ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดที่ ๒ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๒ และจะพ้นวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๘ ) ได้เกิด สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เขตปริมณฑล และพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศหลายพื้นที่ เป็นเหตุให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ นำโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ ตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๖.๓๐ น. เป็นต้นไป และได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑/๒๕๕๗ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เรื่อง การสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ สิ้นสุดลง ยกเว้นหมวด ๒ เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ และให้องค์กรอิสระ องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ประกอบกับประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๔๘/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เรื่อง การสรรหาบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่าง กำหนดว่า ในกรณีที่จำเป็นต้องสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแทนตำแหน่งว่าง ให้ดำเนินการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่เคยดำเนินการสรรหามาแล้วตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และหากในการสรรหาดังกล่าวไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งใด ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ต้องมีในคณะกรรมการสรรหาด้วย ให้คณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่
๑. การพิจารณาสถานะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (การควบรวมองค์กร)
หลังประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ สิ้นสุดลง ได้มีกระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ สภาปฏิรูปแห่งชาติได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับ ชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ มาตรา ๓๕ วรรคท้าย ที่บัญญัติว่า “ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาถึงความจำเป็นและความคุ้มค่าที่ต้องมีองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่จำเป็นต้องมี ให้พิจารณามาตรการที่จะให้การดำเนินงานขององค์กรดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้วย”
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับสถานะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดังนี้
๑) คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในการประชุมครั้งที่ ๔๓ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๘ ได้มีมติให้ควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับผู้ตรวจการแผ่นดินเข้าด้วยกัน โดยจัดตั้งเป็น “ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิของประชาชน” โดยให้เหตุผลว่าทั้งสององค์กรมีลักษณะงานที่คล้ายคลึงกัน จึงเห็นควรยกสถานะเป็นองค์กรเดียวในการทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นการลดความซ้ำซ้อนในการทำงานและสามารถให้บริการแก่ประชาชนแบบเบ็ดเสร็จ โดยยังคงอำนาจของแต่ละองค์กรไว้ตามเดิม และไม่กระทบต่อบุคลากรทั้งสองหน่วยงาน โดยจะยกระดับกฎหมายขององค์กรให้เป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ รองรับโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ขององค์กร ประกอบด้วยกรรมการ จำนวน ๑๑ คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะจากวุฒิสภา จากผู้ซึ่งมีความรอบรู้และประสบการณ์ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน การบริหารราชการแผ่นดิน หรือกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ร่วมกันของสาธารณะ และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้แทนจากองค์กรเอกชนด้วย โดยกรรมการแต่ละคนจะแยกกันทำหน้าที่ในแต่ละด้านอย่างชัดเจน มีวาระการดำรงตำแหน่ง ๖ ปี สามารถดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว ทั้งนี้ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้แถลงข่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญในส่วนนี้ยังไม่ถือว่าเป็นการสิ้นสุด ยังพร้อมรับฟังความเห็นและประเด็นข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งนี้ ให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางการควบรวมทั้งสองหน่วยงาน เพื่อศึกษาความชัดเจนเกี่ยวกับโครงสร้าง องค์ประกอบ อำนาจหน้าที่ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญต่อไป
๒) คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในการประชุมครั้งที่ ๕๙ ในวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๘ ได้พิจารณาบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับการควบรวมผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในมาตรา ๓๑๑ ดังนี้
“มาตรา ๓๑๑ ให้ดำเนินการควบรวมองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็น ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน โดยให้ดำเนินการ ดังนี้
(๑) ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญนี้ และให้คงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดวาระ โดยให้เริ่มนับวาระตั้งแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง
(๒) ให้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญนี้ และให้คงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
(๓) ให้ดำเนินการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนส่วนที่ยังขาดอยู่เพื่อให้ครบจำนวน ตามมาตรา ๒๗๕ ซึ่งจะต้องดำเนินการไปพร้อมกับการสรรหาตาม (๒) และต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
(๔) ให้จัดตั้งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนโดยการควบรวมสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินและสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และให้บุคลากรของทั้งสองหน่วยงานดังกล่าวให้คงดำรงตำแหน่งและให้ได้รับสิทธิประโยชน์อื่นตามที่ได้รับอยู่เดิมไปพลางก่อนจนกว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนจะมีผลใช้บังคับ
ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ จะเข้ารับการสรรหาเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญนี้มิได้
ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งกรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งตามองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ จะเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญนี้มิได้”
๓ ) ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับเสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติ ตามมาตรา ๓๔ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๓๖ วรรคหนึ่ง และส่งให้คณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามมาตรา ๓๖ วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ได้บัญญัติส่วนที่ ๕ องค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ตอนที่ ๔ ผู้ตรวจการแผ่นดินพิทักษ์สิทธิมนุษยชน ว่า
“มาตรา ๒๗๕ ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนมีจำนวนสิบเอ็ดคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้มีความรอบรู้และประสบการณ์ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน การบริหารราชการแผ่นดิน หรือกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ร่วมกันของสาธารณะ และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ทั้งนี้ โดยต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้แทนจากองค์การเอกชนด้วย
ให้นำหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งตามมาตรา ๒๕๙ วรรคสองและวรรคสาม เรื่องหน่วยธุรการตามมาตรา ๒๕๙ วรรคสี่ วาระการดำรงตำแหน่งและการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๒๖๓ วรรคหนึ่งและวรรคสอง และการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๒๖๕ มาใช้บังคับกับผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนด้วย โดยอนุโลม แต่ให้ผู้ได้รับการสรรหานั้นดำรงตำแหน่งตามวาระในมาตรา ๒๖๓ วรรคหนึ่ง ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน
คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม คณะกรรมการสรรหา รวมทั้งวิธีการสรรหา และการพ้นจากตำแหน่งของผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน ตลอดจนการอื่นที่จำเป็น ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการสิทธิมนุษยชนและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน โดยอย่างน้อยต้องมีข้อห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐมาแล้ว เข้ารับการสรรหา
ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน
ให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ตรวจการแผ่นดินและสิทธิมนุษยชนเป็นประจำทุกปี โดยคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ แล้วแจ้งให้ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนทราบ และประกาศผลการประเมินดังกล่าวให้ทราบเป็นการทั่วไป ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๒๗๖ ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนมีอำนาจและหน้าที่พิทักษ์ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน และโดยเฉพาะให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี และเสนอมาตรการต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่กระทำหรือละเลยการกระทำดังกล่าว เพื่อดำเนินการแก้ไข
