เรื่องที่ 1 สิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขและสวัสดิการจากรัฐอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิของผู้ต้องขัง กรณีกล่าวอ้างว่าผู้ต้องขังไม่มีเงินเพียงพอเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล (รายงานผลการตรวจสอบ ที่ 219 – 200/2560 ลงวันที่ 14 มีนาคม 2560)
1. ความเป็นมา
ผู้ต้องขังเรือนจำกลางคลองเปรมซึ่งเป็นชาวต่างชาติ 2 คน ร้องเรียนและขอความช่วยเหลือให้ได้รับสิทธิในการรับบริการสาธารณสุขและสวัสดิการจากรัฐอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิของผู้ต้องขัง ดังนี้
ผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้ต้องขังสัญชาติไนจีเรีย มีปัญหาปวดหัวเข่าอย่างรุนแรงซึ่งเกิดขึ้นในเรือนจำ โดยได้รับการรักษาด้วยยาบ้างแล้ว แต่อาการไม่ดีขึ้น แพทย์ได้ทำการตรวจและเห็นว่าผู้ร้องที่ 1 จำเป็นต้องได้รับการตรวจหัวเข่าด้วยเครื่องสนามแม่เหล็ก (Magnetic Resonance Imaging – MRI) โดยแพทย์แจ้งว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายเองประมาณ 16,000 บาท ซึ่งผู้ร้องที่ 1 ไม่มีเงินพอที่จะชำระได้ อีกทั้งไม่มีอาชีพหรือครอบครัวในประเทศไทยที่จะสามารถจ่ายค่ารักษาให้ได้ ในขณะร้องเรียนผู้ร้องเป็นนักโทษที่มีความประพฤติดี โดยผู้ร้องเห็นว่าตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ได้ให้การคุ้มครองสิทธิผู้ต้องขังไว้ ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าเป็นการจำกัดสิทธิที่จะได้รับบริการสุขภาพอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ ผู้ร้องต้องการพบเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ แต่ไม่สามารถเข้าพบได้
ผู้ร้องที่ 2 เป็นผู้ต้องขังสัญชาติอิหร่านซึ่งต้องโทษคดียาเสพติดในขณะที่อยู่ในประเทศอิหร่านเคยถูกจับกุมในข้อหาขายแอลกอฮอล์และถูกทรมานระหว่างถูกคุมขัง ส่งผลให้มีอาการปวดหลังและเป็นโรคไต เมื่อเดือนกันยายน 2558 ผู้ร้องที่ 2 มีความประสงค์ที่จะขอรับการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม แต่ทัณฑสถานปฏิเสธที่จะให้พบแพทย์และเข้ารับการรักษาพยาบาล โดยอ้างว่าต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง ซึ่งผู้ร้องที่ 2 ไม่มีเงินและญาติที่จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้
2. การดำเนินการของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยคณะอนุกรรมการด้านสิทธิผู้สูงอายุ ผู้พิการ บุคคลหลากหลายทางเพศและการสาธารณสุข ได้พิจารณาคำร้อง ข้อเท็จจริงจากผู้ร้อง คำชี้แจงของกรมราชทัณฑ์และกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการสาธารณสุข) ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า
ผู้ร้องที่ 1 เข้าพบแพทย์ด้วยอาการปวดเข่า แต่เมื่อเข้ารับการรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น จึงมีความประสงค์ที่จะขอรับการตรวจด้วยเครื่องสนามแม่เหล็ก (Magnetic Resonance Imaging – MRI) แต่แพทย์เห็นว่าวิธีการดังกล่าวไม่ใช่การรักษา แต่เป็นเพียงการตรวจวินิจฉัย ประกอบกับไม่มีงบประมาณในการส่งตรวจในกรณีไม่จำเป็น หากผู้ร้องที่ 1 ประสงค์จะเข้ารับการตรวจด้วยเครื่องสนามแม่เหล็ก (MRI) จะต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง ซึ่งผู้ร้องที่ 1 ไม่สามารถจ่ายได้
ผู้ร้องที่ 2 เข้าพบแพทย์เพื่อรักษาอาการป่วยที่ไต แพทย์ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังสถานเอกอัครราชทูตอิหร่านประจำประเทศไทยว่า ต้องตรวจด้วยเครื่องสนามแม่เหล็ก (MRI) จึงขอให้สถานทูตหรือครอบครัวเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายดังกล่าว ต่อมา ได้รับแจ้งจากสถานเอกอัครราชทูตอิหร่านประจำประเทศไทย ว่าไม่สามารถออกค่าใช้จ่ายให้ได้ ผู้ร้องที่ 2 จึงขอพบเจ้าหน้าที่พยาบาลที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์เพื่อขอคำปรึกษา โดยได้รับแจ้งว่าหากไม่มีเงินก็ไม่สามารถทำการรักษาให้ได้
