1. งานด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน
เรื่องที่ 1 ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน
1. ความเป็นมา
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ปฏิบัติหน้าที่ตามพันธกิจของปฏิญญาเอดินเบอระ ( Edinburgh Declaration) ซึ่งมีหลักการให้สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีส่วนร่วมในการจัดการ ( address) ประเด็นปัญหาด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยที่ผ่านมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ดำเนินการอย่างครอบคลุม ทั้งในการตรวจสอบคำร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน รวมถึงการขับเคลื่อนด้านนโยบายกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ให้นำหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนมาใช้ในประเทศอย่างจริงจัง โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดที่ 2 ได้ริเริ่มดำเนินการแปลเอกสาร Guiding Principles on Business and Human Rights Implementing the UN “ Protect, Respect and Remedy” Framework เป็นภาษาไทย ในชื่อ “หลักการชี้แนะเรื่องสิทธิมนุษยชนสำหรับธุรกิจ ตามกรอบงานขององค์การสหประชาชาติ ในการคุ้มครอง เคารพ และเยียวยา” เพื่อเผยแพร่หลักการดังกล่าวต่อสาธารณะ นอกจากนั้น ยังได้ดำเนินการศึกษาวิจัย จำนวน 2 เรื่อง คือ มาตรฐานการเคารพสิทธิมนุษยชนของภาคเอกชน และบทบาทของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยภาคเอกชน เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการดำเนินการในประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์กร และต่อมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดที่ 3 โดยคณะอนุกรรมการด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม จึงได้สานต่อการดำเนินการในประเด็นสิทธิมนุษยชนกับบทบาทภาคธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม โดยมอบหมายให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ ( TDRI) ทำการศึกษาวิจัย เรื่อง “แผนกลยุทธ์ด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2562)” เพื่อจัดทำแผนกลยุทธ์ด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2562 ที่มีความสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2565
2. การดำเนินการของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
2.1 การจัดทำปฏิญญาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ( UNGPs) ในประเทศไทย
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและองค์กรภาคีเครือข่ายได้จัดงานสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง “การเผยแพร่และการขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ในประเทศไทย” เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐและผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยเห็นประโยชน์และตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจและร่วมกันขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติให้แก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยได้จัดให้มีพิธีลงนามปฏิญญาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ( UNGPs) ในประเทศไทย ระหว่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้แทน 7 องค์กร คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรรมการสมาคมธนาคารไทย รองประธานกรรมการหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็ก ประเทศไทย โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้เกียรติมาร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนาม และได้กล่าวปาฐกถาพิเศษสนับสนุนให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และทุกภาคส่วนของสังคมปฏิบัติตามหลักการ UNGPs
ต่อมา เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2560 ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาสังคมเกี่ยวกับการนำหลักการชี้แนะว่าด้วยเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนมาใช้ในประเทศไทยและต่อแผนปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง กรุงเทพฯ
จากนั้น ในวันที่ 1 มิถุนายน 2561 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้จัดการสัมมนาวิชาการระดับชาติ “การขับเคลื่อนหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Doing Business for Sustainable Growth: a Forum to follow – up on Implementation of UNGPs in Thailand)” เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปี ของการลงนาม “ปฏิญญาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในประเทศไทย” ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ เพื่อเป็นการติดตามผลการดำเนินการตามปฏิญญาความร่วมมือการขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในประเทศไทย และเชื่อมโยงหลักการชี้แนะฯ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ( Sustainable Development Goal: SDGs) เพื่อสร้างความเข้าใจถึงความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงของหลักการทั้งสองและการบูรณาการกัน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนของประเทศและธุรกิจ บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชน
2.2 การจัดทำโครงการนำร่อง ( Pilot Project) ในการนำหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ( UNGPs) ไปให้ธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรมปฏิบัติ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยคณะอนุกรรมการด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ได้ริเริ่มให้มีการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเคารพสิทธิมนุษยชน โดยเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2559 ได้จัดการสัมมนา เรื่อง “ธุรกิจการท่องเที่ยวและการโรงแรมกับการเคารพสิทธิมนุษยชน ตามหลักการชี้แนะ ขององค์การสหประชาชาติ ( The UN Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs)” ณ โรงแรมกะตะ บีช รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดภูเก็ต เพื่อเป็นโครงการนำร่อง ( Pilot Project) ด้วยการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับหลักการชี้แนะเรื่องสิทธิมนุษยชนสำหรับธุรกิจ ตามกรอบงานขององค์การสหประชาชาติ ในการคุ้มครอง เคารพ และเยียวยา ให้แก่ผู้ประกอบการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในธุรกิจการท่องเที่ยวและการโรงแรมในจังหวัดภูเก็ตและพื้นที่ใกล้เคียง และเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2559 มีการประชุมกลุ่มย่อย ( Focus group) ให้กับผู้เกี่ยวข้องในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต ณ โรงแรมไชโย จังหวัดภูเก็ต เพื่อรับฟังความคิดเห็นของภาคธุรกิจและรับฟังข้อเสนอจากภาคประชาสังคมด้านแรงงาน
ต่อมา เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 ได้จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง “การดำเนินการตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน : กรณีศึกษาแนวทางปฏิบัติที่ดีในการเยียวยาและระงับข้อพิพาทโดยธุรกิจไทย ( Implementing the UNGP: Good Practices on Remediation and Conflict Resolution by Thai Businesses )” ณ ห้อง LT1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องการเยียวยาและการระงับข้อพิพาทด้านสิทธิมนุษยชนโดยภาคธุรกิจไทยกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
เมื่อวันที่ 19 – 20 เมษายน 2561 ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “คู่มือการประเมินผลด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน และรายการตรวจสอบ ( Checklist) ของธุรกิจการโรงแรม” ณ โรงแรมดีวาน่าพลาซ่า ภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เพื่อเป็นการสร้างความรับรู้และส่งเสริมให้มีการนำคู่มือฯ ไปปรับใช้ในการประกอบธุรกิจการโรงแรมสำหรับผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่โรงแรม และต่อมา เมื่อวันที่ 17 – 18 กันยายน 2561 ได้จัดให้มีการประชุมติดตามผล เรื่อง “คู่มือการประเมินผลด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน ( HRDD) และรายการตรวจสอบ ( Checklist) ของธุรกิจการโรงแรม” ณ โรงแรมดีวาน่าพลาซ่า ภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เพื่อรับฟังปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะจากโรงแรมที่ร่วมโครงการ