(๒) พิจารณาและสอบหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนในกรณีที่ปรากฏว่า
(ก) เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย
(ข) เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียน หรือประชาชน หรือไม่เป็นธรรม ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ก็ตาม
๔) คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ ตามมาตรา ๓๔ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๓๖ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ เมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๘ ปรากฏว่าสภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการฯ โดยร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวยังคงควบรวมผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยใช้ชื่อว่า “ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน” มีสถานะเป็น องค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
ต่อมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานกรรมาธิการ เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๘ โดยคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญ และได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบจากการออกเสียงประชามติ โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ได้ประกาศใช้ เมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ บัญญัติให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีสถานะเป็นองค์กรอิสระ (ตามมาตรา ๒๔๖ และ ๒๔๗
๒. การแสดงจุดยืนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มีแถลงการณ์ลงวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๘ ว่า แนวคิดที่จะพิจารณาควบรวมองค์กรคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับผู้ตรวจการแผ่นดินเข้าด้วยกันนั้น อาจสื่อความหมายได้ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแตกต่างไปจากเดิม โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีความเห็นต่อประเด็นดังกล่าว ดังนี้
๑) อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีลักษณะที่ชัดเจนและแตกต่างจากองค์กรอื่น กล่าวคือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีหน้าที่ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรองหรือคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายไทย หรือดำเนินงานให้เป็นไปตามสนธิสัญญาที่ประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม และเป็นไปตามหลักการปารีส ( Paris Principle) รวมถึงเสนอแนะนโยบาย ข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับต่อรัฐสภา และคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานระหว่างหน่วยราชการ องค์การเอกชน และองค์การอื่นใดด้านสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าขอบเขตงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมุ่งไปที่การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนเป็นที่ตั้ง และมีหน้าที่ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทุกกรณี ไม่ว่าผู้กระทำละเมิดจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานใด ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนก็ตาม และไม่จำกัดว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานดังกล่าวจะชอบด้วยกฎหมาย แต่มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ย่อมอยู่ในขอบเขตการทำหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั้งสิ้น โดยเฉพาะอำนาจหน้าที่ที่สำคัญในการตรวจสอบการกระทำหรือละเลยการกระทำ ซึ่งไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และไม่มีองค์กรอื่นตรวจสอบ นอกจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเท่านั้น โดยเป็นไปตามกลไกของสหประชาชาติ
๒) กรณีที่กล่าวถึงความซ้ำซ้อนระหว่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นเรื่องขั้นตอนระหว่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นเรื่องขั้นตอนวิธีการในการตรวจสอบข้อร้องเรียน ถึงแม้ว่าจะดูเสมือนหนึ่งว่ามีความคล้ายคลึงกันในทางสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียน แต่การทำหน้าที่ดังกล่าวมิได้ซ้ำซ้อนกันในเรื่องของอำนาจหน้าที่ตามภารกิจแต่อย่างใด อีกทั้งการทำหน้าที่ขององค์กรทั้งสองในการตรวจสอบนั้นจะก่อให้เกิดผลดีที่ทุกคำร้องเรียนจะได้รับการตรวจสอบในบริบทและมิติที่แตกต่างกัน
ดังนั้น ปัจจัยสำคัญในการพิจารณาว่าควรควบรวมสององค์กรดังกล่าวเข้าด้วยกันหรือไม่ ไม่ควรนำวิธีการทำงานของแต่ละองค์กรมาเป็นเหตุผลในการสรุปว่ามีอำนาจหน้าที่ซ้ำซ้อนกันหรือไม่ เพราะแม้ว่าทั้งสององค์กรจะมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียน แต่เป้าหมายในการตรวจสอบหรือการวินิจฉัยตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละองค์กรมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง อีกทั้งย่อมเป็นผลดีต่อสังคมและประชาชนที่จะพึงได้รับประโยชน์จากการทำหน้าที่ที่แตกต่างกันดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
๓) การบริหารจัดการองค์กร บุคลากร และทรัพยากร สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นหน่วยงานอิสระที่มีโครงสร้างเป็นราชการ สังกัดคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และฐานะองค์กรไม่ขึ้นตรงต่อฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) หรือฝ่ายอื่นใดทั้งสิ้น และได้มุ่งเน้นในการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล ส่วนสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นหน่วยงานอิสระที่มีพนักงานของรัฐในการสนับสนุนการดำเนินงานของผู้ตรวจการแผ่นดิน ดังนั้น การบริหารจัดการองค์กร บุคลากร โดยรวมสำนักงานทั้งสองเข้าด้วยกันอาจมีกรณีที่เป็นปัญหาในการบริหารจัดการ ซึ่งมีลักษณะเป็นองค์กรคนละรูปแบบตามที่กล่าว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยินดีที่จะส่งผู้แทนไปร่วมเสนอข้อมูลและความเห็นในรายละเอียดเกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียในการควบรวมองค์กรดังกล่าวต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหรือคณะทำงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ในประการสำคัญคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเห็นด้วยว่าควรจะได้มีการปรับปรุงองค์ประกอบ อำนาจหน้าที่ และประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ให้เกิดผลสำเร็จโดยเร็วอย่างต่อเนื่องและเป็นธรรม เป็นที่คาดหวังและเชื่อมั่นของประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐได้สมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
๓. การชี้แจงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มีหนังสือถึงผู้เกี่ยวข้อง คือ ประธานกรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรี ตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ สม ๐๐๐๗/๑๑-๑๕ ลงวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ชี้แจงเหตุผลที่ไม่สมควรควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับผู้ตรวจการแผ่นดินเข้าด้วยกัน สรุปได้ว่า แม้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะสนับสนุนการปฏิรูปประเทศในภาพรวม แต่เมื่อได้พิจารณามติและเหตุผลของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญประกอบกับร่างรัฐธรรมนูญที่ปรากฏในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมองค์กรดังกล่าวแล้ว แนวคิดในการควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับผู้ตรวจการแผ่นดินยังมีข้อควรคำนึง/ข้อพิจารณาที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญควรนำไปประกอบการพิจารณาเพื่อทบทวนมติดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้
๑) ข้อควรคำนึง/ข้อพิจารณาว่าด้วยผลกระทบต่อการทำหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชน
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเห็นว่า การควบรวมองค์กรดังกล่าวส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ ดังนี้
๑.๑ ) อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับผู้ตรวจการแผ่นดินมีความแตกต่างกัน โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทำหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนเป็นสำคัญ ทั้งตามหลักการของรัฐธรรมนูญ กฎหมายไทย และพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคที่ได้รับการรับรองและคุ้มครอง ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ที่ไม่ซ้ำซ้อนกับองค์กรใดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ และ ๒๕๕๐การควบรวมองค์กรดังกล่าวจึงมีผลเป็นการสร้างองค์กรกลุ่มขึ้นใหม่ที่รวมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นการเฉพาะให้ไปทำหน้าที่ในส่วนของผู้ตรวจการแผ่นดินด้วย จึงย่อมส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชน
๑.๒) คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่า ได้เพิ่มอำนาจหน้าที่ให้รายงานต่อรัฐสภาและเปิดเผยต่อสาธารณะในกรณีที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ดำเนินการตามข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิของประชาชนด้วยนั้น ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๕ และมาตรา ๓๑ ได้กำหนดให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ส่วนนี้ไว้อยู่แล้ว
๑.๓) ตามที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่า การควบรวมองค์กรเป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการร้องเรียนได้ครบวงจรโดยไม่ต้องไปร้องเรียนสองแห่งนั้น วัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนของสองหน่วยงานมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน การควบรวมจึงทำให้ประชาชนเสียโอกาสและทางเลือกในการร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและให้ได้รับการเยียวยาความเสียหายเพราะทำให้เหลือช่องทางการร้องเรียนเพียงช่องทางเดียว
๑.๔) ตามร่างรัฐธรรมนูญที่ปรากฏ ได้กำหนดคุณสมบัติของกรรมการองค์กรใหม่ว่าแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรอบรู้และประสบการณ์ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน การบริหารราชการแผ่นดิน หรือกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ร่วมกันของสาธารณะ และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ สะท้อนให้เห็นว่า เป็นการกำหนดคุณสมบัติที่กว้างขวางและไม่ได้ให้ความสำคัญกับความรู้และประสบการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนเป็นการเฉพาะ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนที่จำเป็นจะต้องสอดคล้องกับทิศทางการปฏิรูปที่สนับสนุนการจัดตั้งองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน แต่ในทางตรงข้าม ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กลับลดความสำคัญของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยตรง
๑.๕) การควบรวมมีผลให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนระเบียบ กฎเกณฑ์ในการบริหารจัดการองค์กรของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับผู้ตรวจการแผ่นดินให้เป็นระบบเดียวกัน ต้องใช้เวลา ทรัพยากร เพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากสำนักงานของทั้งสองหน่วยงานมีระบบโครงสร้างองค์กรที่แตกต่างกัน กล่าวคือ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีโครงสร้างเป็นส่วนราชการขึ้นตรงต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมีความเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายอื่นใดทั้งสิ้น ส่วนสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นหน่วยงานที่มีพนักงานของรัฐในการสนับสนุนการดำเนินงาน ดังนั้น การควบรวมเข้าด้วยกันจึงอาจนำไปสู่ปัญหาในการบริหารจัดการองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบริหารงานบุคคลและงบประมาณ รวมทั้งการให้บริการด้านเรื่องร้องเรียนของประชาชนที่มีอยู่เดิมของแต่ละองค์กรต้องขาดความต่อเนื่องและเกิดภาวะชะงักงันในเรื่องร้องเรียนที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ
๒) ข้อควรคำนึง/ข้อพิจารณาว่าด้วยสถานะขององค์กรตามหลักการปารีส
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเห็นว่า การควบรวมองค์กรดังกล่าวมีผลกระทบต่อสถานะขององค์กรที่จะทำหน้าที่เป็นสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามหลักการปารีสว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ดังนี้
๒.๑) ตามหลักการปารีส สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องมีพระราชบัญญัติเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือพระราชบัญญัติก็ตาม ล้วนแต่ตราขึ้นโดยองค์กรที่ใช้อำนาจ นิติบัญญัติโดยมีสภาพบังคับเป็นกฎหมายในระดับเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อดำเนินงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง และประกันความเป็นอิสระรวมทั้งความยั่งยืนขององค์กร
๒.๒) การควบรวมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับผู้ตรวจการแผ่นดินเข้าด้วยกัน ย่อมทำให้บทบาทขององค์กรใหม่ในเรื่องการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในฐานะสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไม่ชัดเจนและอาจถูกลดทอนความสำคัญลงได้ เพราะตามร่างรัฐธรรมนูญที่ให้มีกรรมการ ๑๑ คน และให้แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในการดำเนินงานของกรรมการแต่ละคนให้ชัดเจน กรณีใดต้องเป็นมติร่วมกันของกรรมการในองค์กรใหม่ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้น ย่อมส่งผลให้การทำหน้าที่ขององค์กรใหม่ในด้านสิทธิมนุษยชนถูกแยกย่อยออกเป็นการพิทักษ์สิทธิในแต่ละด้าน ขาดการพิจารณาในองค์รวม ไม่สอดคล้องกับหลักการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่มีความเป็นสากลและไม่อาจแบ่งแยกได้
ทั้งนี้ การพิจารณาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต้องพิจารณาในมิติและบริบทที่สอดคล้องกับบทบาทอำนาจหน้าที่ขององค์กรอย่างรอบด้าน ประการสำคัญ ในการใช้อำนาจหน้าที่จำเป็นต้องอาศัยความรอบรู้และประสบการณ์ที่หลากหลายจากทุกภาคส่วนของสังคม ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีรูปแบบการทำงานเป็นองค์คณะบุคคลในการพิจารณาวินิจฉัยตัดสินใจขั้นสุดท้าย โดยในระหว่างการทำหน้าที่ดังกล่าว อาจมีกลไกในรูปคณะอนุกรรมการช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในมิติและบริบทที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนในแต่ละด้านในเบื้องต้นได้
๒.๓) การทำหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีบริบทที่กว้างขวางไปกว่ารัฐธรรมนูญและกฎหมายภายใน โดยต้องคำนึงถึงคุณค่าแห่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลตามพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี และสร้างความเชื่อมโยงกับบริบทสากลที่ให้ความสำคัญกับการทำหน้าที่เป็นสถาบันตรวจสอบที่เป็นอิสระและไม่อยู่ในอาณัติหรือในบังคับบัญชาของรัฐบาล โดยมีสำนักงาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสนับสนุนภารกิจให้กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ สำนักงาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้พัฒนาศักยภาพเพื่อรองรับภารกิจดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง
๒.๔) ตามที่ร่างรัฐธรรมนูญที่ปรากฏ ไม่ได้บัญญัติถึงการมีสำนักงาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่เป็นหน่วยงานอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่นๆ ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการปารีสที่ให้สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีโครงสร้างที่เหมาะสมที่จะทำให้สามารถดำเนินกิจการได้อย่างราบรื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องมีงบประมาณที่เพียงพอและไม่อยู่ภายใต้การควบคุมทางการเงินที่อาจกระทบต่อความเป็นอิสระขององค์กร
๓) ข้อควรคำนึง/ข้อพิจารณาว่าด้วยผลกระทบต่อบทบาทด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในประชาคมระหว่างประเทศ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเห็นว่า การควบรวมองค์กรดังกล่าวส่งผลกระทบต่อบทบาทด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยประชาคมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่งผลกระทบต่อการติดตามการดำเนินการตามสนธิสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม ดังนี้
๓.๑) การควบรวมองค์กรทำให้ความต่อเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในเวทีระหว่างประเทศในกรอบความร่วมมือต่างๆ ได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีความเปลี่ยนแปลงภายใต้ชื่อขององค์กรใหม่ หรืออำนาจหน้าที่ของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ระบุไว้ในหลักการปารีสที่อาจเปลี่ยนแปลงไปจากการควบรวมดังกล่าว ทั้งนี้ ปัจจุบันในเวทีระหว่างประเทศ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขันและเป็นที่ยอมรับ ทั้งในกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับอนุภูมิภาค อาทิ การเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรบริหาร ( Bureau) ของคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ( International Coordination Committee of National Human Rights Institutions – ICC) การเป็น ประธานกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ( Asia Pacific Forum - APF) และกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( South East Asia National Human Rights Institutions Forum – SEANF) รวมทั้งจัดทำรายงานคู่ขนานเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายในประเทศและภายใต้อนุสัญญาต่างๆ ให้กับหน่วยงานของสหประชาชาติ
นอกจากนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยังได้รับการเสนอให้ทำหน้าที่เป็นกลไกป้องกันการต่อต้านการทรมาน ( National Preventive Mechanism – NPM) ภายใต้พิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งขณะนี้คณะรัฐมนตรีได้รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว อีกทั้งปัจจุบันประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนถือเป็นประเด็นสำคัญหนึ่งในสามเสาหลักของสหประชาชาติ นอกเหนือจากประเด็นเรื่องความมั่นคง และเศรษฐกิจกับการพัฒนา โดยได้ส่งเสริมให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ จัดตั้งและสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะเป็นกลไกเชื่อมโยงระหว่างมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนภายในประเทศ รวมทั้งจัดทำข้อมูลหรือเสนอรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายในประเทศให้หน่วยงานของสหประชาชาติ โดยเฉพาะคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ( Human Rights Council) และคณะกรรมการภายใต้อนุสัญญาระหว่างประเทศทางด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้แต่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนก็ได้มีการจัดตั้งองค์กรในรูปแบบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดังเช่นประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น และมีการจัดทำรัฐธรรมนูญและกฎหมายว่าด้วยกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่สอดคล้องกับหลักการปารีส ดังนั้น การควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้ากับผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเป็นการสื่อสารว่า บทบาทด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของประเทศไทยถูกลดทอนความสำคัญลง ทั้งที่ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องและได้รับการยอมรับในเวทีระหว่างประเทศตลอดมา
๓.๒) ในปัจจุบันภาพลักษณ์ของรัฐบาลเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากนานาประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ ดังจะเห็นได้จากการที่ประเทศไทยมิได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ทั้งที่ผู้แทนไทยมีบทบาทและเป็นที่ยอมรับในหน่วยงานดังกล่าวมาโดยตลอด หากมีการเปลี่ยนแปลง หรือสร้างผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระ ซึ่งรวมถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็จะยิ่งเป็นการส่งผลลบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลมากขึ้น ซึ่งเป็นการสวนกระแสของประชาคมระหว่างประเทศที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดังนั้น แนวคิดที่จะให้ควบรวมองค์กรดังกล่าวของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีที่มาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยตรง อาจเป็นการทำให้สังคมทั้งภายในและระหว่างประเทศเข้าใจได้ว่า รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล
นอกจากนี้ ในปัจจุบันสหประชาชาติกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำระเบียบว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนภายหลังปี ค.ศ. ๒๐๑๕ ( Post 2015 Sustainable Development Agenda) ซึ่งเน้นหลักการว่าด้วยการพัฒนา การสร่างสันติภาพ และการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เป็นประเด็นหลักในการส่งเสริมสภาพการดำรงชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน โดยการสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนในทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและการตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาล โดยจะจัดการประชุมระดับสุดยอดเพื่อรับรองเอกสารสำคัญว่าด้วยระเบียบวาระดังกล่าวในเดือนกันยายน ๒๕๕๘ ที่นครนิวยอร์ก ซึ่งนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าคณะรัฐบาลจะต้องเข้าร่วมประชุมเพื่อกล่าวถ้อยแถลงและรับรองเอกสารร่วมกับผู้นำประเทศอื่นๆ อีก ๑๙๒ ประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ สาระสำคัญที่จะปรากฏในถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีต้องเป็นการสะท้อนความจริงใจของรัฐบาลในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนภายในประเทศ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะบรรลุเป้าหมายว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งการให้ความสำคัญแก่การปฏิบัติหน้าที่และความเข้มแข็งของหน่วยงานหรือองค์กรที่มีความเป็นอิสระในการตรวจสอบการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐบาล ดังเช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งจะมีบทบาทอย่างสำคัญในการติดตามและตรวจสอบการปฏิบัติตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจากระดับสากลลงสู่การดำเนินงานภายในประเทศ
๔) ข้อควรคำนึง/ข้อพิจารณาว่าด้วยมาตรการที่จะให้การดำเนินงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล
ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ มาตรา ๓๕ วรรคสอง บัญญัติให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาถึงความจำเป็นและความคุ้มค่าที่ต้องมีองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือองค์กรที่ก่อตั้งโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่จำเป็นต้องมี ให้พิจารณามาตรการที่จะให้การดำเนินงานขององค์กรดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้วยนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินงานขององค์กรในด้านต่างๆ ไว้แล้ว ได้แก่ ด้านการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้านการเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และการฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแทนผู้เสียหาย ด้านการเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายและกฎ ต่อรัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรี ด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและประสานงานเครือข่าย และด้านการจัดทำรายงานประจำปีเพื่อประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายในประเทศ ทั้งนี้ ในการปรับปรุงรูปแบบและกลไกที่จะเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามหลักการของมาตรา ๓๕ วรรคสอง มีความจำเป็นที่จะต้องมีองค์กรคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เป็นเอกเทศ
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น ประกอบกับเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ มาตรา ๔ ที่รับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๓๔ วรรคสอง ที่ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนำความเห็นหรือข้อเสนอแนะของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาด้วย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงขอเสนอให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญโปรดนำข้อควรคำนึงดังกล่าวไปประกอบการพิจารณาทบทวนเรื่องการควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับผู้ตรวจการแผ่นดินเข้าด้วยกัน โดยให้มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญไว้ และไม่สมควรควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับผู้ตรวจการแผ่นดินเข้าด้วยกัน
๔. ความเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชน องค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เนื่องจากประเด็นการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมองค์กรคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นองค์กรใหม่ คือ “ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน” มีผู้สนใจแสดงความคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงได้รวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของบุคคลในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ องค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เครือข่ายภาคประชาชน รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าว ตลอดจนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เสนอต่อประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรี จัดพิมพ์เป็นเอกสารเผยแพร่ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๘) เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ มาตรา ๓๔ วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนำความเห็นหรือข้อเสนอแนะของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ตามมาตรา ๓๑ (๒) ความเห็นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และความเห็นของประชาชนรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาด้วย”
๕. การสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดที่ ๓
๕.๑ การหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
๑) สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามหนังสือ ที่ สม ๐๐๐๗/๒๕๕๕ ลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๗ เพื่อหารือเรื่องการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดที่ ๓ ในประเด็นต่อไปนี้
ประเด็นที่ ๑ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๔๘/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เรื่อง การสรรหาบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่าง มีผลใช้บังคับ รวมถึงกรณีการสรรหาและเลือกกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่แทนกรรมการชุดปัจจุบันที่จะดำรงตำแหน่งครบวาระหกปีหรือไม่
