เรื่องที่ 1 นักปกป้องสิทธิมนุษยชน
1. ความเป็นมา
สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติมีมติเมื่อปี 2541 รับรอง “ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิและความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคล กลุ่มบุคคลและองค์กรของสังคมในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างสากล” (Declaration on the Right and Responsibility of Individuals, Groups and Organs of Society to Promote and Protect Universally Recognized Human Rights and Fundamental Freedoms” หรือเป็นที่รู้จักในนามของปฏิญญาว่าด้วยผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน หรือนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน โดยให้คำจำกัดความ “ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน” หรือ “นักปกป้องสิทธิมนุษยชน” ( Human Rights Defenders) ว่าหมายถึงบุคคล กลุ่มบุคคลและองค์กรที่ปฏิบัติหน้าที่ในการส่งเสริมให้มีการเคารพสิทธิมนุษยชน ทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ ในประเด็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน เช่น สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม สิทธิเด็ก สิทธิสตรี สิทธิในที่อยู่อาศัย การเข้าถึงบริการสุขภาพ การจ้างงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมให้รัฐปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน ให้การศึกษาและฝึกอบรมด้านสิทธิมนุษยชน สืบสวน เก็บข้อมูลและเผยแพร่ข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงเป็นหน้าที่ที่รัฐต้องดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากความรุนแรง การข่มขู่ การตอบโต้ การเลือกปฏิบัติทั้งทางพฤตินัยหรือนิตินัย การกดดัน หรือการปฏิบัติโดยพลการอื่นใด ที่เป็นผลจากการที่บุคคลนั้นได้ใช้สิทธิอย่างชอบธรรม เพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่สอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐตามปฏิญญาดังกล่าว
ปัญหาของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่ผ่านมา มีรูปแบบต่างๆ ดังนี้
– การถูกคุกคาม ข่มขู่ การติดตาม การดักฟังโทรศัพท์ การโทรศัพท์ไปหา การไปหาที่บ้าน การมุ่งเป้าไปที่สถานที่ทำงานหรือวิธีการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ด้วยการส่งคนไปทำลาย สร้างความเสียหาย หรือขโมยอุปกรณ์การทำงาน การค้นสถานที่ทำงานโดยพลการ การอายัดเงินในบัญชีของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน การถูกทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต กรณีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนบางครั้งพบว่าถูกคุกคามจากคนในหมู่บ้านเดียวกันที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันหรือมีสาเหตุโกรธเคืองเป็นการส่วนตัว
– การตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา โดยถูกฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญา หรือที่เรียกว่า “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ ( Strategic Lawsuits Against Public Participation – SLAPPs) โดยมุ่งหวังว่าการฟ้องร้องดำเนินคดีจะทำให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนยุติการเคลื่อนไหวคัดค้านหรือการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อวิจารณ์นโยบายบางประการของรัฐ หรือธุรกิจที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยการฟ้องร้องดำเนินคดีมีผลกระทบอย่างมากต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในท้องถิ่น และครอบครัว ซึ่งส่วนมากมีฐานะยากจน ทั้งการต้องหาหลักทรัพย์เพื่อใช้สิทธิในการขอปล่อยตัวชั่วคราว ค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายความ ทำให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งถูกฟ้องร้องหลายคดีได้รับผลกระทบมากขึ้นไปอีก และการถูกฟ้องร้องดำเนินคดียังส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ ความรู้สึกหวาดกลัวและมีความยากลำบากในการใช้ชีวิตด้านอื่นๆ เช่น ข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาและการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งส่งผลให้เกิดความหวาดกลัวในการที่จะออกมาแสดงความคิดเห็นหรือเผยแพร่ความคิดเห็นต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
– การบังคับสูญหาย ( Enforce disappearance) ซึ่งมีการสอบสวนและนำคดีขึ้นสู่ศาลไม่มากนัก รวมทั้งมีหลายคดีที่ผู้กระทำความผิดยังไม่ได้รับการลงโทษ ครอบครัวและญาติไม่ได้รับการแจ้งข้อมูลความคืบหน้าในการดำเนินการใดๆ
– ปัญหาเรื่องหลักทรัพย์ในการประกันตัว และการเยียวยาความเสียหาย
2. การดำเนินการของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
2.1 มาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยการประชุมแบบสนทนากลุ่มเฉพาะ (focus group)