หลังจากนั้นได้จัดการสัมมนา เรื่อง “ธุรกิจการโรงแรมและท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตสู่ต้นแบบการทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน ตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” ณ โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ จังหวัดภูเก็ต ในวันที่ 27 กันยายน 2561 เพื่อเป็นการสรุปผลโครงการและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การปฏิบัติตามหลักการสิทธิมนุษยชนของโรงแรมต้นแบบที่นำรายการการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนของโรงแรมไปปฏิบัติจริง พร้อมทั้งมอบประกาศนียบัตรให้โรงแรมในโครงการนำร่องที่นำหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนไปใช้ในการประกอบธุรกิจ จำนวน 5 แห่ง คือ
1) โรงแรมอันดารา รีสอร์ท เรสซิเด้นซ์ ( Andara Resort Residences)
2) โรงแรมในเครือดีวาน่ากรุ๊ป ( Devana Hotels and Resorts Co., Ltd ( Devana Group)
3) โรงแรมไนยาง ปาร์ค รีสอร์ท ( Nai Yang Park Resort)
4) โรงแรมเดอะวิจิตร รีสอร์ท ภูเก็ต
5) โรงแรมกะตะธานี ภูเก็ต
จากผลการดำเนินการดังกล่าว ผู้แทนภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและการโรงแรมในโครงการ นำร่อง ( Pilot Project) ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คือ โรงแรมอันดารา รีสอร์ท เรสซิเด้นส์ ซึ่งเล็งเห็นความสำคัญของการนำหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ( UNGP) ไปปฏิบัติ โดยมีการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน และเพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและการโรงแรมเติบโตอย่างมั่นคง ( Stable) และยั่งยืน ( Sustainable) ได้รับเชิญไปนำเสนอผลการดำเนินการในเวที 2018 United Nations Forum on Business and Human Rights ณ สำนักงานองค์การสหประชาชาติ เจนีวา สหพันธรัฐสวิต
2.3 การส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจไทยเป็นต้นแบบการทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UN Development Programme: UNDP) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้ร่วมกันจัดการสัมมนาวิชาการ เรื่อง “รัฐวิสาหกิจไทยสู่ต้นแบบการทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน : Leading by Example “ ในวันที่ 5 เมษายน 2561 ณ ห้องประชุมออดิทอเรียม (ชั้น 2 อาคารทรงกลม) โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่และส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจไทยเห็นประโยชน์ ตระหนักถึงความสำคัญและเป็นต้นแบบในการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาและกล่าวปาฐกถาพิเศษ นอกจากนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากคณะทำงานว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติมาเป็นวิทยากรบรรยาย เรื่อง “ความเชื่อมโยงระหว่างสิทธิมนุษยชนกับการประกอบกิจการ ของรัฐ” โดยมีผู้แทนจากองค์กรรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานกว่า 250 คน
ต่อมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติร่วมกับสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) ( ITD) และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ร่วมจัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนสำหรับรัฐวิสาหกิจ” ระหว่างวันที่ 6 – 7 ธันวาคม 2561 ณ โรงแรมปทุมวันปริ้นเซส กรุงเทพมหานคร โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน การสื่อสาร สาธารณูปการ อุตสาหกรรม เกษตรและทรัพยากร สังคมและเทคโนโลยี และการเงิน ส่งผู้แทนเข้าร่วมอบรมกว่า 60 คน โดย กสม. และภาคีเครือข่ายที่ร่วมลงนามความร่วมมือด้านส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ทั้งสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) และคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ต่างมุ่งหวังให้ความรู้แก่รัฐวิสาหกิจไทยได้นำหลักการชี้แนะของสหประชาชาติ ว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ( UN Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) ไปดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติ
นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติร่วมกับสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “สิทธิมนุษยชนและประเด็นกฎหมายธุรกิจ การค้า การลงทุนที่เกี่ยวข้อง” ให้กับเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รุ่นที่ 1 เมื่อวันที่ 31 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2562 และรุ่นที่ 2 เมื่อวันที่ 7 – 8 มีนาคม 2562 ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพฯ
2.4 บทบาทของภาคประชาสังคมต่อแผนปฏิบัติการระดับชาติ ว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ( National Action Plan on Business and Human Rights)
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( OHCHR) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ( UNDP) ได้ร่วมกันจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “บทบาทของภาคประชาสังคมต่อการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” ณ โรงแรมไมด้า ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 23 สิงหาคม 2561 เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องหลักการชี้แนะเรื่องสิทธิมนุษยชนสำหรับธุรกิจ ( UN Guiding Principles on Business and Human Rights) แก่ภาคประชาสังคม สร้างความตระหนักถึงความสำคัญและบทบาทของภาคประชาสังคมในประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนและแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม โดยเฉพาะภาคประชาสังคม ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนและเพื่อเป็นการรับฟัง แลกเปลี่ยน รวบรวมความคิดเห็น รวมถึงข้อเสนอแนะของภาคประชาสังคม เพื่อเป็นข้อมูลให้รัฐใช้ในการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน
ในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยังได้เชิญ Professor Surya Deva รองประธานคณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนกับบรรษัทข้ามชาติและองค์กรธุรกิจอื่นๆ ของสหประชาชาติมาบรรยายพิเศษ เรื่อง “บทบาทของภาคประชาสังคมต่อแผนปฏิบัติการชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ( The Role of Civil Society Organization and the National Action Plan on Business and Human Rights)” และจัดให้มีการอภิปรายและระดมความคิดเห็นจากภาคประชาสังคมต่อร่างแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน จากนั้นจะมีการนำเสนอสาระสำคัญของร่าง “แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” โดยอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และการนำเสนอสาระสำคัญของ “ข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งกรณีการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” โดยเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ทั้งนี้ มีการแบ่งกลุ่มอภิปรายออกเป็น 4 กลุ่ม ตามประเด็นที่กำหนดในร่างแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน คือ 1) กลุ่มสิทธิแรงงาน 2) กลุ่มสิทธิในที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม 3) กลุ่มการปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ( Human Rights Defender) และ 4) กลุ่มการลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติ เพื่อระดมความคิดเห็นจากภาคประชาสังคมต่อร่างแผนปฏิบัติการชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รวบรวมข้อเสนอแนะของภาคประชาสังคมเพื่อมอบให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดทำร่างแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
2.5 การสัมมนา “การเข้าถึงกระบวนการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ( UNGPs)”