ประเด็นที่ ๒ หากประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๔๘/๒๕๕๗ ไม่มีผลใช้บังคับ รวมถึงกรณีการสรรหาและเลือกกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่แทนกรรมการชุดปัจจุบันที่จะดำรงตำแหน่งครบวาระหกปี การสรรหาและเลือกกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่แทนกรรมการชุดปัจจุบันที่จะดำรงตำแหน่งครบวาระหกปี จะสามารถดำเนินการตามที่พระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐ วรรคสาม ได้หรือไม่
ประเด็นที่ ๓ หากต้องดำเนินการสรรหาและเลือกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่ แทนกรรมการชุดปัจจุบันที่จะดำรงตำแหน่งครบวาระหกปี ตามมาตรา ๑๐ วรรคสาม องค์ประกอบคณะกรรมการสรรหา ตลอดจนหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาจะต้องดำเนินการไปตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๘ หรือไม่ อย่างไร เนื่องจากมีความแตกต่างในรายละเอียดระหว่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ เรื่ององค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาและจำนวนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๕ กำหนดให้มีประธานกรรมการหนึ่งคนและกรรมการอื่นอีกสิบคน รวม ๑๑ คน ส่วนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๕๖ กำหนดให้มีประธานกรรมการหนึ่งคนและกรรมการอื่นอีกหกคน รวม ๗ คน และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดปัจจุบันก็มีเพียงประธานกรรมการหนึ่งคนกับกรรมการอื่นอีกหกคน รวม ๗ คน
ในการนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีหนังสือ ที่ นร ๐๙๐๔/๓๕ ลงวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๘ ตอบข้อหารือเรื่องการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สรุปได้ว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑) ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมีผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นผู้ชี้แจงแล้ว เห็นว่าในเมื่อประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๔๘/๒๕๕๗ เรื่อง การสรรหาบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่าง ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ได้กำหนดไว้แล้วว่า การสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแทนตำแหน่งที่ว่างให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่เคยดำเนินการสรรหามาแล้วตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ โดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าวมิได้เจาะจงว่าให้ใช้เฉพาะกรณีใดกรณีหนึ่งเป็นการเฉพาะ จึงย่อมต้องหมายความว่าหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวใช้สำหรับเมื่อมีกรณีตำแหน่งว่างลง ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ดังนั้น จึงต้องนำหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวมาใช้เมื่อมีตำแหน่งว่างลงในทุกกรณี
สำหรับจำนวนหรือองค์ประกอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่สงสัยว่าจะสมควรมีจำนวน ๗ คน ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๕๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ หรือจำนวน ๑๑ คน ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ นั้น เห็นว่า บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่กำหนดให้มีกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จำนวน ๑๑ คน นั้น ใช้บังคับไม่ได้มาตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ แล้ว เพราะเป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แม้ต่อมาภายหลังรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะถูกยกเลิก ก็หาทำให้บทบัญญัติที่ใช้บังคับไม่ได้นั้นกลับฟื้นคืนมาไม่ ดังนั้น เมื่อประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๔๘/๒๕๕๗ กำหนดให้การสรรหาต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่เคยดำเนินการสรรหามาแล้วตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ จึงต้องดำเนินการไปตามนั้น ทั้งในเรื่องวิธีการและจำนวนของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๒) สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีหนังสือถึงหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ สม ๐๐๐๗/๔๔๙ ลงวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ เพื่อหารือเรื่องการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า ตามที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ ๔๓ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๘ มีมติให้ควบรวมองค์กรคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นองค์กรใหม่ คือ “ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิของประชาชน” การสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามหลักเกณฑ์และวิธีการข้างต้นจึงย่อมไม่สอดคล้องกับแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ มาตรา ๔๔ ในการสั่งการระงับยับยั้ง หรือกระทำการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งหรือการกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด จึงขอหารือว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเกี่ยวกับการดำเนินการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่อาจได้รับผลกระทบจากการยกร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไร ทั้งนี้ หากไม่มีข้อขัดข้องใด สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะเริ่มดำเนินการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามที่พระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ กำหนดให้ดำเนินการสรรหาและเลือกกรรมการชุดใหม่ก่อนครบวาระของกรรมการชุดเดิมเป็นระยะเวลาหกสิบวัน
๓) สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีหนังสือถึงประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ สม ๐๐๐๗/๔๕๐ ลงวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ สรุปได้ว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีหนังสือตอบข้อหารือของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีหน้าที่ดำเนินการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่จะพ้นจากวาระการดำรงตำแหน่งครบ ๖ ปี ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๘ ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๔๘/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เรื่อง การสรรหาบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่าง โดยได้ดำเนินการสรรหาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่เคยดำเนินการสรรหามาแล้วตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ซึ่งต่อมาที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ ๔๓ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๘ มีมติให้ควบรวมองค์กรคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นองค์กรใหม่ คือ “ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิของประชาชน” การสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนตามหลักเกณฑ์และวิธีการข้างต้นจึงย่อมไม่สอดคล้องกับแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าว จึงได้มีหนังสือถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่อาจได้รับผลกระทบจากการยกร่างรัฐธรรมนูญในแนวทางดังกล่าวของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือไม่ อย่างไร โดยหากไม่มีข้อขัดข้องใด สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะเริ่มดำเนินการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามที่พระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ กำหนดให้ดำเนินการสรรหาและเลือกกรรมการชุดใหม่ก่อนครบวาระของกรรมการชุดเดิมเป็นระยะเวลาหกสิบวัน ซึ่งไม่ได้รับการตอบกลับจากประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
๕.๒ การสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดที่ ๓ (ครั้งที่ ๑)
หลังจากได้รับการตอบข้อหารือจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า การ สรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ทั้งในเรื่องวิธีการและจำนวนของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยในเรื่องกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๕๖ วรรคห้า ได้กำหนดให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๐๔ วรรคสาม มาตรา ๒๐๖ มาตรา ๒๐๗ และมาตรา ๒๐๙ (๒) มาใช้บังคับโดยอนุโลม เว้นแต่องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นไปตามมาตรา ๒๔๓ ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการสรรหามีจำนวนเจ็ดคน ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกจำนวนหนึ่งคน และบุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดคัดเลือกจำนวนหนึ่งคน โดยต้องมิใช่ผู้พิพากษาหรือตุลาการ และต้องไม่เป็นกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นในขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงได้มีหนังสือกราบเรียนประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อทราบ และมีหนังสือกราบเรียนประธานศาลฎีกา และประธานศาลปกครองสูงสุด เพื่อทราบและขอให้ดำเนินการคัดเลือกบุคคลเพื่อทำหน้าที่กรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งต่อมาสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับแจ้งว่า นายเพ็ง เพ็งนิติ เป็นบุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกให้ทำหน้าที่กรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายเฉลิมชัย วสีนนท์ เป็นบุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดคัดเลือกให้ทำหน้าที่กรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำให้องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติครบถ้วน โดยมีการดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้
