป็น โดยจะต้องคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายรับรองด้วย จึงจะเป็นการค้นที่ชอบด้วยกฎหมายและสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน จากการตรวจสอบเห็นว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหารในการปิดล้อมตรวจค้นบ้านพักของผู้ร้องเป็นการกระทำโดยไม่มีเหตุผลเพียงพอตามกฎหมาย อันถือเป็นการละเมิดต่อเสรีภาพในเคหสถานของผู้ร้องและบุคคลในครอบครัวที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย สำหรับการที่เจ้าหน้าที่เชิญตัวบุคคลตามคำร้องไปซักถามข้อเท็จจริง และทำการควบคุมตัวบุคคลดังกล่าวไว้เพื่อการซักถาม ตลอดจนการดำเนินกรรมวิธีซักถาม อาจเข้าข่ายเป็นการหลีกเลี่ยงที่จะไม่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในเรื่องการจับ การค้น และการควบคุมตัวบุคคลซึ่งเป็นผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยในคดีอาญา ทำให้บุคคลที่ถูกตรวจค้นในเคหสถานและถูกเชิญตัวไปซักถามข้อเท็จจริงไม่ได้รับความคุ้มครองสิทธิต่าง ๆ เฉกเช่นบุคคลที่อยู่ในฐานะผู้ถูกจับ ผู้ต้องหาหรือพยานในคดีอาญา การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 32 และมาตรา 40 ประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 4 ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ ซึ่งยังคงได้รับการรับรองและคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 4 มาตรา 28 มาตรา 29 วรรคสามและวรรคสี่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในส่วนที่ว่าด้วยหลักทั่วไป การค้น การจับ และการสอบสวน ได้แก่ มาตรา 7/1 มาตรา 57 มาตรา 78 มาตรา 92 มาตรา 96 มาตรา 98 มาตรา 102 มาตรา 103 มาตรา 133 วรรคหนึ่ง มาตรา 133 ทวิ มาตรา 134 มาตรา 134/1 มาตรา 134/2 มาตรา 134/3 มาตรา 134/4 และมาตรา 135 อีกทั้งเป็นการกระทำที่กระทบต่อมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิเด็กในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559 มาตรา 68 มาตรา 69 และมาตรา 72 พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 22 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ( Convention on the Rights of the Child) ข้อ 37 การกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวจึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน และมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบังคับการตำรวจนครบาล 3 สถานีตำรวจนครบาลมีนบุรี กองทัพบก และกองทัพภาคที่ 1 ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 (ตามลำดับ) ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 247 (1) และ (3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 26 (1) และ (3) ประกอบมาตรา 36 และมาตรา 42 ดังนี้
(1) มาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน
กองบังคับการตำรวจนครบาล 3 สถานีตำรวจนครบาลมีนบุรี และกองทัพภาคที่ 1 ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ตามคำร้อง ควรตักเตือนและกำชับเจ้าหน้าที่ในสังกัดให้ตระหนักว่า ในการใช้อำนาจใด ๆ ที่อาจกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะในการตรวจค้น จับกุม และควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยในคดีอาญา จะต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการและขั้นตอนตามกฎหมาย รวมทั้งคำนึงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในส่วนที่ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในส่วนที่ว่าด้วยหลักทั่วไป การค้น การจับและการสอบสวน พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและ วิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559 พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ( Convention on the Rights of the Child) ตลอดจนกฎหมายอื่น ๆ และระเบียบที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก
(2) ข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกองทัพบกควรพิจารณาจัดหลักสูตรอบรมแก่เจ้าหน้าที่ในสังกัดซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายพิเศษ หรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้อำนาจ รวมถึงสาระสำคัญของกฎหมายหรือคำสั่งใด ๆ ที่กำหนดหน้าที่และให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดทางอาญา เพื่อให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และไม่กระทำการใด ๆ ที่อาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน โดยเน้นการตระหนักรู้หลักสิทธิมนุษยชน หรือการเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นหัวใจสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ อันจะทำให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้รับความคุ้มครองอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
รายงานผลการตรวจสอบ ที่ 122/2561 กรณีกล่าวอ้างว่า เจ้าหน้าที่เรือนจำกลางระยองมีพฤติการณ์ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดย มีการทำร้ายร่างกายผู้ต้องขัง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตรวจสอบแล้วน่าเชื่อว่ามีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อกรมราชทัณฑ์ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 247 (1) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 26 (1) ประกอบมาตรา 36 ดังนี้
(1) ควรพิจารณาเยียวยาในการรักษาพยาบาล และชดเชยความเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย อย่างเหมาะสม
(2) ควรกำชับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ให้ เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยให้ความเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิของผู้ต้องขัง โดยเฉพาะสิทธิในชีวิตและร่างกาย ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มิอาจล่วงละเมิดได้ และลงโทษผู้ฝ่าฝืนอย่างเคร่งครัด
รายงานผลการตรวจสอบ ที่ 476/2560 เรื่อง สิทธิในกระบวนการยุติธรรม อัน เกี่ยวเนื่องกับสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย กรณีขอให้ตรวจสอบสาเหตุการตายของผู้ต้องหาคดีพิเศษซึ่งตายในระหว่างถูกควบคุมตัว โดยเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2559 พี่ชายของผู้ร้องถูกเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ จับกุมและนำตัวไปควบคุมไว้ที่อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ต่อมา เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2559 เวลาประมาณ 03.15 นาฬิกา ผู้ร้องได้รับแจ้งว่าพี่ชายป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่า เจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตัวพี่ชายของผู้ร้องละเลยต่อการดูแลความปลอดภัยให้แก่พี่ชายของผู้ร้องในฐานะเป็นผู้ต้องหา อันเป็นการละเลยการกระทำอันส่งผลโดยตรงที่ทำให้พี่ชายของผู้ร้องถึงแก่ความตาย การละเลยการกระทำในครั้งนี้จึงทำให้สิทธิของพี่ชายของผู้ร้องถูกกระทบในสาระสำคัญ โดยเฉพาะสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และสิทธิในกระบวนการยุติธรรม และมีผลทำให้สิทธิและเสรีภาพของพี่ชายของผู้ร้องที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญหมดสิ้นไป การละเลยการกระทำของเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษดังกล่าวจึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงเห็นควรเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 247 (1) ดังนี้
(1) ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเพิ่มมาตรการที่เข้มงวดขึ้นในการควบคุมและดูแลผู้ต้องหาคดีพิเศษ ทั้งในเรื่องของสถานที่ควบคุมที่มีความเหมาะสมและให้ความปลอดภัยกับผู้ต้องหา เจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่ในการควบคุมที่จะต้องมีความเชี่ยวชาญและทักษะเฉพาะด้านที่เหมาะสม ตลอดจนมีกฎ ระเบียบ หรือแนวทางปฏิบัติที่เคร่งครัด
(2) ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเร่งดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องที่เกิดขึ้นตามคำร้องนี้ให้แล้วเสร็จและเปิดเผยผลการสอบสวนต่อสาธารณชนโดยเร็ว เพื่อลดข้อเคลือบแคลงและสงสัยของประชาชน ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการปฏิบัติงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ
2.2 ข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกรณีปัญหาการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่มีการอายัด (ข้อเสนอแนะ ที่ 2/2560 ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2560)
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับคำร้องจากผู้ร้องที่เป็นผู้ต้องขังของเรือนจำซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลในคดีอื่นที่มีความประสงค์ขอให้พนักงานสอบสวนเร่งรัดดำเนินการสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานในคดีที่ตนตกเป็นผู้ต้องหาและขออายัดตัวต่อเรือนจำ เนื่องจากการที่พนักงานสอบสวนไม่ทำการสอบสวนคดีดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว คดีที่ผู้ร้องตกเป็นผู้ต้องหาก็จะไม่ได้รับการพิจารณาโดยพนักงานอัยการและศาลยุติธรรม ก่อให้เกิดความล่าช้าของคดีและส่งผลให้ผู้ต้องขังที่มีคดีอายัดเหล่านั้นไม่ได้รับสิทธิหรือประโยชน์ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ จึงให้มีการพิจารณาและเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมตลอดทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน จากการตรวจสอบจะพบข้อสังเกตสำคัญหลายประการ นำมาซึ่งผลกระทบต่อสิทธิของบุคคล เช่นบุคคลที่เป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา และก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้ต้องขัง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 247 (3) ดังนี้
(1) กรมราชทัณฑ์และสำนักงานตำรวจแห่งชาติควรร่วมกันพิจารณากำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการสอบสวนคดีของผู้ต้องขังที่มีคดีอายัด โดยในคดีที่ผู้ต้องหาได้หลบหนีในชั้นการสอบสวน หากต่อมาปรากฏว่า ผู้ต้องหารายนั้นได้กระทำความผิดในอีกคดีหนึ่งและ/หรือในท้องที่อื่น และศาลมีหมายให้ขังผู้ต้องหารายนั้นไว้ระหว่างการสอบสวน ให้เรือนจำหรือทัณฑสถานที่คุมขังผู้ต้องหารายนั้นเร่งตรวจสอบข้อมูลทางคดี แล้วแจ้งไปยังพนักงานสอบสวนท้องที่ที่ผู้ต้องหารายนั้นหลบหนีเพื่อทราบ โดยหลังจากที่พนักงานสอบสวนทราบเหตุดังกล่าวแล้วจะต้องรีบสอบสวนตามกระบวนการให้เสร็จสิ้นแล้วส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการโดยเร็ว และหากปรากฏว่าคดีที่ผู้ต้องหารายนั้นถูกคุมขังอยู่เสร็จสิ้นคดีในศาลชั้นต้นแล้ว ให้เรือนจำหรือทัณฑสถานนั้น ๆ แจ้งพนักงานสอบสวนเพื่อส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ พร้อมกับประสานกับกรมราชทัณฑ์ เพื่อขอโอนตัวผู้ต้องขังจากเรือนจำหรือทัณฑสถานที่ผู้ต้องขังรายนั้นถูกคุมขังอยู่ไปควบคุมยังเรือนจำที่มีเขตอำนาจเหนือท้องที่ที่ความผิดเกิด เพื่อที่พนักงานอัยการจะได้ยื่นฟ้องต่อศาลต่อไป โดยไม่ต้องรอให้คดีใกล้จะขาดอายุความ
(2 ) คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติควรประสานงานกับสำนักงานศาลยุติธรรม ให้นำระบบการถ่ายทอดภาพและเสียงในลักษณะการประชุมทางจอภาพมาใช้กับกระบวนพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมที่ต้องรับฟังคำเบิกความของพยานที่ศาลอื่นหรือสถานที่ทำการของทางราชการหรือสถานที่แห่งอื่นให้มากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้มาตรการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 230/1 มีผลในทางปฏิบัติ อันจะสามารถแก้ไขข้อขัดข้องปัญหาในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่มีการอายัดตามรายงานฉบับนี้ และเพื่อให้การพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมเสร็จสิ้นไปโดยเร็ว
(3) คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ควรดำเนินการประสานงานระหว่างหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะกระทรวงยุติธรรมในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนากระบวนการยุติธรรมอิเล็กทรอนิกส์ ( National Single Window on Justice: NSWJ) ให้เร่งรัดหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดดำเนินการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศในกระบวนการยุติธรรม เพื่อนำมาใช้สำหรับแก้ไขปัญหาการปฏิบัติกับผู้ต้องขังที่มีการอายัดในชั้นสอบสวนได้มากยิ่งขึ้น
VIDEO
เรื่องที่ 2 การคุ้มครองสิทธิของบุคคลในกระบวนการยุติธรรม