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ( UNDP) จัดการสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง “การเข้าถึงกระบวนการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ ตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2561 ณ โรงแรมอนันตรา ริเวอร์ ไซด์ กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ( UN Guiding Principles on Business and Human Rights) แก่หน่วยงานต่างๆ ที่ทำหน้าที่เป็นกลไกทางการยุติธรรมของรัฐ ( State – based Judicial Mechanisms) กลไกการร้องทุกข์ที่ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมโดยรัฐ ( State – based non – judicial Mechanisms) และกลไกการร้องทุกข์ในระดับปฏิบัติการโดยภาคธุรกิจ รวมถึงสมาคมอุตสาหกรรม ให้นำหลักการชี้แนะฯ ไปดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติ รวมทั้งเป็นการแสวงหาแนวทางและความร่วมมือระหว่างกลไกต่างๆ ในการขับเคลื่อนหลักการชี้แนะฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเข้าถึงการเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วยบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและสมาคมผู้ประกอบการภาคเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการเยียวยาจากกรณีที่เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกิจกรรมทางธุรกิจ ตลอดจนผู้แทนคณะทูตและองค์การระหว่างประเทศในประเทศไทย จำนวน 300 คน โดยได้เรียนเชิญ Professor Surya Deva รองประธานคณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนกับบรรษัทข้ามชาติและองค์กรธุรกิจอื่นๆ ของสหประชาชาติมาบรรยายพิเศษ เรื่อง “ Access to Effective Remedies under the Guiding Principles on Business and Human Rights: Implementing the UN Protect, Respect and Remedy Framework” และจัดให้มีการอภิปรายโดยผู้แทนหน่วยงานต่างๆ
3. ข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งกรณี การจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ( National Action Plan on Business and Human Rights – NAP) โดยพิจารณาจากประเด็นปัญหาด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย และตระหนักถึงความสำคัญของการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติฯ จึงเห็นสมควรให้มีการรวบรวม ศึกษาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อวิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน รวมตลอดทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใดๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 247 (3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พุทธศักราช 2560 มาตรา 26 (3) มาตรา 33 และมาตรา 42 ซึ่งสอดคล้องกับบทบาทในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการประเด็นปัญหาด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามปฏิญญาเอดินเบอระ ( Edinburgh Declaration) และได้มอบหมายให้คณะทำงานศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะ กรอบงาน และแนวทางในการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ( National Action Plan on Business and Human Rights – NAP) เป็นผู้ดำเนินการ โดยมีข้อเสนอแนะ ดังนี้
1) ควรระบุการจัดลำดับความสำคัญของปัญหาและมาตรการแก้ไขปัญหาด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย รวมถึงมาตรการป้องกันและเยียวยาที่มีประสิทธิภาพกรณีเกิดกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางธุรกิจ โดยอาจใช้ข้อมูลจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมถึงรายงานการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเคยเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณา ประกอบกับข้อมูลอื่นๆ จากหน่วยงานของรัฐ ภาคประชาสังคม และผู้มีส่วนได้เสียเพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์และจัดทำนโยบาย รวมถึงมีมาตรการการแก้ไขปัญหาที่รอบด้านและมีประสิทธิภาพ
2) ควรกำหนดหลักเกณฑ์เบื้องต้นที่องค์กรธุรกิจที่ตั้งอยู่ในดินแดน หรือเขตอำนาจอธิปไตยของไทยต้องปฏิบัติตามหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยในการริเริ่มหรือพัฒนาโครงการต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ สิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนและผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ในโครงการก่อนตัดสินใจดำเนินโครงการ และพิจารณาระบุแผนงานในการจัดตั้งกลไกหรือกำหนดภารกิจการกำกับดูแลการลงทุนในต่างประเทศของผู้ลงทุนสัญชาติไทยให้เคารพต่อหลักการสิทธิมนุษยชน
3) ควรจัดทำรายงานการประเมินสภาพแวดล้อม สถานการณ์สำคัญด้านธุรกิจ และกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีผลกระทบต่อประเทศไทย ( National Baseline Assessment – NBA) รวมทั้งการศึกษาประเด็นปัญหาและช่องว่างและการประเมินแนวโน้มสถานการณ์ด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนและปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ( National Baseline Assessment) ในช่วงระยะเวลาที่แผนจะมีผลบังคับใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี โดยควรมีความเฉพาะเจาะจงกับบริบทและระบุถึงปัญหาผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงของภาคธุรกิจตามความเป็นจริง ซึ่งอย่างน้อยควรประกอบด้วยสถานการณ์ที่เป็นปัจจัยเอื้อ อุปสรรค และความท้าทายด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย จำนวน 4 มิติ ประกอบไปด้วย มิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านสังคม มิติด้านสิ่งแวดล้อม และมิติทางด้านการเมืองการปกครอง
4) ควรระบุถึงการนำนโยบายว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อแก้ไขปัญหาด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในกรณีเฉพาะใดๆ และควรระบุถึงปัญหาอุปสรรคและข้อท้าทายในการใช้บังคับกฎหมาย ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน และระบุขั้นตอนที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น การจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอ การพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ผู้ใช้กฎหมาย และการเพิ่มมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตของเจ้าหน้าที่ โดยอาจระบุมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคธุรกิจจัดทำรายงานการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน ( Human Rights Due Diligence) และเปิดเผยต่อสาธารณชน รวมถึงความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน ( Human Rights Risk and Impact Assessment) เพื่อให้มีการส่งเสริมความโปร่งใสและความรับผิดชอบของบริษัทในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนอันเกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ
5) ควรระบุหลักประกันที่จะทำให้รัฐวิสาหกิจเป็นผู้นำในการเคารพและส่งเสริมการทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน โดยอาจกำหนดแผนการบรรจุบทบัญญัติให้มีกลไกการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ โดยการคำนึงถึงหลักการด้านสิทธิมนุษยชนไว้ในกฎหมายการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ รวมถึงการกำกับดูแลให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน และการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน ( Human Rights Due Diligence) ในการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรัฐวิสาหกิจหรือองค์กรภาคเอกชนที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการทางกายภาพ การขนส่ง สารสนเทศการสื่อสาร และการบริการอื่นๆ รวมถึงบริการอิเล็กทรอนิกส์และบริการ ในกรณีฉุกเฉินที่เปิดหรือจัดให้แก่สาธารณะและต้องมีหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการนั้นได้ ( Accessibility Rights for All)
6) ควรระบุถึงการรับประกันให้มีการเคารพสิทธิมนุษยชนในกิจกรรมทางธุรกิจซึ่งอาจได้รับการสนับสนุนและให้ประกันการลงทุน โดยควรระบุให้มีการศึกษาความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนในการจัดทำบริการสาธารณะดังกล่าวโดยบริษัทเอกชน หรือกรณีที่มีการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อจัดทำโครงการ โครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะที่เป็นหน้าที่ของรัฐ โดยรัฐมอบหมายหน้าที่ให้ภาคเอกชนดำเนินการจัดทำโครงการดังกล่าวแทนผ่านสัญญาร่วมลงทุน ( Public – Private Partnership) มาตรการและกลไกการกำกับดูแลเพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบดังกล่าว อีกทั้งยังควรใช้หลักการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนและการเฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจังในการจัดทำบริการสาธารณะและสัญญาการร่วมลงทุนนั้นด้วย