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยคณะทำงานจัดทำข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ได้จัดการประชุมเพื่อรับฟังปัญหาของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (กรณีโรงไฟฟ้าเทพา) และกลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในกรณีโรงไฟฟ้าเทพา (เครือข่ายปกป้องเทพา) เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2562 ณ ห้องประชุมคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา โดยมีข้อเสนอเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ดังนี้
( 1) ควรดำเนินมาตรการที่เกี่ยวข้องในการดูแลนักปกป้องสิทธิมนุษยชนดังกล่าว อาทิ การทำบัญชีรายชื่อ การมีมาตรการป้องปรามการดำเนินการต่าง ๆ ในกลุ่มผู้มีอิทธิพล หรือผู้กระทำการคุกคาม
(2) การยกเลิกคำสั่ง และกฎหมายต่าง ๆ (อาทิ พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2559 พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ประมง และอื่น ๆ)
(3) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรจัดทำ/นำเสนอความเห็นที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดกฎหมาย/นโยบายที่ดูแล โดยจัดทำกระบวนการ (เวที) ที่ทำให้เกิดการพบปะหรือแลกเปลี่ยนของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการสื่อสารกับสังคม การทำเสนอให้เห็นการหนุนช่วย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่าง ๆ การดำเนินการที่จะสร้างความมั่นใจต่อกัน และนำเสนอประเด็นต่อสาธารณะ การสั่งฟ้องคดีที่ไม่เกินจริง มีการใช้กระบวนการพิเศษในการดำเนินการ การใช้ดุลพินิจของกองทุนยุติธรรมในระดับพื้นที่ รวมถึงการเรียกหน่วยงาน หรือตักเตือนเจ้าหน้าที่รัฐให้ระมัดระวังการใช้ปฏิบัติการทางการข่าว ( IO) เพื่อสร้างความเกลียดชัง
(4) การเสริมสร้างเครือข่ายระหว่างกันของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
2.2 การตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ระหว่างปี 2559 – 2561 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับการร้องเรียนจาก นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งหญิงและชายว่าได้รับผลกระทบจากการทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเด็นต่างๆ ดังนี้
1) ประเด็นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
– การคัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำ ในพื้นที่ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ของกลุ่มรักษ์บ้านเกิด ทำให้ถูกบริษัทคู่กรณีฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลหลายคดี (ปี 2559)
– การคัดค้านการขอประทานบัตรเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ของกลุ่มรักษ์บ้านแหง ในเขตตำบลบ้านแหง อำเภองาว จังหวัดลำปาง ทำให้ถูกแจ้งความดำเนินคดี ได้รับความเดือดร้อนด้านทุนทรัพย์ในการประกันตัว (ปี 2559)
– การคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในพื้นที่ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ของกลุ่มรักษ์เทพา ทำให้แกนนำถูกฟ้องคดี บางรายถูกข่มขู่คุกคาม โดยบุกรุกเข้าไปในบ้านและข่มขู่เอาชีวิต (ปี 2559)
– การคัดค้านการขุดเจาะปิโตรเลียมที่บ้านนามูล – ดูนสาด อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น ทำให้ถูกจับตาจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและถูกฟ้องคดีเกี่ยวกับการชุมนุม (ปี 2559)
– การคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินของกลุ่มรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งผู้ร้องอ้างว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีพฤติการณ์ข่มขู่แกนนำและชาวบ้านไม่ให้จัดกิจกรรมคัดค้าน (ปี 2559)
– หลังการคัดค้านโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านเหมืองตะกั่ว ตำบลหนองธง อำเภอป่า บอน จังหวัดพัทลุง เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงใส่บ้านของแกนนำ แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
2 ) ประเด็นสิทธิชุมชนและสิทธิในที่ดินทำกิ น
– การเรียกร้องสิทธิชุมชนและสิทธิในที่ดินทำกินของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านใจแผ่นดิน ชุมชนดั้งเดิมในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และการหายตัวไปของนายพอละจี (ปี 2557)
– กรณีเจ้าหน้าที่ป่าไม้สนธิกำลังไล่รื้อโฮมสเตย์ชองชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ลีซู ในพื้นที่บ้านนาเลา ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ (ปี 2559)
– การเรียกร้องสิทธิในที่ดินและโฉนดชุมชนในพื้นที่ตำบลทุ่งลุยลาย อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ “ป่าโคกยาว” ซึ่งต่อมา แกนนำในการต่อสู้หายตัวไปและเสียชีวิตในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว โดยยังไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิต (ปี 2559)