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้พิจารณาแล้วเห็นว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้ให้การรับรองสิทธิของบุคคลที่จะมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน สำหรับผู้ยากไร้ซึ่งมีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งต้องเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ และยังคงให้ความคุ้มครองตลอดมาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 อีกทั้งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี ได้ให้การรับรองสิทธิดังกล่าวเฉกเช่นเดียวกัน จึงเห็นว่าการที่ผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นผู้ต้องขังชาวต่างชาติ หากเกิดการเจ็บป่วยย่อมได้รับการคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชน ในฐานะของบุคคลที่ต้องได้รับสิทธิการเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพเสมือนหนึ่งประชาชนในชาติเช่นเดียวกัน ในขณะเดียวกันผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นผู้ต้องขัง ควรต้องได้รับการปฏิบัติให้สอดคล้องกับข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง โดยได้รับการรักษาพยาบาลตามมาตรฐานเช่นเดียวกับที่รัฐจัดให้กับประชาชนอื่น และจะต้องสามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็นโดยไม่คิดมูลค่าและไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความแตกต่างในสถานะของเชื้อชาติ หรือสัญชาติ มาตรฐานและคุณภาพการรักษาต้องเท่าเทียมกันหมดทุกคน
กรณีตามคำร้อง กรมราชทัณฑ์ชี้แจงว่าแพทย์ที่ทำการตรวจรักษาได้อธิบายให้ผู้ร้องทราบว่าการตรวจด้วยเครื่องสนามแม่เหล็ก (MRI) มิใช่เป็นการรักษาอาการเจ็บป่วย จึงยังไม่ได้ออกใบส่งตรวจให้ พร้อมแจ้งให้ทราบว่าหากประสงค์จะตรวจ ผู้ร้องจะต้องชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าวด้วยตนเอง พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของแพทย์ผู้ถูกร้องยังไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้ร้อง โดยได้ตัดสินใจในทางการแพทย์แล้วเห็นว่า ผู้ร้องที่ 1 ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจด้วยเครื่องสนามแม่เหล็ก (MRI) ในขณะที่ผู้ร้องที่ 2 แจ้งความประสงค์ที่จะขอตรวจเอง ซึ่งหากเป็นกรณีที่ฉุกเฉินหรือมีความจำเป็นต้องรักษาย่อมไม่อาจยกข้ออ้างในการปฏิเสธให้การรักษาจากค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น หรือเป็นชาวต่างชาติซึ่งได้รับการคุ้มครองตามพันธกรณีระหว่างประเทศของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ ที่กำหนดให้รัฐภาคีดำเนินการเพื่อประกันสิทธิของทุกคนที่จะมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตตามมาตรฐานสูงสุดเท่าที่เป็นได้ โดยให้ทุกคนได้รับสิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุข การดูแลทางการแพทย์ การประกันสังคม และการบริการทางสังคมอย่างเสมอภาคกันตามกฎหมาย โดยไม่จำแนกตามเชื้อชาติ สีผิว หรือชาติ หรือเผ่าพันธุ์กำเนิด
จึงเห็นว่ากรณีตามคำร้อง ผู้ร้องทั้งสองได้รับสิทธิในการเข้าถึงการรับบริการสาธารณสุขจากสถานพยาบาลของหน่วยงานรัฐอย่างเหมาะสม โดยยังไม่ปรากฏว่ามีการกระทำหรือละเลยการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือกระทบสิทธิของผู้ร้องทั้งสอง ในชั้นนี้เห็นควรให้ยุติเรื่อง