7) ควรระบุหลักประกันการเคารพสิทธิมนุษยชนในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยระบุให้หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจศึกษาแนวทางในการมีมาตรการที่มีประสิทธิภาพในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มีข้อเสนอแนะในรายงานผลการพิจารณาเพื่อเสนอแนะนโยบายหรือข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ตามรายงานผลการพิจารณา ที่ 206/2559 ลงวันที่ 7 ธันวาคม 2559 เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. .... ประกอบด้วย
8) ควรระบุถึงแผนการบูรณาการและประกันความสอดประสานด้านนโยบายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนภายในหน่วยงานของรัฐ รวมไปถึงการระบุแนวนโยบายและเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์ฉบับต่างๆ อาทิ แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แผนการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ : สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ( National agenda : Integrated human rights for mobilizing “Thailand 4.0” policy towards sustainable development) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี โดยต้องสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี รวมถึงการกำกับดูแลภาคธุรกิจให้เคารพสิทธิมนุษยชนตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ
9) ควรระบุหลักการสำคัญที่จะประกันว่าการลงนามในสนธิสัญญาด้านการค้าระหว่างประเทศของไทยจะไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อสิทธิมนุษยชน โดยอาจระบุให้รัฐบาลต้องพิจารณาการประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้นจากข้อตกลงดังกล่าว รวมถึงควรพิจารณาข้อบทเพื่อความมั่นคงแห่งสัญญา ( Stabilization clause) ในข้อตกลงการลงทุนจะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายของรัฐในการส่งเสริม คุ้มครอง และปรับปรุงการดำเนินการ ให้สอดคล้องกับหลักการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยอาจพิจารณาแนวทางการเจรจาบนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนด้วย
10) ควรระบุแผนงานและรายละเอียดในการเพิ่มศักยภาพ ความรู้ การแก้ไขปัญหาความ ไม่เท่าเทียมกัน รวมถึงอุปสรรคในการเข้าถึงกระบวนการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมทางธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มเปราะบาง โดยควรระบุมาตรการที่มีประสิทธิภาพทั้งที่ใช้ได้เป็นการทั่วไปและที่ใช้เฉพาะรายอุตสาหกรรม ในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นการเฉพาะ เพื่อเป็นการแก้ไขอุปสรรคที่ขัดขวางการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิผล ทั้งการขาดข้อมูล ความรู้และการคุ้มครองผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ หรือนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากการถูกคุกคาม ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวควรรวมถึงการสร้างความเข้มแข็งและสร้างความตระหนักในเรื่องของสิทธิมนุษยชนและสิทธิทางกฎหมายของบุคคลหรือชุมชน อีกทั้งควรวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเปราะบางหรือบุคคลชายขอบ รวมถึงเร่งรัดการแก้ไขกฎหมายเพื่อป้องกันการใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีโดยไม่สุจริตหรือบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบหรือฟ้องคดีโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึงได้ตามปกติธรรมดา เช่น การยื่นฟ้องศาลในพื้นที่ห่างไกลเพื่อให้จำเลยได้รับความยากลำบากในการเดินทางไปต่อสู้คดี หรือการฟ้องจำเลยในข้อหาที่หนักกว่าความเป็นจริงเพื่อให้จำเลยต้องยอมกระทำหรือไม่กระทำการอันเป็นการมิชอบ โดยเฉพาะการฟ้องเพื่อคุกคามการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของจำเลยในการป้องกันตนเองหรือปกป้องประโยชน์สาธารณะ หรือการฟ้องโดยผู้เสียหายไม่ยอมมาปรากฏตัว อันเป็นการสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ที่ถูกฟ้องร้องและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
11) ควรระบุถึงแผนการ มาตรการ แนวทาง และวิธีการแก้ไขปัญหาช่องว่างทางกฎหมายและกระบวนการทางปกครองที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม โดยในแผนปฏิบัติการระดับชาติฯ อาจระบุให้มีการศึกษาวิเคราะห์ ระบุและมีมาตรการจัดการช่องว่างทางกฎหมายและกระบวนการพิจารณาคดีที่อาจส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงกระบวนการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ ทั้งในกรณีทั่วไปและในกรณีที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิมนุษยชนเฉพาะ หรือที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง ทั้งนี้ ควรพิจารณาครอบคลุมหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เช่น ศาลแรงงาน และแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง เป็นต้น
12) ควรระบุถึงกลไกการเยียวยานอกกระบวนการยุติธรรมของรัฐ และกฎหมายว่าด้วยการเยียวยานอกกระบวนการยุติธรรม กลไกการร้องทุกข์นอกกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสม โดยพิจารณาเพิ่มอำนาจให้แก่หน่วยงานดังกล่าวให้ครอบคลุมและเพียงพอเพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้นจากกิจกรรมทางธุรกิจ เพื่อจะได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกลไกการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางธุรกิจได้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ
4. สรุปผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน
4.1 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร 0505/14214 ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2561 แจ้งว่า รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว
4.2 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร 0505/26777 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2561 แจ้งว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2561 รับทราบสรุปผลการดำเนินการเกี่ยวกับรายงานสรุปผลการพิจารณาข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ( National Action Plan on Business and Human Rights – NAP) ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามที่กระทรวงพาณิชย์ได้มีการประชุมพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ดังนี้
1 ) ที่ประชุมเห็นชอบตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั้ง 12 ประเด็น ซึ่งครอบคลุมการจัดทำนโยบายว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติโดยคำนึงถึงปัญหาอุปสรรคและข้อท้าทาย การกำหนดให้รัฐวิสาหกิจเป็นผู้นำในการส่งเสริมการทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน รวมถึงแนวทางมาตรการแก้ไขปัญหาช่องว่างทางกฎหมายและกระบวนการทางการปกครองที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม การมีกลไกเยียวยาและร้องทุกข์นอกกระบวนการยุติธรรมของรัฐที่มีประสิทธิภาพ และเห็นควรส่งข้อเสนอแนะดังกล่าวให้กระทรวงยุติธรรมที่เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ( NAP) นำไปประกอบการจัดทำแผนดังกล่าวให้มีความชัดเจน และสอดคล้องกับหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติมากยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การยกระดับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประเทศในระยะยาวต่อไป
2) ที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เช่น การกำหนดคำนิยาม “กลุ่มเปราะบาง” ให้มีความชัดเจน การกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบควรพิจารณาหน่วยงานอื่นๆ ที่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในการประกอบธุรกิจเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้วย และการวางแนวทางการติดตามประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อวัดประสิทธิภาพของแผน
เรื่องที่ 2 ข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายและข้อเสนอแนะนโยบายการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรพลังงานของประเทศไทย (รายงานผลการพิจารณา ที่ 171/2559 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559)