๑) การประชุมคณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
การประชุมคณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ซึ่งมีนายดิเรก อิงคนินันท์ เป็นประธาน มีมติมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นหน่วยธุรการในการดำเนินการสรรหา ตามกระบวนการและขั้นตอนตามบทบัญญัติมาตรา ๒๕๖ วรรคห้า ประกอบมาตรา ๒๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ในการดำเนินการจัดให้มีคณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประกอบด้วย
(๑) ประธานศาลฎีกา (นายดิเรก อิงคนินันท์)
(๒) ประธานศาลรัฐธรรมนูญ (นายนุรักษ์ มาประณีต)
(๓) ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร (นายพรเพชร วิชิตชลชัย)
(๔) บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือก (นายเพ็ง เพ็งนิติ)
(๕) บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดคัดเลือก (นายเฉลิมชัย วสีนนท์)
ในการนี้ คณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้พิจารณาแนวทางการสรรหา การตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ตามมาตรา ๖ ของพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
พระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๖ มาตรา ๗ และมาตรา ๙ ได้กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไว้ ดังนี้
มาตรา ๖ ได้กำหนดว่า “ประธานกรรมการและกรรมการต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์
(๓) ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น
(๔) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งของพรรคการเมือง
(๕) ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(๖) ไม่ติดยาเสพติดให้โทษ
(๗) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
(๘) ไม่เป็นบุคคลที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
(๙) ไม่เป็นบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไป
(๑๐) ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือจากหน่วยงานของเอกชน เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือเพราะประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ
(๑๑) ไม่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
(๑๒) ไม่เป็นกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
(๑๓) ไม่เคยถูกวุฒิสภามีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง”
มาตรา ๗ ได้กำหนดว่า ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นกรรมการต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
(๑) ไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ
(๒) ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือของราชการส่วนท้องถิ่น หรือไม่เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ
(๓) ไม่ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด
มาตรา ๙ “กรรมการต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนเองอย่างเป็นอิสระและเป็นกลาง รวมทั้งต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติ และประชาชนประกอบด้วย ให้กรรมการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต”
๒) การรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
คณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีประกาศ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๘ เรื่อง รับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แจ้งว่าคณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามมาตรา ๒๕๖ วรรคห้า ประกอบมาตรา ๒๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้กำหนดวิธีการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยการเปิดรับสมัครผู้ซึ่งมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๖ และมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ และตามมาตรา ๒๐๗ (๔) และมาตรา ๒๐๙ วรรคหนึ่ง (๒) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ เพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จำนวน ๗ คน ตามมาตรา ๒๕๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ถึงวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๘ ในวันและเวลาราชการ ณ ห้องเสวนา ชั้น ๖ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมีผู้ยื่นใบสมัคร จำนวน ๑๒๑ คน ดังนี้
๑. นายวัส ติงสมิตร
๒. นายบรรจง นะแส
๓. ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี
๔. นางจรวยพร ธรณินทร์
๕. นางสาวชัชสรัญ กตัญญูคุณานนท์
๖. พลเอก ชนินทร์ จันทรโชติ
๗. นางสาวเมธาวี ธารดำรง
๘. พันเอก ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ
๙. ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม
๑๐. แพทย์หญิงสุรางค์ เลิศคชาธาร
๑๑. นายชาติชาย สุทธิกลม
๑๒. นายนิทัศน์ ภู่วัฒนกุล
๑๓. นายธารีพันธ์ ทีปะศิริ
๑๔. พลเอก ธนศักดิ์ สุทธิเทศ
๑๕. นายวีระ สมความคิด
๑๖. นายบวร ยสินทร
๑๗. ดร.ชาติชัย อุดมกิจมงคล
๑๘. นางทิวาพร เสกตระกูล
๑๙. นางสาวนันท์นภัส กาญจนเลขา
๒๐. นายสิทธิพร เศาภายน
๒๑. นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์
๒๒. นางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง
๒๓. นางสุภนิจ รัตนกาญจน์
๒๔. นายธีรพันธ์ นาทีกาญจนลาภ
๒๕. นายบุญส่ง ชเลธร
๒๖. นายจำลอง รัตนโกเศศ
๒๗. รศ.วันทนา จันทพันธ์
๒๘. นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์
๒๙. นายบำเพ็ญ สรรพศรี
๓๐. นายวรินทร์ อัฐนาค
๓๑. นางจิตราภา สุนทรพิพิธ
๓๒. รศ.มาณี ไชยธีรานุวัฒศิริ
๓๓. นางสมบุญ ศรีคำดอกแค
๓๔. นายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์
๓๕. นายณัฐเมศร์ เรืองพิชัยพร
๓๖. นายอับดุลอซิซ ตาเดอินทร์
๓๗. นายกิติภูมิ มัทธุจัด
๓๘. พลตำรวจเอก อำนาจ อันอาตม์งาม
๓๙. พลตรี เจริญ สุดโสภา
๔๐. นางภรณี ลีนุตพงษ์
๔๑. รศ.นายแพทย์ศุภชัย ถนอมทรัพย์
๔๒. นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม
๔๓. ผศ.วิวัฒน์ชัย กุลมาตย์
๔๔. ดร.ประดิษฐ์ ดีวัฒนกุล
๔๕. ผศ.ดร.สุดจิต เจนนพกาญจน์
๔๖. ว่าที่ ร.ต.สุวุฒิ สุกิจจากร
๔๗. ดร.ฐิติเชฏฐ์ นุชนาฎ
๔๘. นายยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที
๔๙. นายเกษม จันทร์น้อย
๕๐. นางฆริศา ไซอ่ำเอี่ยม
๕๑. นายศรีสุวรรณ จรรยา
๕๒. นายชัยยนต์ จันทร์สว่าง
๕๓. นายนฤทธิ์ ทองโคกสี
๕๔. นายสมเกียรติ รอดเจริญ
๕๕. นายสุวัฒน์ เทพอารักษ์
๕๖. นายอนุวัติ เตียวตระกูล
๕๗. นายภูวดล เทพวันดี
๕๘. นายสุพจน์ เวชมุข
๕๙. นายเสด็จ เขียวแดง
๖๐. ผศ.ดร.ยศศักดิ์ โกไศยกานนท์
๖๑. พลตำรวจตรี กิจพิณิฐ อุสาโห
๖๒. นายไพโรจน์ พลเพชร
๖๓. นายสุทธิศักดิ์ ภัทรมานะวงศ์
๖๔. นางอังคณา นีละไพจิตร
๖๕. นายสามารถ ภู่ไพบูลย์
๖๖. นายวิลาส เตโช
๖๗. นางสุพัฒตรา ลิมปะพันธุ์
๖๘. นายสมโชค จันทร์ทอง
๖๙. นางสาวสุนีย์ ไชยธวัช
๗๐. ดร.วิโรจะโน ชูชาติประเสริฐผล
๗๑. นายสุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย
๗๒. นายชำนาญ จันทร์เรือง
๗๓. นางทิพย์พาพร ตันติสุนทร
๗๔. นายไพฑูรย์ สว่างกมล
๗๕. พลตรีหญิง พูลศรี เปาวรักษ์
๗๖. พันตำรวจโทหญิง ฐิชาลักษณ์ ณรงค์วิทย์
๗๗. นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล
๗๘. นางพะเยาว์ อัคฮาด
๗๙. นายเทพสิทธิ์ ประวาหะนาวิน
๘๐. นายวันชัย รุจนวงศ์
๘๑. ร้อยตำรวจตรี วรยศ ปักษานนท์
๘๒. นายสิระ เจนจาคะ
๘๓. นายอิทธิกร ขำเดช
๘๔. นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์
๘๕. นายเฉลิมศักดิ์ จันทรทิม
๘๖. นายโกวิทย์ บุรพธานินทร์
๘๗. นายพิทยา จินาวัฒน์
๘๘. นายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์
๘๙. พลเอก ภูดิศ ทัตติยโชติ
๙๐. ดร.สมิทธ์ ตุงคะสมิต
๙๑. พลโท วิภพ กิวานนท์
๙๒. นายคมเทพ ประภายนต์
๙๓. นายสมคิด ศริ
๙๔. นางสาวเสาวนิตย์ ยโสธร
๙๕. รศ.ดร.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย
๙๖. นายวิชกรพุฒิ รัตนวิเชียร
๙๗. นางสาวศุภมาศ พยัฆวิเชียร
๙๘. นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์
๙๙. นายพงศ์จรัส รวยร่ำ
๑๐๐. ศ.ดร.วิบูลย์ แช่มชื่น
๑๐๑. พลตรี ดร.เจนวิทย์ ยามะรัตน์
๑๐๒. นายสมศักดิ์ รังสิโอภาส
๑๐๓. นายวิวัฒน์ เจริญพาณิชย์ศิริ
๑๐๔. นางสาวสุกัญญา บุญประเสริฐ
๑๐๕. นางสาวอุษณีย์ ชิดชอบ
๑๐๖. นายกฤษฎา ให้วัฒนานุกูล
๑๐๗. นายสุชาติ เวโรจน์
๑๐๘. นางเอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์
๑๐๙. นายสุรจิต ชิรเวทย์
๑๑๐. พันโท แพทย์หญิงกมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี
๑๑๑. นายเสกสรร ประเสริฐ
๑๑๒. นายอัษฎางค์ เชี่ยวธาดา
๑๑๓. นางจอมศิริ แซ่ลิ้ม
๑๑๔. ดร.สมเกียรติ บุญรอด
๑๑๕. ดร.นิภาพร พุทธพงษ์
๑๑๖. นางสาวธนาภรณ์ ไชยนันทน์
๑๑๗. ดร.บัณฑิต ตั้งประเสริฐ
๑๑๘. นายพงษ์สิน ตุลย์ฐิตนันท์
๑๑๙. นายวิละ อุดม
๑๒๐. นายสนั่น จารุไพบูลย์
๑๒๑. รศ.มยุนา ศรีสุภนันต์