อนึ่ง สำหรับประเด็นการบริการสาธารณสุขของรัฐให้กับผู้ต้องขัง ถือเป็นปัญหาสำคัญที่มีหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการแก้ไขเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง ได้แก่ กรมราชทัณฑ์และกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเคยมีรายงานผลการพิจารณาคำร้องเพื่อเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย ที่ 987 – 989 ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2558 กรณีการเข้าถึงสิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขของผู้ต้องขัง เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อมุ่งหวังให้ผู้ต้องขังในเรือนจำเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพอย่างเท่าเทียม รวมทั้งมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการให้บริการสาธารณสุขกับผู้ต้องขังชาวต่างชาติ โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 รับทราบและมอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานหลักรับไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดังกล่าว โดยผู้ต้องขังที่เป็นชาวต่างชาติย่อมต้องได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวเช่นเดียวกัน แต่พบว่าในทางปฏิบัติยังคงประสบปัญหาอีกหลายประการ อาทิ ไม่ได้นำเงินค่าบริการสาธารณสุขเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้รับอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ มีการจัดสรรเงินตามสิทธิให้ผู้ต้องขัง แต่ยังไม่ได้ดำเนินมาตรการควบคุมการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของผู้ต้องขังในเรือนจำอย่างจริงจัง ในขณะที่กรมราชทัณฑ์ต้องนำเงินงบประมาณที่ได้รับมาใช้ในการจัดหายา เวชภัณฑ์ และค่ารักษาพยาบาลของผู้ต้องขังในเรือนจำซึ่งมีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จนไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้ในการรักษาพยาบาลผู้ต้องขังต่างชาติและผู้ต้องขังซึ่งเป็นบุคคลไร้รัฐ หรือการดำเนินการประสานงานระหว่างสถานพยาบาลในเรือนจำ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เป็นต้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงมีมติให้ยุติเรื่องและส่งเรื่องให้กรมราชทัณฑ์ กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงบประมาณพิจารณาดำเนินการตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขัง ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 15 (5) ดังนี้
1) พิจารณาเร่งรัดการดำเนินการให้การเข้าถึงสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของผู้ต้องขัง ในประเทศไทย เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 ทั้งในส่วนข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว
2) ดำเนินการจัดทำระบบอัตโนมัติให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลทางเทคโนโลยีระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โรงพยาบาล เรือนจำและสำนักพัฒนาระบบทะเบียน กระทรวงมหาดไทย โดยประสานกับระบบงานธุรการของศาลยุติธรรม ในการออกหมายขังให้ดำเนินการย้ายสิทธิหลักประกันสุขภาพไปยังเขตพื้นที่ของเรือนจำโดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องย้ายทะเบียนราษฎร และเมื่อมีการปล่อยตัวผู้ต้องขังให้ย้ายสิทธิกลับไปยังภูมิลำเนา เพื่อป้องกันปัญหาผู้ต้องขังวิตกกังวลเรื่องการถูกตีตราในการกลับเข้าสู่สังคมภายหลังพ้นโทษ และให้ได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลตามหลักประกันสุขภาพทันที และตลอดเวลาที่ถูกคุมขังอยู่และทุกครั้งที่ย้ายเรือนจำ
3) พิจารณาดำเนินการในกรณีผู้ต้องขังที่มีอาการป่วยด้วยโรคเรื้อรังและโรคติดต่อ ทั้งที่มีอยู่ก่อน ในระหว่างรับโทษและเมื่อพ้นโทษ ต้องได้รับการคัดกรองและรักษาอย่างต่อเนื่อง การเข้าดำเนินการในส่วนการควบคุมและป้องกันโรค รวมทั้งการบริการดูแลด้านสุขภาพจิต ทันตกรรมและจิตเวชต้องเป็นไปอย่างทั่วถึง