1. ความเป็นมา
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดที่ 2 ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 34/2557 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2557 ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม พิจารณาดำเนินการเชิงยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการปฏิรูปพลังงานเพื่อจัดทำข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากร พลังงานของประเทศไทย ประกอบกับการพิจารณาทบทวนการแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ด้วยเหตุผลว่าประเทศไทยกำลังจะขาดแคลนพลังงาน จำเป็นต้องมีการสำรวจขุดเจาะเพื่อค้นหาและผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น โดยเร่งดำเนินการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ครั้งที่ 21 ซึ่งเป็นประเด็นที่สมควรมีมาตรการการแก้ไขเพื่อหาทางป้องกันมิให้ปัญหาความขัดแย้งขยายตัวมากขึ้นเพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน
2. การดำเนินการของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยคณะอนุกรรมการด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ได้พิจารณาเอกสารและการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายสาธารณะที่อาจขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนเท่าที่ควร อันเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงระดับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งจะมีผลต่อการกระตุ้นและส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยโดยรวม อีกทั้งไม่สอดคล้องกับหลักการในพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่ประเทศไทยเป็นภาคี และตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าด้วยสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน และยังพบว่าความขัดแย้งจากการดำเนินการอันเป็นนโยบายสาธารณะในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นปัญหาใหญ่ของทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นประเด็นสำคัญ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไทยอาศัยอยู่ในชนบทซึ่งมีวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ แต่ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นการพัฒนาสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคอุตสาหกรรม ความขัดแย้งระหว่างการพัฒนากับสิทธิของประชาชนในพื้นที่จึงมีมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหลักปฏิบัติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติได้กำหนดความรับผิดชอบของรัฐในการคุ้มครองไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากบุคคลภายนอก รวมทั้งที่เป็นบรรษัทการค้า นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับข้อมูลในเรื่องการบริหารจัดการด้านพลังงานของรัฐบาล และรัฐบาลควรพิจารณาระบบการจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการใช้ระบบการแบ่งปันผลผลิต ระบบสัมปทาน หรือระบบอื่น ซึ่งจากการศึกษาวิจัยพบว่าพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ได้ใช้บังคับมาเป็นระยะเวลานาน และมีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสม ทั้งในส่วนของระบบการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมที่มีอยู่อย่างจำกัด รวมถึงบทบัญญัติเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและการดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนที่ชัดเจน โดยกระบวนการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ ควรตระหนักถึงสิทธิการมีส่วนร่วมและสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและเร่งสร้างความเข้าใจที่ตรงกันแก่ทุกฝ่ายด้วยการนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน รวมถึงเปิดเผยข้อดีข้อเสียของระบบสัมปทานปิโตรเลียม ระบบแบ่งปันผลผลิตปิโตรเลียมและระบบอื่นๆ เช่น รับจ้างการผลิต เพื่อให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึงเพื่อความเข้าใจที่ตรงกันและควรเปิดพื้นที่สาธารณะให้แก่ภาคประชาชนมากขึ้นในการแสดงความคิดเห็น เพื่อเป็นทางออกของปัญหาด้านพลังงานที่เป็นข้อตกลงร่วมกันของทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน
3. ข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายและข้อเสนอแนะนโยบาย
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงมีข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายและข้อเสนอแนะนโยบายต่อคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา 15 (3) แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ดังนี้
3.1 ข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย
(1) คณะรัฐมนตรีควรปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 โดยแก้ไขบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสม ในส่วนของระบบการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมที่มีอยู่อย่างจำกัด รวมถึงบทบัญญัติเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและการดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนที่ชัดเจน และควรตระหนักถึงสิทธิการมีส่วนร่วมและสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและเร่งสร้างความเข้าใจที่ตรงกันแก่ทุกฝ่ายด้วยการนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน อีกทั้งเปิดพื้นที่สาธารณะให้แก่ภาคประชาชนในการแสดงความคิดเห็น เพื่อเป็นแนวทางการหาทางออกของปัญหาด้านพลังงานที่เป็นข้อตกลงร่วมกันของทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน
(2) หากข้อเสนอในข้อ (1) ไม่สามารถดำเนินการได้ ควรพิจารณาถอนร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. .... ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในขณะนั้น เพื่อนำกลับมาทบทวนใหม่
3.2 ข้อเสนอแนะนโยบาย
(1) คณะรัฐมนตรีควรพิจารณานำหลักปฏิบัติของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ( United Nations Environment Programme: UNEP) คือ หลัก Guidelines for the Development of National Legislation on Access to Information, Public Participation and Access to Justice in Environmental Matters มาใช้ในการกำกับดูแลภาคธุรกิจที่ได้รับสัมปทานจัดการพลังงานปิโตรเลียม ซึ่งการสำรวจขุดเจาะพลังงานปิโตรเลียมมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของชุมชน และควรพิจารณาให้ประเทศไทยเข้าไปเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยการเข้าถึงข้อมูล การมีส่วนร่วมสาธารณะในการตัดสินใจและการเข้าถึงความยุติธรรมในเรื่องสิ่งแวดล้อม ( The Convention on Access to Information, Public Participation in Decision–Making and Access to Justice in Environmental Matters 1998) หรือ Aarhus Convention ซึ่งอนุสัญญานี้จะว่าด้วยเรื่องสิทธิที่เกี่ยวกับการจัดการโครงการของรัฐที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 3 ประเด็น คือ 1) การเข้าถึงข้อมูล 2) การมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจ และ 3) การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งขณะนี้มี 47 ประเทศ ที่เข้าเป็นภาคีแล้ว หากประเทศไทยให้สัตยาบันหรือภาคยานุวัติอนุสัญญาฉบับนี้แล้วจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างยิ่ง เพราะอนุสัญญานี้จะวางกรอบว่า รัฐจะต้องตรากฎหมายภายในให้สอดคล้องกับอนุสัญญา ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาโครงการต่างๆ ของรัฐที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต เช่น โครงการสัมปทานปิโตรเลียมของรัฐที่ประชาชนอ้างว่ายังขาดธรรมาภิบาล และขาดการเข้าถึงข้อมูล รวมทั้งโครงการสร้างโรงไฟฟ้า
(2) คณะรัฐมนตรีควรนำหลักการของข้อตกลงโลก ( Un Global Compact: UNGC) และหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ( United Nation Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGP) มาใช้กับภาคธุรกิจและสมควรเร่งให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ( National Action Plan for the Business and Human Rights: NAP) เพื่อการปกป้องคุ้มครองและป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน
(3) คณะรัฐมนตรีควรกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับหลักการซึ่งประเทศไทยได้ให้การรับรองเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ ( UN Sustainable Development Goals ; SDGs) ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ( UN General Assembly) ซึ่งมี 17 เป้าหมาย โดยเป้าหมายที่ 7 เป็นเรื่องเฉพาะด้านพลังงาน ซึ่งกำหนดว่ารัฐบาลต้อง “สร้างหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดในราคาที่ย่อมเยาและยั่งยืน”
(4) คณะรัฐมนตรีควรพิจารณาจัดให้มีศูนย์ข้อมูลกลางด้านพลังงานแห่งชาติ ( Thai Energy Information Hub) เพื่อส่งเสริมการเข้าถึง รับรู้ และเข้าใจในบทบาทความสำคัญและประเด็นปัญหาพลังงานของชาติอย่างครบถ้วนถูกต้อง โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ผู้ประกอบการด้านพลังงาน นักวิจัย นักวิชาการ ผู้กำหนดนโยบายด้านพลังงาน สื่อมวลชน เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางด้านข้อมูลพลังงานที่จะเก็บรวบรวม วิเคราะห์อย่างเป็นระบบ มีมาตรฐานอย่างเป็นสากล และมีความเป็นอิสระในการเผยแพร่ข้อมูล เพื่อตอบสนองความต้องการของทุกภาคส่วนที่ต้องการใช้ข้อมูลพลังงาน ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการสื่อสารด้านพลังงานที่ทันต่อสถานการณ์ สร้างความเข้าใจด้านพลังงานที่ถูกต้องให้กับประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและเท่าเทียมกัน
4. สรุปผลการดำเนินการตามข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายและข้อเสนอแนะนโยบายของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
4.1 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร 0506/48133 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2559 แจ้งว่า รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งมอบหมายให้กระทรวงพลังงานเป็นหน่วยงานหลักรับข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายและข้อเสนอแนะนโยบายการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรพลังงานของประเทศไทยของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม ภายใน 30 วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
4.2 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร 0505/19110 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2560 แจ้งว่าคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2560 รับทราบสรุปผลการพิจารณาดำเนินการตามที่กระทรวงพลังงานได้นำเสนอ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
(1) ข้อคิดเห็นของกระทรวงยุติธรรม
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียมเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญและจำเป็นต้องได้รับการพิจารณาอย่างรอบด้านเพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับความเป็นธรรม จึงมีข้อเสนอให้กระทรวงพลังงานรับประเด็นข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
(2) ข้อคิดเห็นของกระทรวงพลังงาน
(2.1) ข้อเสนอที่ให้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และการดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนที่ชัดเจนในกระบวนการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ ปัจจุบันได้มีการดำเนินการอยู่แล้ว โดยในการประกอบกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม นอกจากผู้รับสัมปทานจะต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายด้านปิโตรเลียมแล้ว ยังต้องดำเนินการตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย โดยในขั้นตอนก่อนการเริ่มดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในเขตพื้นที่ รวมทั้งต้องมีการยื่นรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ( EIA) ต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ก่อน
(2.2) ข้อเสนอที่ให้ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมและสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และเร่งสร้างความเข้าใจที่ตรงกันแก่ทุกฝ่าย ปัจจุบันกระทรวงพลังงานมีการเผยแพร่ข้อมูลโครงการด้านพลังงานสู่สาธารณชน ทั้งในทางสื่อดิจิตอลและสื่อสิ่งพิมพ์ อีกทั้งมีการจัดทำโครงการเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจด้านปิโตรเลียมให้กับนักศึกษาและองค์กรเอกชนอย่างทั่วถึง
(2.3) ข้อเสนอที่ให้เปิดเผยข้อดีข้อเสียของระบบสัมปทานปิโตรเลียมเพื่อให้ประชาชนทราบ และเปิดพื้นที่สาธารณะให้แก่ภาคประชาชนในการแสดงความคิดเห็น ปัจจุบันระบบการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม มี 3 ระบบ คือ ระบบสัมปทาน ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต และระบบสัญญาจ้าง ซึ่งหลักการคือจะเลือกใช้ระบบที่มีความเหมาะสมตามศักยภาพของแต่ละประเทศ ส่วนการรับฟังความคิดเห็นนั้น กระทรวงพลังงานได้เปิดพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนใช้ในการแสดงความคิดเห็นมาแล้วหลายครั้ง
ดังนั้น กระบวนการจัดทำโครงการด้านปิโตรเลียมของประเทศไทย กฎหมายปิโตรเลียมที่บังคับใช้ในปัจจุบันมีการดำเนินการตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเสนอแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องถอนร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ออกจากการพิจารณาของสภา นิติบัญญัติแห่งชาติ และเห็นควรดำเนินการเสนอกฎหมายฉบับดังกล่าวเพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
(3) ข้อคิดเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ
(3.1) เห็นชอบกับข้อเสนอที่ให้นำหลักปฏิบัติของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติมาใช้ในการกำกับดูแลภาคธุรกิจที่ได้รับสัมปทานจัดการพลังงานปิโตรเลียม เนื่องจากหลักปฏิบัติดังกล่าวเป็นแนวทางดำเนินการโดยสมัครใจ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างแนวการดำเนินการในระดับประเทศอย่างมีประสิทธิภาพในเรื่องการเข้าถึงข้อมูลและการมีส่วนร่วมของสาธารณชน หากนำมาใช้เป็นหลักปฏิบัติ จะแสดงให้เห็นความตั้งใจของภาครัฐในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยต้องปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทภายในของไทย
(3.2) เห็นชอบกับข้อเสนอที่ให้นำหลักการของข้อตกลงโลก UNGC และ UNGP มาใช้กับภาคธุรกิจ นอกจากนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 ไทยได้ตอบรับข้อเสนอแนะที่จะจัดให้มีแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนที่สอดคล้องกับ UNGP โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมอยู่ระหว่างการจัดทำการศึกษาเพื่อผลักดันแผนปฏิบัติการดังกล่าว
(3.3) กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการแจ้งข้อมูลกรณีการนำเสนอรายงานการปฏิบัติตามพันธกรณี ICESCR เมื่อเดือนมิถุนายน 2558 ณ นครเจนีวา ซึ่งได้ชี้แจงขั้นตอนการดำเนินการ นโยบาย และการบังคับใช้กฎหมายของไทยในกรณีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่
(3.4) ประเทศไทยมีการกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับหลักการ UN Sustainable Development Goals ; SDGs โดยรัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาประเทศกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
(3.5) สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลกลางด้านพลังงานแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลของสาธารณชน
(4) ข้อคิดเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และปัจจุบันประเทศไทยมีทิศทางการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจสีเขียว โดยถือเป็นหนึ่งในการดำเนินงานเพื่อบรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่บูรณาการร่วม 3 มิติ คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
(5) ข้อคิดเห็นของกระทรวงมหาดไทย
เห็นชอบกับข้อเสนอของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพราะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการทรัพยากรพลังงานของไทย และควรมีศูนย์ข้อมูลกลางด้านพลังงานชาติ เพื่อตอบสนองความต้องการของทุกภาคส่วนที่ต้องการใช้ข้อมูลด้านพลังงาน
(6) ข้อคิดเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. .... ซึ่งได้เพิ่มระบบการบริหารจัดการปิโตรเลียมในรูปแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตและสัญญาจ้างบริการได้ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้วจึงเห็นควรให้กระทรวงพลังงานนำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายในโอกาสต่อไป และเห็นควรให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้มีการดำเนินการตามข้อเสนอแนะนโยบายของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