๓) การสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับการดำเนินการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ สรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้จัดให้มีการสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับการดำเนินการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ ในวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๘ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักการ ข้อกฎหมาย และข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมถึงส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมได้มีส่วนร่วมในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่ในวงกว้าง ซึ่งจะช่วยให้มีผู้สมัครจากกลุ่มต่าง ๆ ของสังคมที่หลากหลาย และนำผลที่ได้จากการสัมมนารายงานต่อคณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อใช้ประโยชน์ทางด้านวิชาการ โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วยหน่วยงานองค์กรเครือข่ายทางด้านสิทธิมนุษยชน องค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อให้กระบวนการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีความสอดคล้องกับหลักการปารีส กล่าวคือ กระบวนการสรรหาต้องเปิดเผย มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาสังคมและกลุ่มต่างๆ มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การรับสมัครอย่างอย่างกว้างขวาง และการคัดเลือกควรพิจารณาจากคุณสมบัติของบุคคลเป็นหลัก มิใช่การเป็นตัวแทนขององค์กรใด เพื่อให้บุคคลนั้น ๆ สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระ
๔) แถลงการณ์ของประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๘ ศาสตราจารย์อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้แถลงการณ์แสดงความกังวลและห่วงใยต่อกระบวนการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ประกอบกับพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ว่าจะไม่สอดคล้องกับหลักการปารีส ซึ่งเป็นหลักการของสหประชาชาติเกี่ยวกับสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ๓ ประการ คือ
๑. ความชัดเจนของสถานะองค์กรที่จะไม่มีการควบรวมกับองค์กรอื่นหรือไม่ ซึ่งต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่จะบังคับใช้ในอนาคต
๒. ความชัดเจนเรื่องระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งของผู้เข้ารับการสรรหา ทั้งนี้ ตามหลักการปารีสระบุว่า “การแต่งตั้งสมาชิกจึงต้องเกิดจากการดำเนินการอย่างเป็นทางการ โดยมีการกำหนดระยะเวลาของการปฏิบัติงานตามอาณัติที่ชัดเจน” แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับร่างยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่ที่กำลังดำเนินการสรรหาอยู่ขณะนี้ว่าจะมีวาระการทำงาน ๖ ปี ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ หรือไม่
๓. คุณสมบัติของบุคคลซึ่งมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ ทั้งนี้ หลักการปารีส ระบุว่า “กระบวนการสรรหาต้องมีหลักประกันที่จะทำให้มั่นใจได้ว่า สถาบันจะเป็นผู้แทนที่หลากหลายของพลังทางสังคมหรือภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน” แต่การสรรหาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้กำหนดให้ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (ไม่มี) ประธานศาลปกครองสูงสุด (ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง) บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือก (นายเพ็ง เพ็งนิติ) บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดคัดเลือก (นายเฉลิมชัย วสีนนท์) รวม ๕ ท่าน เป็นกรรมการสรรหา ซึ่งไม่มีผู้แทนของภาคประชาสังคม
อย่างไรก็ตาม ขอเน้นย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ควรมีการทบทวนองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาให้มีความหลากหลายทางวิชาชีพ การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคประชาสังคม อีกทั้งการประเมินคุณสมบัติของผู้สมัครที่เหมาะสม รวมถึงหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาคุณสมบัติของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่มีประสบการณ์การดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน และนำไปสู่การบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป ซึ่งจะเป็นไปตามหลักการปารีส ทั้งนี้ ขอให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้โปรดให้ความชัดเจนต่อข้อห่วงใยดังกล่าว ซึ่งเชื่อว่าหากมีความชัดเจนจะทำให้มีผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมมาสมัครเข้ารับการสรรหาเพิ่มมากขึ้น
๕) การตรวจสอบคุณสมบัติและเสนอชื่อผู้สมควรได้รับการสรรหา
คณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะหน่วยธุรการในการดำเนินการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีหนังสือขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม ๑๕ หน่วยงาน ได้แก่ สำนักบริหารการทะเบียน สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกรุงเทพมหานคร กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด กรมบังคับคดี สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และกองทะเบียนประวัติอาชญากร เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครตามบทบัญญัติของกฎหมาย รวมทั้งขอให้ตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์ทั่วไปของผู้สมัคร โดยคณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ณ ห้องรับรอง ชั้น ๒ อาคารรัฐสภา ๑ ได้พิจารณาคัดเลือกผู้สมควรเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจากผู้สมัครรวมจำนวน ๑๒๑ คน โดยพิจารณาจากผลงานหรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ กรอบแนวคิดในการดำเนินงานของผู้สมัครหากได้รับเลือกเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ การมีส่วนร่วมของผู้แทนจากองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ตามมาตรา ๒๔๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ โดยคำนึงถึงสัดส่วนชายหญิงตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ และการเป็นบุคคลจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่หลากหลาย ซึ่งมีผู้ได้รับการคัดเลือก จำนวน ๗ คน คือ
๑. นางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง
๒. นายบวร ยสินทร
๓. นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์
๔. นายวัส ติงสมิตร
๕. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ศุภชัย ถนอมทรัพย์
๖. นายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย
๗. นางอังคณา นีละไพจิตร
คณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มีหนังสือที่ สม ๐๐๐๑/๓๕๘๖ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๘ รายงานผลการดำเนินการสรรหาและคัดเลือกกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่ประธานวุฒิสภา เพื่อเสนอรายชื่อผู้ได้รับเลือก จำนวน ๗ คน จากผู้มีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้แทนจากองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งผู้ได้รับเลือกดังกล่าวได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า สองในสามของจำนวนกรรมการสรรหาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่และได้รับความยินยอมของผู้ได้รับเลือกด้วยแล้ว
๖) การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ ๔๕/๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มี พลเอก อู๊ด เบื้องบน เป็นประธาน
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ ๕๐/๒๕๕๘ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๘ มีมติให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามมาตรา ๖ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ประกอบประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๔๘/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เรื่อง การสรรหาบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่าง (เรื่องด่วนที่ ๑) โดยประธานคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (พลเอก อู๊ด เบื้องบน) ได้เสนอรายงานของคณะกรรมาธิการฯ ในส่วนที่หนึ่งซึ่งเป็นรายงานโดยเปิดเผยแล้ว สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ดำเนินการประชุมลับเพื่อให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จำนวน ๗ คน คือ
๑. นางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง
๒. นายบวร ยสินทร
๓. นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์
๔. นายวัส ติงสมิตร
๕. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ศุภชัย ถนอมทรัพย์
๖. นายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย
๗. นางอังคณา นีละไพจิตร
ผลการลงคะแนนปรากฏว่า บุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อลำดับที่ ๑ ลำดับที่ ๓ ลำดับที่ ๔ ลำดับที่ ๖ และลำดับที่ ๗ เป็นผู้ได้รับคะแนนเสียงข้างมากของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ออกเสียงลงคะแนน ประกอบด้วย
๑. นางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง
๒. นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์
๓. นายวัส ติงสมิตร
๔. นายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย
๕. นางอังคณา นีละไพจิตร
จึงถือว่าบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้ง ๕ คนดังกล่าว ได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่ประธานวุฒิสภา ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เนื่องจากได้รับคะแนนเสียงข้างมากของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ออกเสียงลงคะแนน
สำหรับนายบวร ยสินทร (ผู้ได้รับการเสนอชื่อลำดับที่ ๒) และรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ศุภชัย ถนอมทรัพย์ (ผู้ได้รับการเสนอชื่อลำดับที่ ๕) ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เนื่องจากไม่ได้รับคะแนนเสียงข้างมากของสมาชิกฯ ที่ออกเสียงละคะแนน และส่งรายชื่อดังกล่าวมายังคณะกรรมการสรรหา เพื่อให้ดำเนินการต่อไป
๕.๓ การสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดที่ ๓ (ครั้งที่ ๒)
คณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชน ในการประชุมครั้งที่ ๓/๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๘ มีมติยืนยันตามมติเดิม ไม่เป็นเอกฉันท์ จึงเป็นเหตุให้ต้องเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีเหตุให้ต้องดำเนินการดังกล่าว โดยมีมติให้มีการเปิดรับสมัครผู้ซึ่งมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๖ และมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ และตามมาตรา ๒๐๗ วรรคหนึ่ง (๔) และมาตรา ๒๐๙ วรรคหนึ่ง (๒) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ เพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จำนวน ๒ คน ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติกำหนดระยะเวลาและวิธีการในการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยดำเนินการ ดังนี้
๑) การประกาศรับสมัครบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ประกาศคณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๘ เรื่อง การรับสมัครบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จำนวน ๒ คน โดยประกาศรับสมัครตั้งแต่วันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๘ ถึงวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๘ ระหว่างเวลา ๐๘.๓๐ - ๑๗.๐๐ น. โดยไม่เว้นวันหยุดราชการ ณ ห้องเสวนา ชั้น ๖ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ซึ่งปรากฏว่าหลังปิดการรับสมัคร มีผู้สมัครเข้ารับการสรรหารวมทั้งสิ้น ๖๓ ราย ดังนี้
๑. นายยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที
๒. พันเอก ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ
๓. นายวีระ สมความคิด
๔. พลตำรวจเอก อำนาจ อันอาตม์งาม
๕. นายอิทธิกร ขำเดช
๖. นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์
๗. นายสุพจน์ เวชมุข
๘. นายธีรพันธ์ นาทีกาญจนลาภ
๙. หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี
๑๐. นางเตือนใจ ดีเทศน์
๑๑. รองศาสตราจารย์มานี ไชยธีรานุวัฒศิริ
๑๒. นายสุวันชัย แสงสุขเอี่ยม
๑๓. นายนิกร วีสเพ็ญ
๑๔. นายคมเทพ ประภายนต์
๑๕. ศาสตราจารย์เกียรติคุณจันทรา เหล่าถาวร
๑๖. นายอนุวัติ เตียวตระกูล
๑๗. นายชาติชัย อุดมกิจมงคล
๑๘. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ยศศักดิ์ โกไศยกานนท์
๑๙. นายนิทัศน์ ภู่วัฒนกุล
๒๐. นายสมภพ ระงับทุกข์
๒๑. นายวิชกรพุฒิ รัตนวิเชียร
๒๒. พันตำรวจโทหญิง ฐิชาลักษณ์ ณรงค์วิทย์
๒๓. นายบรรจง นะแส
๒๔. นายไพโรจน์ พลเพชร
๒๕. พลเอก ภูดิศ ทัตติยโชติ
๒๖. นางสาวอุษณีย์ ชิดชอบ
๒๗. นายกฤษฎา ให้วัฒนานุกูล
๒๘. นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์
๒๙. รองศาสตราจารย์มยุนา ศรีสุภนันต์
๓๐. นายไพฑูรย์ สว่างกมล
๓๑. นายสามารถ ภู่ไพบูลย์
๓๒. นายนคร ศิลปอาชา
๓๓. นายธารีพันธ์ ทีปะศิริ
๓๔. นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์
๓๕. นางภรณี ลีนุตพงษ์
๓๖. นายมโน เมตตานันโท เลาหวนิช
๓๗. นายพิทยา จินาวัฒน์
๓๘. นายชาติชาย สุทธิกลม
๓๙. นางสาวเสาวนิตย์ ยโสธร
๔๐. นางทิพย์พาพร ตันติสุนทร
๔๑. นางพะเยาว์ อัคฮาด
๔๒. นายรังสี จุ๊ยมณี
๔๓. นายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ
๔๔. นายธวัชชัย ไทยเขียว
๔๕. นางสาวปวิมลวรรณ รัตนศรีโชติช่วง
๔๖. นายสิระ เจนจาคะ
๔๗. นายเฉลิมศักดิ์ จันทรทิม
๔๘. พลตำรวจโท ทวีศักดิ์ ตู้จินดา
๔๙. นายปิยะชาติ อำนวยเวช
๕๐. นายสมเกียรติ รอดเจริญ
๕๑. นายสุรจิต ชิรเวทย์
๕๒. นายบัณฑิต ตั้งประเสริฐ
๕๓. นายอัษฎางค์ เชี่ยวธาดา
๕๔. พันตำรวจเอก สุเทพ สัตถาผล
๕๕. นางพิกุล พรหมจันทร์
๕๖. นายเสกสรร ประเสริฐ
๕๗. พลโท วิภพ กิวานนท์
๕๘. นายเปรมปรีดา ปราโมช ณ อยุธยา
๕๙. นางสาวศุภมาศ พยัฆวิเชียร
๖๐. นายศรีสุวรรณ จรรยา
๖๑. พลตรีหญิง พูลศรี เปาวรัตน์
๖๒. นางรัชนี เกษคุปต์
๖๓. นางนิภาพร พุทธพงษ์
๒) การตรวจสอบคุณสมบัติและเสนอชื่อผู้สมควรได้รับการสรรหา
๒.๑) คณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะหน่วยธุรการในการดำเนินการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครตามบทบัญญัติของกฎหมาย รวมทั้งตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์ทั่วไปของผู้สมัครตามแนวทางที่เคยปฏิบัติ
๒.๒) คณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ ๔/๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๕๘ ได้พิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครจากใบสมัคร รวมทั้งผลงานหรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ กรอบแนวคิดในการดำเนินงานของผู้สมัครหากได้รับเลือกเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ การมีส่วนร่วมของผู้แทนจากองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ตามมาตรา ๒๕๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ โดยคำนึงถึงสัดส่วนชายหญิง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ และการเป็นบุคคลจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่หลากหลาย ได้เลือกบุคคลที่สมควรเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงลงคะแนนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด มีผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จำนวน ๒ คน คือ
๑. นางเตือนใจ ดีเทศน์
๒. นายชาติชาย สุทธิกลม
ซึ่งคณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เสนอรายชื่อบุคคลดังกล่าวซึ่งเป็นผู้ได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการสรรหาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่ประธานวุฒิสภา เพื่อดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งนี้ โดยได้รับความยินยอมของผู้ได้รับการเสนอชื่อดังกล่าวด้วยแล้ว
๓) การให้ความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ ๖๓/๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๘ ได้ให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามมาตรา ๖ วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ประกอบประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๔๘/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เรื่อง การสรรหาบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่าง หลังจากประธานคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (พลเอก อู๊ด เบื้องบน) ได้เสนอรายงานของคณะกรรมาธิการฯ ในส่วนที่หนึ่งซึ่งเป็นรายงานโดยเปิดเผยแล้ว ประธานของที่ประชุมได้ดำเนินการประชุมลับตามที่คณะกรรมาธิการฯ ร้องขอ เพื่อให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จำนวน ๒ คน ซึ่งผลการออกเสียงลงคะแนนปรากฏว่า นางเตือนใจ ดีเทศน์ และนายชาติชาย สุทธิกลม ได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงข้างมาก จึงถือว่าบุคคลทั้ง ๒ ท่าน เป็นผู้ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๕.๔ การเลือกประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๑) สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ สว (สนช) ๐๐๐๘/๖๔๒๒ ลงวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๘ แจ้งว่าขอให้สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจัดให้ผู้ได้รับความเห็นชอบทั้ง ๗ คน ได้ประชุมเพื่อเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และแจ้งผลให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติทราบตามบทบัญญัติของกฎหมาย
๒) สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เชิญผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มาประชุมเพื่อเลือกกันเอง เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ณ ห้องประชุม ๗๐๑ ชั้น ๗ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งที่ประชุมได้เลือก นายวัส ติงสมิตร เป็นประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๕.๕ ประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา มีหนังสือที่ สว (สนช) ๐๐๐๘/๗๐๐๖ ลงวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ แจ้งประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ดังนี้
๑. นายวัส ติงสมิตร เป็นประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๒. นางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๓. นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๔. นายสุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๕. นางอังคณา นีละไพจิตร เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๖. นางเตือนใจ ดีเทศน์ เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๗. นายชาติชาย สุทธิกลม เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
VIDEO
VIDEO