4) กำกับควบคุมให้มีการดำเนินการจัดระบบบริการให้กับผู้ต้องขังทุกคนให้สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน มีการจัดสรรบุคลากรทางการแพทย์ ยา และเวชภัณฑ์อย่างเพียงพอ ลดความแออัดและจัดระบบรองรับในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อในเรือนจำ รวมทั้งการดูแลผู้ต้องขังซึ่งเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังอย่างมีมาตรฐาน และหากผู้ต้องขังมีโรคประจำตัวจะต้องจัดหายาให้และแพทย์เฉพาะทางเป็นครั้งคราว ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (Mandela Rule) ซึ่งต้องรวมถึงผู้ต้องขังที่เป็นชาวต่างชาติด้วย
5) สำนักงบประมาณควรจัดสรรเงินค่าบริการสาธารณสุขแบบเหมาจ่ายรายหัวให้กับโรงพยาบาลในพื้นที่ของกรมราชทัณฑ์ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม ที่มีเรือนจำ ทัณฑสถาน สถานกักขัง สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน รวมถึงสถานที่เพื่อจำกัดเสรีภาพตามกฎหมายอื่น รวมถึงผู้ต้องขังชาวต่างชาติทั้งที่เข้าเมืองโดยถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย และคนไร้รัฐ (Stateless) ที่มีปัญหาสถานะและสิทธิตามพันธกรณีที่ต้องผูกพันระหว่างประเทศ เนื่องจากอยู่ในการควบคุมของรัฐไทย ซึ่งมีปรากฏอยู่โดยตลอดระยะเวลาตามสถิติของกรมราชทัณฑ์ ระหว่าง 50,000 – 65,0000 คน ตามระยะเวลาที่ต้องขังอยู่ โดยคิดเป็นสัดส่วนตามจำนวนวันที่ต้องขัง และจัดสรรงบประมาณปรับปรุงเรือนพยาบาล ตลอดจนครุภัณฑ์การแพทย์ที่จำเป็นให้กับเรือนจำตามสภาพความจำเป็นเฉกเช่นเดียวกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลของกระทรวงสาธารณสุข หรือศูนย์บริการสาธารณสุขชุมชนในเขตเมือง เช่น เครื่องวัดความดันโลหิต เตียงตรวจโรค ครุภัณฑ์ใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรคที่จำเป็น เครื่องนึ่งฆ่าเชื้อโรคขนาดเล็ก เป็นต้น ตลอดจนเรือนนอนแยกโรคติดต่อในเรือนจำขนาดใหญ่ หรือเรือนจำประจำเขตตามควรแก่กรณี
6) กระทรวงสาธารณสุขควรจัดสรรยารักษาโรค เวชภัณฑ์ที่ใช้สิ้นเปลือง ทั้งโรคไม่ติดต่อ โรคติดต่อโรคเรื้อรัง ให้แก่แดนพยาบาลหรือห้องพยาบาลประจำเรือนจำให้เพียงพอ ตามค่าใช้จ่ายรายหัวที่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขหรือสังกัดอื่นรับเงินค่าใช้จ่ายรายหัวไปแล้ว ตลอดจนส่งแพทย์ทั่วไป แพทย์เฉพาะทาง ไปตรวจในเรือนจำเป็นครั้งคราวให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558
7) กรมราชทัณฑ์และกระทรวงสาธารณสุข ควรร่วมกันพัฒนาขีดความสามารถ ตลอดจนพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากรด้านสาธารณสุขที่ต้องปฏิบัติงานในเรือนจำอย่างสม่ำเสมอและติดตามการปฏิบัติให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2556 เป็นระยะ
3. สรุปผลการดำเนินการ
3.1 กรมราชทัณฑ์มีหนังสือที่ ยธ 0708.4/18316 ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 แจ้งว่าได้ดำเนินการให้เป็น4ไปตามแนวทางและมติที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ให้ข้อเสนอแนะ ดังนี้
1) กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการให้ผู้ต้องขังเข้าถึงสิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขจากรัฐให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี โดยได้เข้าร่วมประชุมหารือกับกระทรวงสาธารณสุข ในการจัดทำ “แนวทางการพัฒนาระบบบริการสุขภาพผู้ต้องขังในเรือนจำ” พร้อมทั้งประกาศให้สถานพยาบาลของกรมราชทัณฑ์ เป็นหน่วยร่วมบริการภายใต้ CUP (Contracting Unit for Primary Care) หรือโรงพยาบาลแม่ข่ายที่รับผิดชอบเรือนจำนั้น โดยโรงพยาบาลแม่ข่ายมีหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานของสถานพยาบาลในเรือนจำเช่นเดียวกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) นอกจากนั้น กระทรวงสาธารณสุขยังได้มีหนังสือขอความอนุเคราะห์กระทรวงยุติธรรม แจ้งกรมราชทัณฑ์ประสานผู้บัญชาการเรือนจำในพื้นที่ ให้ความร่วมมือและประสานงานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลในพื้นที่ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว
2) กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการย้ายสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อจัดส่งข้อมูลผู้ต้องขังทั้งหมด ผู้ต้องขังเข้าใหม่ และปล่อยตัวเป็นรายเดือนให้กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อดำเนินการย้ายสิทธิการรักษาไปยังเขตของพื้นที่เรือนจำอัตโนมัติและอยู่ระหว่างจัดทำเว็บไซต์ เพื่อเชื่อมโยงและส่งข้อมูลให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
3) ได้กำหนดให้พยาบาลเรือนจำมีบทบาทหน้าที่ในการตรวจร่างกายของผู้ต้องขังแรกรับ (รับใหม่ รับย้าย) ทุกราย โดยรวมถึงการซักประวัติความเจ็บป่วยก่อนต้องโทษ และการคัดกรองโรคเบื้องต้น โดยเฉพาะโรคติดต่อที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญและเฝ้าระวังเป็นพิเศษในเรือนจำ และเมื่อตรวจร่างกายและประเมินสุขภาพแล้ว หากพบว่าผู้ต้องขังรายใดมีปัญหาในการเจ็บป่วยเล็กน้อยก็ส่งดูแลรักษาพยาบาลเบื้องต้นที่สถานพยาบาลเรือนจำ แต่หากเป็นโรคที่ต้องได้รับการวินิจฉัยเฉพาะ จะได้รับการพิจารณานำออกตรวจรักษายังโรงพยาบาลภายนอกและเข้าสู่กระบวนการดูแลรักษาจนหายจากโรคต่อไป สำหรับผู้ต้องขังที่พ้นโทษจะมีการคัดกรองในเบื้องต้น และจะประสานส่งต่อไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ที่ตั้งของเรือนจำ รวมทั้งมีแนวทางในการควบคุมโรค และแนวทางในการดำเนินงานด้านสุขภาพจิตและจิตเวชสำหรับผู้ต้องขัง โดยได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลที่ดูแลรับผิดชอบเรือนจำในพื้นที่ และมีการกำกับติดตามงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข
4) มีนโยบายในการจัดระบบการให้บริการให้ผู้ต้องขังทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน สอดคล้องกับข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง (The Bangkok Rules) และข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (Mandela Rule)
5) กรมราชทัณฑ์ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุขในการพัฒนาขีดความสามารถ ตลอดจนพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากรด้านสาธารณสุขที่ต้องปฏิบัติงานในเรือนจำอย่างสม่ำเสมอ
3.2 สำนักงบประมาณมีหนังสือที่ นร 1716/16052 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2560 แจ้งว่า สถานพยาบาลของกรมราชทัณฑ์และกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนได้รับการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาครุภัณฑ์ทางการแพทย์ และการปรับปรุง/ก่อสร้างสถานพยาบาลต่างๆ ตามความจำเป็นและเหมาะสมอย่างต่อเนื่อง โดยได้คำนึงถึงความพร้อมของหน่วยงาน และแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ สำหรับค่ารักษาพยาบาลผู้ต้องขัง สำนักงบประมาณได้พิจารณาจัดสรรค่าใช้จ่ายรายหัวให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจะจัดสรรให้กับสถานพยาบาลกรมราชทัณฑ์ เพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาลผู้ต้องขังที่ผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดังกล่าวตามความจำเป็นและเหมาะสมอย่างทั่วถึงและเพียงพอ
สำหรับกรณีสิทธิของผู้ต้องขังขาวต่างชาติในการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐในระบบบริการสุขภาพถ้วนหน้านั้น การจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่จะต้องพิจารณาจัดระบบการบริหารจัดการให้เกิดความเหมาะสมในโอกาสแรกก่อน แล้วจึงขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป
เรื่องที่ 1 สิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขและสวัสดิการจากรัฐอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิของผู้ต้องขัง กรณีกล่าวอ้างว่าผู้ต้องขังไม่มีเงินเพียงพอเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล (รายงานผลการตรวจสอบ ที่ 219-200/2560 ลงวันที่ 14 มีนาคม 2560)