เรื่องที่ 3 งานสิทธิมนุษยชนศึกษา
1. ความเป็นมา
การสร้างเสริมทุกภาคส่วนของสังคมให้ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนทำหน้าที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนงาน โดยมีภารกิจสำคัญในการพัฒนางานส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและจัดให้มีแผนในการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ครอบคลุมเนื้อหา กลุ่มเป้าหมาย และกระบวนการที่หลากหลายเหมาะสม ตลอดจนการดำเนินการพัฒนาหลักสูตรการเรียน การสอน ตลอดจนการฝึกอบรมด้านสิทธิมนุษยชน การศึกษา การสำรวจ การวิจัย และการประเมินผล และการพัฒนาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนศึกษา การส่งเสริมและเสริมสร้างเครือข่ายสิทธิมนุษยชนศึกษา การส่งเสริมและเสริมสร้างกิจกรรมเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนศึกษาและดำเนินการส่งเสริมการศึกษา และการเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนศึกษาเพื่อส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน ให้ความรู้ความเข้าใจและสร้างเสริมทุกภาคส่วนของสังคมให้ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน ซึ่งต่อมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบแผนส่งเสริมสิทธิมนุษยชนตามยุทธศาสตร์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2565 ในการพัฒนาหลักสูตรการเรียน การสอนและการฝึกอบรมด้านสิทธิมนุษยชนที่ครอบคลุมเนื้อหา กลุ่มเป้าหมาย และมีกระบวนการที่หลากหลายเหมาะสม ตลอดจนสอดคล้องกับมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กฎหมายภายในประเทศที่เกี่ยวข้อง และเป็นไปตามยุทธศาสตร์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2565 โดยหลังจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2560 มีผลให้คณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวต้องสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ลง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานด้านส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนดำเนินการต่อไป โดยร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิทธิมนุษยชนศึกษา ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้แทนสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และผู้แทนหน่วยงานในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการจัดทำหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษารายวิชาพื้นฐานที่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย หลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษารายวิชาเฉพาะในกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งการจัดทำบันทึกความร่วมมือการส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชนกับกลุ่มเป้าหมายในสถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานรัฐและองค์กรมหาชนที่เกี่ยวข้อง การจัดทำเอกสารแนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนสำหรับครูและคณาจารย์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
2. ผลการดำเนินงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
2 .1 แผนส่งเสริมสิทธิมนุษยชนตามยุทธศาสตร์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2565 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้จัดประชุมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและ ข้อเสนอแนะร่วมกับผู้ชำนาญการประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลาย ได้แก่ ด้านสิทธิมนุษยชนศึกษา การสื่อสารสาธารณะ ด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้ร่วมกันพิจารณาข้อมูลด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิมนุษยชนศึกษาที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายและมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ การประมวลสถานการณ์ และผลการปฏิบัติงานด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิมนุษยชนศึกษาที่ผ่านมา และข้อสังเกตจากหน่วยงานด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน รวมทั้งข้อเสนอแนะจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการจัดทำแผนส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบแผนส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ตามยุทธศาสตร์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2562 ซึ่งประกอบด้วย 8 กลยุทธ์ ได้แก่
กลยุทธ์ที่ 1 ให้มีหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาในกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย (การสร้างความรู้ความเข้าใจ)
กลยุทธ์ที่ 2 พัฒนาเครื่องมือเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชนและสร้างแหล่งเรียนรู้ (การสร้างความตระหนัก)
กลยุทธ์ที่ 3 กระตุ้นและสร้างบุคคลต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ( Human Rights IDOL) (การสร้างความตระหนัก)
กลยุทธ์ที่ 4 การสื่อสารสาธารณะเพื่อสร้างวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชน (การสื่อสารสาธารณะ)
กลยุทธ์ที่ 5 ติดตาม วิเคราะห์ ให้ข้อเสนอแนะและเข้าไปมีส่วนร่วมในแผนยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติการ หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของหน่วยงานต่าง ๆ และจัดทำแผนความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ (การสร้างความรู้ความเข้าใจ)
กลยุทธ์ที่ 6 ขยายประเด็นสิทธิมนุษยชนจากวาระโลกเพื่อสร้างความรับรู้และผลักดันให้เกิดการดำเนินการให้สอดคล้องตามวาระโลก (การสื่อสารสาธารณะ)
กลยุทธ์ที่ 7 จัดให้มีศูนย์กลางการบูรณาการและการเรียนรู้ด้านสิทธิมนุษยชนศึกษา ( Human Rights Education & Learning Hub) (การสร้างความรู้ความเข้าใจ)
กลยุทธ์ที่ 8 สร้างดัชนี Thailand Human Rights Index: Thailand HRI ในรัฐกิจ ธุรกิจ และประชากิจ (การสร้างความตระหนัก)
2.2 การจัดทำหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาในกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย
คณะทำงานด้านส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนได้เร่งดำเนินการตามแผนส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในกลยุทธ์ที่ 1 ให้มีหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาในกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย (การสร้างความรู้ความเข้าใจ) โดยได้ดำเนินการอย่างมีส่วนร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิทธิมนุษยชนศึกษา ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้แทนสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาในกลุ่มเป้าหมายต่างๆ โดยเล็งเห็นความสำคัญและความจำเป็นของหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาที่ควรต้องเร่งเผยแพร่ให้เกิดการเรียนรู้อย่างถูกต้อง คำนึงถึงการมีส่วนร่วม ตลอดจนบริบทและวิธีการที่หลากหลายและเหมาะสม เพื่อมุ่งหวังให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้านสิทธิมนุษยชนศึกษาอย่างเป็นระบบและครอบคลุม โดยมุ่งให้ผู้เรียนเกิดความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน ( Knowledge หรือ K) เกิดทักษะด้านสิทธิมนุษยชน ( Skill หรือ S) และทัศนคติด้านสิทธิมนุษยชน ( Attitude หรือ A) ที่จะช่วยส่งเสริมสิทธิมนุษยชนให้ครอบคลุมแก่กลุ่มเป้าหมายทุกภาคส่วนในสังคม และเป็นรากฐานในการสร้างวัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชนให้เกิดแก่พลเมืองได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน นำมาซึ่งความผาสุกของสังคมและประเทศชาติ ทั้งนี้ ได้ดำเนินการจัดทำหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาในกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย จำนวน 3 หลักสูตร ได้แก่
2.2.1 หลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษารายวิชาพื้นฐาน
มีกลุ่มเป้าหมายครอบคลุม ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน รวมทั้งกลุ่มเปราะบางที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วย 5 รายวิชา ได้แก่