– แกนนำของชุมชนคลองไทรพัฒนา ซึ่งรวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐบาลนำที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) ภายใต้การครอบครองของบริษัทเอกชนที่ใช้ปลูกปาล์มน้ำมันและหมดอายุสัมปทานแล้ว นำมาจัดสรรให้เกษตรกรอย่างเป็นธรรม และเป็นพยานในคดีลอบสังหารสมาชิกชุมชนคลองไทรพัฒนาและสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงได้รับบาดเจ็บ
3 ) ประเด็นการเผยแพร่ข้อความทางสื่อ
– กรณีแกนนำปกป้องที่ดินในพื้นที่อำเภอภูผาม่าน ตำบลหนองทุ่ม อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาลและนักข่าว ถูกเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความร้องทุกข์ในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาและความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (ปี 2559)
– กรณีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เคลื่อนไหวในประเด็นการซ้อมทรมานและการบังคับสูญหาย รวม 3 ราย ถูกเจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานี เพื่อให้ดำเนินคดีในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาและความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 กรณีที่เสนอรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนภายใต้ (ปี 2559)
– กรณีนักกิจกรรมกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่และผู้ริเริ่มก่อตั้งกลุ่มเยาวชนรักษ์ลาหู่เพื่อทำกิจกรรมกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่บ้านกองผักปิ้ง ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว และเป็นเพื่อนกับนายชัยภูมิ ป่าแส แกนนำกลุ่มเยาวชนรักษ์ลาหู่ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารวิสามัญฆาตกรรม หลังการตายของนายชัยภูมิฯ มีคนในหมู่บ้านมาแจ้งว่าเจ้าหน้าที่ทหารขอให้งดการเคลื่อนไหวทางสื่อ และต่อมามีผู้นำลูกกระสุนขนาด 11 มม. มาวางไว้ที่เสาหน้าบ้านของนักกิจกรรมดังกล่าว โดยก่อนหน้านั้นเขาเคยถูกเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความกล่าวหาในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 จากการโพสต์ข้อความเล่าเรื่องราวที่เจ้าหน้าที่ทหารตบหน้าชาวบ้านกองผักปิ้ง แต่ต่อมาศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้ยกฟ้องและพนักงานอัยการไม่ได้อุทธรณ์ ทำให้คดีถึงที่สุด (ปี 2560)
4 ) ประเด็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง
กรณีนักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ มีบทบาทต่อต้านการรัฐประหารและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รณรงค์ประเด็นประชาธิปไตยและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงแจ้งความดำเนินคดีในหลายกรณี เช่น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 ตลอดจนถูกดำเนินคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการแชร์โพสต์ของสำนักข่าวบีบีซี โดยไม่ได้รับการประกันตัว (ปี 2560)
ในการนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อหน่วยงานภาครัฐ โดยได้รับการพิจารณาและแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังกรณีตัวอย่างต่อไปนี้
กรณีที่ 1 การพิจารณาอนุมัติหลักทรัพย์ในการประกันตัว
เรื่อง สิทธิพลเมืองอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรม กรณีขอให้ตรวจสอบและคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในการเข้าถึงกองทุนยุติธรรม (รายงานผลการตรวจสอบที่ 30 – 31/2561 ลงวันที่ 31 มกราคม 2561)
1. ความเป็นมา
ผู้ร้องที่ 1 และกลุ่มรักษ์บ้านแหง จำนวน 12 คน ถูกกำนันตำบลบ้านแหง อำเภองาว จังหวัดลำปาง แจ้งความดำเนินคดีในความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ร่วมกันข่มขืนใจและความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการจังหวัดลำปางแล้ว ผู้ร้องที่ 1 กับพวกได้ยื่นขอรับเงินสนับสนุนในการขอปล่อยชั่วคราวต่อสำนักงานยุติธรรมจังหวัดลำปาง แต่ไม่ได้รับการอนุมัติ จึงขออุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัย และได้รับการพิจารณาเงินประกันตัว แต่ได้รับอนุมัติเงินเพียงบางส่วน เนื่องจากคณะอนุกรรมการกองทุนยุติธรรมประจำจังหวัดลำปางเห็นว่าสามารถใช้ตำแหน่งทางการเมืองประกันตัวได้ แต่ศาลจังหวัดลำปางกลับไม่อนุญาต เพราะเห็นว่าไม่ใช่ตำแหน่งข้าราชการประจำ ส่งผลให้ผู้ร้องที่ 1 และพวก 3 คน ไม่มีเงินเพียงพอที่จะนำมาใช้ในการประกันตัว ซึ่งมีผลกระทบต่อสิทธิในกระบวนการยุติธรรม
ผู้ร้องที่ 2 ผู้แทนขององค์การ Protection International ( PI) ประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ได้รับแจ้งจากนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายรายในเครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิสกลนครและกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด จังหวัดเลย ที่ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยว่าไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมภายในประเทศได้ เนื่องจากคณะอนุกรรมการช่วยเหลือประจำจังหวัดและคณะอนุกรรมการกองทุนยุติธรรมจังหวัดปฏิเสธคำร้องขออนุมัติหลักทรัพย์เพื่อใช้เป็นหลักประกันในการปล่อยชั่วคราว และพบว่าคณะอนุกรรมการช่วยเหลือประจำจังหวัดก้าวล่วงวินิจฉัยข้อเท็จจริงแทนศาล อันถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของกองทุนยุติธรรม
2. ข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเห็นสมควรมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานศาลยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 247 (3) ดังนี้
2.1 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานศาลยุติธรรม ควรเร่งหามาตรการแก้ไขปัญหาการใช้กระบวนการฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อตอบโต้การทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือที่เรียกว่า “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ ( Strategic Lawsuits Against Public Participation – SLAPPs)” รวมถึงอาจหารือร่วมกับองค์กรอื่น ๆ โดยเฉพาะคณะรัฐมนตรีและองค์กรนิติบัญญัติในการผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายเพื่อป้องกันการฟ้องคดีโดยไม่สุจริต หรือการบัญญัติกฎหมายฉบับใหม่ที่มีเนื้อหาในการป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะของประชาชน ( Anti – SLAPPs Law)
2.2 กระทรวงยุติธรรมควรดำเนินการแก้ไขระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย พ.ศ. 2559 โดยการยกเลิกข้อความที่ให้อำนาจคณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือคำนึงถึงสาเหตุหรือพฤติการณ์ของผู้ยื่นคำร้องว่าเป็น ผู้ที่น่าเชื่อว่ามิได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ เนื่องจากการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้เช่นนี้ถือเป็นการให้อำนาจวินิจฉัยความผิดของผู้ยื่นขอรับความช่วยเหลือล่วงหน้าแทนศาล อันเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมและอาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชน
2.3 ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยยังไม่มีนโยบาย กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมาตรการแก้ไขปัญหา การใช้กระบวนการฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อตอบโต้การทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน การดำเนินงานของกองทุนยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดนโยบายหรือแผนงาน การออกระเบียบหรือประกาศ และการพิจารณาคำขอรับความช่วยเหลือนั้น คณะกรรมการกองทุนยุติธรรม คณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือ รวมถึงเจ้าหน้าที่ของกองทุนฯ ควรคำนึงถึงความเดือดร้อนของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ต้องรับภาระในการต่อสู้คดีประกอบด้วยเสมอ เพื่อให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างแท้จริง
3. ผลการดำเนินการ
3.1 สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมมีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ยธ 02106/554 ลงวันที่ 22 มกราคม 2562 ชี้แจงว่าอยู่ระหว่างเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม หากผลการดำเนินการเป็นประการใด จะได้แจ้งให้ทราบในโอกาสต่อไป
3.2 พระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 34) พ.ศ. 2562 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2562 ขยายอัตราโทษในการเรียกประกันและหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยจากเดิมที่กำหนดอัตราโทษจำคุกห้าปีเป็นสิบปีขึ้นไป เพื่อให้โอกาสผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราวมากขึ้น และป้องกันมิให้มีการฟ้องคดีอาญาโดยไม่สุจริตอันล่วงละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น
กรณีที่ 2 การถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากเจ้าหน้าที่รัฐ
เรื่อง สิทธิพลเมืองเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน กรณีกล่าวอ้างว่านักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐคุกคาม ทำให้ได้รับความหวาดกลัวและเกรงว่าจะไม่ได้รับความปลอดภัย (รายงานผลการตรวจสอบที่ 132/2561 ลงวันที่ 14 มีนาคม 2561)
1. ความเป็นมา
สมาชิกเครือข่ายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและองค์กร Protection International ( PI) ประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนสากลที่ทำงานด้านการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนแจ้งว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่ประสบปัญหาการเข้าถึงสิทธิในที่ดินทำกิน จำนวน 2 ราย ที่ร่วมกิจกรรมเดินเพื่อสิทธิ ( Walk for Rights) ในวันที่ 11 – 12 มิถุนายน 2559 เพื่อเรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกินของประชาชนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน และสื่อมวลชนสำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน 1 ราย ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐข่มขู่คุกคาม โดยเจ้าหน้าที่ทหารแต่งกายเครื่องแบบครึ่งท่อนและพกอาวุธปืนเข้าไปที่บ้านพักในยามวิกาล เพื่อสอบถามว่ามีส่วนร่วมกับการจัดกิจกรรมดังกล่าวหรือไม่ และสอบถามเกี่ยวกับการโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก ( Facebook) เพจขบวนการอีสานใหม่” และเว็บไซต์ www.esanlandreformnews.com กรณีทหารขอพบนักปกป้องสิทธิที่ดินทำกิน และต่อมาได้เจ้าหน้าที่ทหารได้แจ้งความดำเนินคดีกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 1 รายและสื่อมวลชน 1 ราย ในความผิดฐานร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา อันถือเป็นการคุกคาม ทำให้หวาดกลัว และเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีหมายเรียกบุคคลทั้งสองให้ไปรายงานตัว ณ สถานีตำรวจภูธรชุมแพ จังหวัดขอนแก่น แต่จากการสืบสวนและตรวจสอบเฟซบุ๊กของผู้ใช้นามว่า “ขบวนการอีสานใหม่” และเว็บไซต์ของสำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ไม่ปรากฏการใช้โพสต์หรือการเคลื่อนไหวใดๆ เกี่ยวกับข้อมูลที่มีการกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ทหารบุกเข้าไปที่บ้านของผู้เสียหาย ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ทหารกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 8 ได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้องและถอนคำร้องทุกข์แล้ว โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สรุปสำนวนมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องส่งพนักงานอัยการจังหวัดชุมแพ ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพิจารณาแล้ว เห็นว่าการเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้ให้การรับรองคุ้มครองไว้
2. ข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเห็นสมควรมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานศาลยุติธรรม ดังนี้
2.1 คณะรัฐมนตรีควรกำชับให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ความรอบคอบและระมัดระวังในการดำเนินงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือการแสดงออกของประชาชนต่อการกำหนดนโยบาย หรือแผนงานของรัฐที่กระทบต่อประชาชน และควรตรวจสอบให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องก่อนที่จะมีการแจ้งความฟ้องร้องดำเนินคดีแก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน
2.2 รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานศาลยุติธรรม ควรเร่งหามาตรการแก้ไขปัญหาการใช้กระบวนการฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อตอบโต้การทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือที่เรียกว่า “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ ( Strategic Lawsuits Against Public Participation – SLAPPs)
2.3 คณะรัฐมนตรีร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมและรัฐสภา ควรดำเนินการเพื่อให้มีกฎหมายที่มีเนื้อหาในการป้องกันปัญหาการฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือเพื่อกลั่นแกล้ง เพื่อป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะของประชาชน ( Anti – SLAPPs Law)
3. ผลการดำเนินการ
3.1 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร 0505/1421 ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2561 แจ้งว่ารองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งมอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานศาลยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว
3.2 กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพมีหนังสือ ที่ ยธ 0402/4054 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2561 แจ้งผลการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงกลาโหม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานศาลยุติธรรม เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 สรุปได้ว่า
1) สำนักงานศาลยุติธรรมมีความพยายามที่จะเสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยเพิ่มมาตรา 161/1 ซึ่งมีสาระสำคัญกำหนดให้ศาลสามารถมีคำสั่งไม่ประทับรับฟ้องคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ก่อนนัดไต่สวนมูลฟ้องได้ หากเห็นว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องโดยไม่สุจริตหรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อกลั่นแกล้งหรือเพื่อเอาเปรียบจำเลย โดยโจทก์จะยื่นฟ้องคดีนั้นอีกไม่ได้ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการของร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ฉบับที่ .... พ.ศ. .... (หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราวและการใช้สิทธิดำเนินคดี หรือการดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีอาญา) เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 256091
2) กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้ดำเนินการ ดังนี้
2.1) กำหนดให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นกลุ่มเป้าหมายในแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2562 – 2566) เพื่อประกันว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนจะได้รับการปฏิบัติที่สอดคล้องกับปฏิญญาว่าด้วยสิทธิและความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคล กลุ่มบุคคลและองค์กรสังคม ( The Declaration on Human Rights Defenders)
2.2) การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนภายใต้ข้อเสนอแนะที่ประเทศไทยได้ตอบรับและให้คำมั่นโดยสมัครใจ ภายใต้กลไก Universal Periodic Review ( UPR) รอบที่ 2 (พ.ศ. 2559 – 2563) ซึ่งผ่านความเห็นชอบตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2560 อาทิ การจัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพี่อพิจารณามาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย เป็นต้น
2.3) การประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นสำคัญในวาระแห่งชาติ รวมทั้งการดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ( National Action Plan on Business and Human Rights: NAP) ซึ่งระบุถึงประเด็นการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
2.4) เสนอแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่ ....) พ.ศ. .... ให้ครอบคลุมถึงกรณีการถูกข่มขู่ คุกคามพยานที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางให้ความคุ้มครองกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
3) กระทรวงกลาโหมได้จัดทำคู่มือการปฏิบัติงานในส่วนของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและฝ่าย พลเรือนในการดูแลผู้ชุมนุมเพื่อให้สอดคล้องตามกฎหมายและมาตรฐานสากล โดยเป็นไปตามมติที่ประชุมของสภากลาโหม เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2561
4) กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเพื่อแจ้งแนวทางการป้องกันแก้ไขปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยจากการคัดค้านการดำเนินการโครงการต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ โดยให้ถือปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2545 และวันที่ 30 กรกฎาคม 2545 เรื่อง หลักการและแนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในการชุมนุมเรียกร้อง
ทั้งนี้ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนหรือนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันเช่นเดียวกับประชาชนทุกคนในประเทศไทย
ในการนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 รับทราบสรุปผลการพิจารณาตามข้อเสนอแนะ มาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ
3.3 สำนักงานอัยการสูงสุดมีหนังสือด่วนที่สุด ที่ อส 0026.3/294 ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2561 แจ้งว่าสำนักงานอัยการสูงสุดมีกฎ ระเบียบ เป็นมาตรการและแนวทางในการพิจารณาสั่งคดีที่เหมาะสมอยู่แล้ว โดยเห็นว่าควรเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนให้พนักงานอัยการ เจ้าหน้าที่และประชาชนได้ทราบ เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
3.4 สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา มีหนังสือ ที่ สว (สนช) 0001/2613 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2561 แจ้งว่าประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
2.3 การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศ
นางอังคณา นีละไพจิตร ได้รับเชิญจากรัฐบาลและองค์กรระดับชาติให้เป็นวิทยากรในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ดังนี้
1) ได้รับเชิญจากรัฐบาลสาธารณรัฐฝรั่งเศส เป็นวิทยากรในการประชุมผู้นำประเทศต่างๆ ทั่วโลก Paris Peace Forum ครั้งที่ 1 หัวข้อ "70th anniversary of the Universal Declaration on Human Rights and the 20th anniversary of the UN Declaration on Human Rights Defenders" ระหว่างวันที่ 11 – 13 พฤศจิกายน 2561
2)ได้รับเชิญจากคณะทำงานด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติ ( UN Working Group on Business and Human Rights) ร่วมเป็นวิทยากรในโอกาสเปิดการประชุมคณะทำงานฯ ที่ห้องประชุมใหญ่องค์การสหประชาชาติ Palais des Nations นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ในฐานะผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561
VIDEO
เรื่องที่ 1 นักปกป้องสิทธิมนุษยชน