(1) วิชาพัฒนาการและความรู้พื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน
(2) วิชากฎหมาย พันธกรณี มาตรฐานและกลไกระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน
(3) วิชากฎหมายภายในประเทศและกลไกการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
(4) วิชาการประยุกต์ใช้แนวทางฐานสิทธิมนุษยชน ( Human Rights – based approach)
(5) วิชาทัศนคติและค่านิยมด้านสิทธิมนุษยชน
2.2.2 หลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษารายวิชาเฉพาะในกระบวนการยุติธรรม
กลุ่มเป้าหมายเป็นบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ ผู้พิพากษา อัยการ ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ทนายความ ตลอดจนนักเรียนทหาร นักเรียนตำรวจ และผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วย ประกอบด้วย 5 รายวิชา ได้แก่
(1) สถานการณ์สิทธิมนุษยชน
(2) สิทธิในกระบวนการยุติธรรมเฉพาะทาง
(3) ทักษะการปฏิบัติงานด้านสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมเฉพาะทาง
(4) วิเคราะห์และสัมมนาปัญหาพิเศษและกรณีศึกษาในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมเฉพาะทาง
(5) เทคนิคการเป็นวิทยากรกระบวนการด้านสิทธิมนุษยชน
2.2.3 หลักสูตรสิทธิมนุษยชนสำหรับนักบริหารระดับสูง ( Human Rights Executive Program)
มีเป้าหมายเพื่อให้นักบริหารระดับสูงทุกภาคส่วนมีความรู้ความเข้าใจในหลักการสิทธิมนุษยชน เกิดความตระหนักในการเคารพสิทธิมนุษยชน เกิดทักษะและความสามารถในการนำความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนไปขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ขององค์กร ตลอดจนสร้างแนวปฏิบัติเพื่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชนแก่บุคลากรในองค์กร รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสียในสังคม และเกิดเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับนักบริหารระดับสูงในทุกภาคส่วน อันจะเป็นผลดีในการสร้างวัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชน โดยได้ร่วมมือกับสถาบันพระปกเกล้าซึ่งเป็นสถาบันวิชาการที่อยู่ในกำกับของประธานรัฐสภา ดำเนินการจัดทำหลักสูตรสิทธิมนุษยชนสำหรับนักบริหารระดับสูง เพื่อ เผยแพร่ความรู้ด้านการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ผสมผสานกับองค์ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน โดยเปิดหลักสูตรในวันที่ 27 มีนาคม 2562
2.2.4 หลักสูตรธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนสำหรับรัฐวิสาหกิจ
กลุ่มเป้าหมายคือผู้แทนหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจเห็นประโยชน์ ตระหนักถึงความสำคัญ และเป็นต้นแบบในการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน สามารถนำหลักการชี้แนะเรื่องสิทธิมนุษยชนสำหรับธุรกิจ ตามกรอบงานองค์การสหประชาชาติในการคุ้มครอง เคารพ และเยียวยา ( UNGP) ทั้งการจัดทำแนวนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน การตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน ( Human Rights Due Diligence) และหลักการเยียวยาในการทำธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนหากเกิดผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียไปดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติ รวมทั้งเกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวทางและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องการทำงานด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในภาครัฐวิสาหกิจอันจะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายรัฐวิสาหกิจต้นแบบของประเทศไทยในการทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งสามารถติดตามและประเมินผล ตลอดจนเกิดการพัฒนาแนวทางการทำงานด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนร่วมกันอย่างเป็นระบบต่อไป ทั้งนี้ ได้ร่วมมือกับสถาบันระหว่างประเทศเพี่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) ITD และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้จัดทำบันทึกความร่วมมือการส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างกัน โดยดำเนินการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนสำหรับรัฐวิสาหกิจ เมื่อวันที่ 6 – 7 ธันวาคม 2561 ณ ห้องจามจุรี บอลรูม เอ บี โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจำนวน 31 หน่วยงาน รวมทั้งสิ้น 56 คน เข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรดังกล่าว
2.3 การจัดทำบันทึกความร่วมมือการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนกับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย
เพื่อให้การดำเนินการตามแผนส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ตามยุทธศาสตร์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2565 กลยุทธ์ที่ 5 มีความต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม คณะทำงานด้านส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนจึงได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือการส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชน ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 ครั้ง ดังนี้
1 ) การลงนามบันทึกความร่วมมือการส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2561 ณ ห้องเสวนา ชั้น 6 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
2 ) การลงนามบันทึกความร่วมมือการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนระหว่างสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กับสำนักงานอัยการสงสุด กระทรวงศึกษาธิการ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมราชทัณฑ์ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ในวันที่ 10 กันยายน 2561 ณ ห้องออดิทอเรียม (ชั้น 2 อาคารทรงกลม) โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
2.4 การจัดทำเอกสารแนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่องสิทธิมนุษยชน สำหรับครูและคณาจารย์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
จากการลงนามในบันทึกความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับกระทรวงศึกษาธิการ ตามข้อ 2.3 คณะทำงานด้านส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้จัดการสัมมนาวิชาการเรื่อง “การเผยแพร่และการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนศึกษา ( Human Rights Education) ในสังคมไทย ” ในวันที่ 13 มกราคม 2563 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์และส่งมอบ “หลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย ” และ “คู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ” ให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา และภาคประชาสังคม โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิด การสัมมนา ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ สำหรับครูและคณาจารย์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน โดยได้ร่วมมือกับครู อาจารย์ และบุคลากรด้านการศึกษาจากกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 23 คน จาก 17 สถาบันการศึกษา เพื่อเสริมสร้างและพัฒนากระบวนการเรียนรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในสถาบันการศึกษา ใน 5 ช่วงชั้น ได้แก่ ระดับอนุบาล ประถมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย มัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย ทั้งนี้ จะได้ร่วมกันพัฒนาวิทยากรแกนนำด้านสิทธิมนุษยชนศึกษา และสนับสนุนการสร้างเครือข่ายพัฒนาครูและคณาจารย์แกนนำในระดับภูมิภาค เพื่อให้สามารถเป็นหน่วยงานการพัฒนาครูและคณาจารย์สำหรับดำเนินการประชุมและส่งเสริมการนำเอกสารแนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาไปประยุกต์ใช้ในระดับสถานศึกษาและระดับชั้นเรียน และร่วมดำเนินการติดตามหนุนเสริมครูและคณาจารย์ ในการนำความรู้และประสบการณ์ไปประยุกต์ใช้ในสถานศึกษา รวบรวมข้อมูลมานำเสนอแนวทางการปฏิบัติและเป็นแบบอย่างที่ดีได้ ตลอดจนเป็นข้อมูลในการวางแผนขับเคลื่อนและพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ด้านสิทธิมนุษยชนศึกษาต่อไป
VIDEO
เรื่องที่ 1 สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน