เรื่องที่ 1 ข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตอุทยานแห่งชาติกับที่ดินเอกชนทับซ้อนกัน และกรณีราษฎรได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการทวงคืนผืนป่า ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 64/2557 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2557 และที่ 66/2557 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2557 (ข้อเสนอแนะฯ ที่ 1/2560 ลงวันที่ 25 เมษายน 2560)
1. ความเป็นมา
เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2559 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มีคำสั่งที่ 29/2559 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านสิทธิในที่ดินและการจัดการทรัพยากรป่าไม้ โดยมีนายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นประธานอนุกรรมการ ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจหลักในการเสนอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพิจารณาเห็นสมควรให้มีการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับปัญหาสิทธิในการใช้ประโยชน์จากที่ดินและการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง และระเบียบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2558 ข้อ 26 และจัดทำรายงานผลการตรวจสอบเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อพิจารณา
คณะอนุกรรมการในคราวประชุม ครั้งที่ 5/2559 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2559 พิจารณาแล้วปรากฏว่า มีประเด็นคำร้องที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบที่คล้ายคลึงกันรวม 44 คำร้อง และต่างมีมูลเหตุที่นำมาสู่ข้อพิพาทมาจากเรื่องดังต่อไปนี้
1) มูลเหตุจากกฎหมายสารบัญญัติ พบว่ามีบทบัญญัติบางประการในกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีผลเป็นการจำกัดการได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน สิทธิในการใช้และได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และสิทธิในเสรีภาพในการโยกย้ายและเลือกถิ่นที่อยู่ของพลเมืองในราชอาณาจักร ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง อันเป็นสิทธิมนุษยชนที่รัฐได้รับรองว่าจะให้ความคุ้มครองแก่ประชาชน รวมถึงกฎหมายดังกล่าวยังมีบทบัญญัติที่ให้ราษฎรต้องสละการครอบครองที่ดินโดยผลของกฎหมาย และมีข้อสันนิษฐานเด็ดขาดหรือกฎหมายปิดปากที่มิให้ราษฎรยกข้อต่อสู้ได้ภายหลัง
2) มูลเหตุจากการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากมูลเหตุในข้อแรก เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อให้สัมฤทธิ์ผลและการไล่รื้อในส่วนสิทธิในการมีที่อยู่อาศัยที่เพียงพอ ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยพบว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีการตีความเพื่อบังคับใช้กฎหมายโดยไม่คำนึงถึงสิทธิในการใช้ทรัพยากรของบุคคล ชุมชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอันเป็นสิทธิมนุษยชนก่อน นอกจากนั้น กรณีคณะรัฐมนตรีมีมติเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ โดยให้มีการพิสูจน์สิทธิและผ่อนผันให้กับราษฎรที่ทำกินมาก่อนการประกาศเป็นพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่นั้นไม่ล่อแหลมคุกคามต่อระบบนิเวศให้สามารถทำกินต่อไปได้ ซึ่งเป็นนโยบายที่เป็นประโยชน์และผ่อนปรนในเรื่องที่กฎหมายปิดปาก แต่มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวไม่ได้ถูกนำมาใช้เป็นแนวทางเดียวกันทุกพื้นที่ โดยบางพื้นที่เจ้าหน้าที่เลือกบังคับใช้กฎหมายจับกุมโดยไม่พิสูจน์สิทธิก่อน และไล่รื้อหรือยึดพื้นที่ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา หรือกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีคำสั่งที่ 66/2557 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2557 กำหนดให้การปราบปรามผู้บุกรุกพื้นที่ป่าไม้ต้องไม่กระทบต่อบุคคลผู้ยากไร้และไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองและอยู่อาศัยในพื้นที่นั้น ๆ มาก่อน ก็ปรากฏว่าหลักเกณฑ์การพิจารณาความเป็นผู้ยากไร้ไม่มีการกำหนดไว้ชัดเจน
หลังจากได้ศึกษากฎหมาย หลักการสิทธิมนุษยชน งานวิจัย นโยบายและแนวปฏิบัติของคณะรัฐมนตรี วิเคราะห์ปัญหา และจัดทำรายงานผลการพิจารณาเรียบร้อยแล้ว คณะอนุกรรมการด้านสิทธิในที่ดินและการจัดการทรัพยากรป่าไม้ จึงมีมติในคราวประชุม ครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2560 ให้เสนอแนะนโยบายทั้งด้านส่งเสริมและด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และมีข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย ได้แก่ พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 พระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และกฎหมายว่าด้วยพื้นที่อนุรักษ์อื่น ตามรายงานผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการ ลงวันที่ 24 มีนาคม 2560 ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณากำหนดนโยบายและแก้ไขกฎหมายต่อไป
2. การดำเนินการของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 รายงานผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการด้านสิทธิในที่ดินและการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งมีนายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นประธานอนุกรรมการ ได้เสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 16/2560 ซึ่งในขณะนั้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงได้พิจารณาเกี่ยวกับการเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 247 (3) ซึ่งได้พิจารณาทั้งข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบคำร้องเบื้องต้น บทบัญญัติของกฎหมาย หลักเกณฑ์ และพันธกรณีระหว่างประเทศ นโยบายและแนวปฏิบัติของคณะรัฐมนตรีในการจัดการที่ดินและทรัพยากรป่าไม้ งานวิจัย รวมทั้งรายงานผลการตรวจสอบที่ผ่านมาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแล้ว คณะกรรมการเห็นพ้องด้วยกับความเห็นของคณะอนุกรรมการด้านสิทธิในที่ดินและการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งเห็นว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายไทย “ที่ดิน” และ “ทรัพยากรธรรมชาติ” โดยหลักถูกกำหนดให้เป็นของรัฐที่จะสามารถแสวงหาประโยชน์หรือใช้สอยเพื่อการจัดทำบริการสาธารณะ เว้นแต่ประชาชนจะได้สิทธิในที่ดิน ได้แก่ กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง ตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ หรืออาจได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์บนที่ดินของรัฐโดยไม่ให้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง ต่อมา เมื่อแนวคิดเรื่องการใช้สอยทรัพยากรธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป โดยมีการยอมรับหลักการเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนจากการเข้าร่วมเป็นภาคีในกติการะหว่างประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน นำมาสู่การรับรองให้ชุมชนมีสิทธิใช้ และได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่ฉบับพุทธศักราช 2540 ซึ่งถือเป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง และในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สิทธิดังกล่าวได้ขยายขอบเขตคุ้มครองให้แก่ปัจเจกชนรายบุคคล ทั้งนี้ มีการพัฒนาด้านแนวคิดเรื่อยมาว่าบุคคลควรมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในฐานะเจ้าของร่วมกับรัฐ อย่างไรก็ตาม เมื่อมองย้อนกลับไปที่บทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ จึงเห็นปัญหาว่า หลักการตามบทบัญญัติเดิม มีส่วนที่ไม่สอดคล้องกับแนวคิดในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในปัจจุบันแล้ว ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตป่าทั้งหลายที่มีกฎหมายสงวนหวงห้าม เช่น พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 เป็นต้น ซึ่งกฎหมายเหล่านี้มีโทษทางอาญา บางฉบับมีข้อสันนิษฐานเด็ดขาดไม่ให้พิสูจน์โต้แย้งกรณีอยู่อาศัยหรือทำประโยชน์มาก่อนการสงวนหวงห้ามและบางฉบับไม่เปิดโอกาสให้โต้แย้งสิทธิด้วย เป็นผลให้ราษฎรไม่สามารถใช้ประโยชน์ใด ๆ ในที่ดินที่อยู่ในเขตนั้นได้อย่างเต็มที่โดยไม่เสี่ยงต่อการถูกจับกุม ซึ่งปัญหามักจะเกิดกับราษฎรในพื้นที่ห่างไกลที่ในอดีตการคมนาคมและการติดต่อสื่อสารไม่สะดวก ไม่มีความรู้ความเข้าใจกฎหมาย หรือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มและมีปัญหาการเข้าใจภาษาไทย ดังนั้น เมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายปราบปรามผู้อยู่อาศัยและทำประโยชน์ในป่าอย่างเด็ดขาดโดยไม่สนใจว่าบุคคลอยู่ทำประโยชน์มาก่อนหรือไม่ จึงเกิดความขัดแย้ง
นอกจากนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มีความเห็นต่อไปว่า กรณีนี้ถึงแม้ว่าต่อมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2540 เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ให้มีการพิสูจน์สิทธิรายแปลงแก่ราษฎรและมีการผ่อนปรนให้ทำกินกรณีอยู่อาศัยมาก่อนการสงวนหวงห้ามและเป็นพื้นที่ไม่ล่อแหลมคุกคามต่อระบบนิเวศ แต่การพิสูจน์สิทธิตามมติคณะรัฐมนตรีก็ไม่ใช่เงื่อนไขที่บังคับให้เจ้าหน้าที่กระทำก่อนการบังคับใช้กฎหมายจับกุมและตรวจยึดพื้นที่ ซึ่งหากพื้นที่ใดยังไม่ได้พิสูจน์สิทธิและบุคคลถูกจับกุมและตรวจยึดพื้นที่ก่อนที่จะพิสูจน์สิทธิแล้วเสร็จ บุคคลนั้นก็จะถูกตัดออกจากกระบวนการพิสูจน์สิทธิตามมติคณะรัฐมนตรี และต้องไปโต้แย้งตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเมื่อกฎหมายมีข้อสันนิษฐานเด็ดขาดก็ยากที่จะพิสูจน์หักล้างได้ในชั้นศาล และเสียสิทธิที่จะได้รับการผ่อนผันให้ทำกินตามนโยบายต่าง ๆ ด้วย
ด้วยเหตุผลดังกล่าว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงมีมติให้เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และข้อเสนอในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 247 (3) ไปยังคณะรัฐมนตรี ตามข้อเสนอแนะที่ 1/2560 ลงวันที่ 25 กันยายน 2560 ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะฉบับแรกของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามหน้าที่และอำนาจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
3. ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 16/2560 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 มีมติให้เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และข้อเสนอในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 247 (3) ไปยังคณะรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้
3.1. ข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางด้านการส่งเสริมและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
3.1.1 ด้านการส่งเสริม เพื่อป้องกันการบุกรุกใหม่และเพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องการมีส่วนร่วมของบุคคลในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในฐานะเจ้าของร่วมกับรัฐ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงได้มีข้อเสนอแนะ ดังนี้
1) ควรกระจายการถือครองที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ
2) ควรให้ประชาชนมีส่วนในการ “ริเริ่ม”กำหนดนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับป่าไม้ ส่งเสริมการอนุรักษ์ตามธรรมชาติให้ประชาชนมีส่วนร่วม แทนการ “ห้าม” ให้กระทำการ
3) ควรสนับสนุนสิทธิร่วมของชุมชน โดยให้สิทธิแก่คนในพื้นที่เป็นผู้บริหารจัดการ ภาครัฐปรับเปลี่ยนมาเป็นผู้กำกับดูแล ใช้แนวคิดสิทธิชุมชน โดยการกำหนด “ป่า” ว่ามีแนวเขตที่ใดบ้าง ให้เป็นเรื่องของชุมชน
4) ควรดำเนินการพัฒนาประเทศให้บรรลุเป้าหมาย “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” (Sustainable Development Goals : SDGs)
3.1.2 ด้านการคุ้มครอง เพื่อให้การดำเนินการตามนโยบายของรัฐกระทบต่อบุคคลหรือชุมชนน้อยที่สุด ให้ผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมในกระบวนการให้ความเห็นและโต้แย้งคัดค้าน ให้สามารถพิสูจน์สิทธิในที่ดินที่กฎหมายบังคับให้สละสิทธิไปแล้วอย่างเป็นรูปธรรม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงได้มีข้อเสนอแนะ ประกอบด้วยส่วนที่เกี่ยวกับการพิสูจน์สิทธิและการประกาศพื้นที่อนุรักษ์ใหม่ และส่วนที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจตามกฎหมายในการจับกุมและการไล่รื้อ ดังนี้
1) ควรสนับสนุนงบประมาณในการทำแผนที่ เพื่อประโยชน์ในการสำรวจพื้นที่อนุรักษ์
2) ควรประกาศเขตป่าสงวนและพื้นที่อนุรักษ์เท่าที่จำเป็น ควรส่งเสริมการพัฒนาป่าไม้ในพื้นที่เอกชน ควรมีการสำรวจพื้นที่จริงก่อนประกาศพื้นที่ใหม่ไม่เกิน 2 ปี โดยใช้เทคโนโลยีสำรวจทางอากาศหรือดาวเทียม และควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดเขตและรับรู้ถึงแผนการดำเนินการของภาครัฐ รวมถึงเปิดโอกาสให้มีการโต้แย้งคัดค้านในกระบวนการ
3) ควรปรับปรุงการพิสูจน์สิทธิให้เป็นขั้นตอนที่ชัดเจน โดยกำหนดให้เป็นมาตรฐานขั้นต่ำก่อนการดำเนินคดีตามกฎหมาย
4) ควรให้คำมั่นและกำหนดแนวทางปฏิบัติให้การจับกุม ให้มีการออกคำสั่งทางปกครองแจ้งให้ออกจากพื้นที่ก่อน และการไล่รื้อหรือยึดพื้นที่ควรปฏิบัติหลังจากมีการพิสูจน์สิทธิและหลังจากคดีได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนคดีถึงที่สุดแล้ว และในส่วนพื้นที่ใดเคยทำข้อตกลงทางปกครองกับราษฎรหรือชุมชน แม้จะเปลี่ยนหัวหน้าหน่วยในพื้นที่ก็ควรผูกพันตามข้อตกลงเดิมต่อไป
3.2. ข้อเสนอในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย
3.2.1 ควรแก้ไขพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 โดยการปรับปรุงนิยาม “ป่า” ให้สอดคล้องตามสภาพความเป็นจริง
3.2.2 ควรแก้ไขพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ตามหลักการ ดังนี้
1) ระยะเวลาตามมาตรา 12 ควรเพิ่มระยะเวลายื่นคำร้องจาก 6 เดือนเป็น 1 ปี และแก้ไขข้อสันนิษฐานเด็ดขาดตอนท้าย จากคำว่า “ให้ถือว่า” เป็นข้อสันนิษฐานเบื้องต้น คือ “ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า” เพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงหักล้างของผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยในกระบวนการยุติธรรม
2) ควรแก้ไขมาตราอื่น ๆ ให้สอดคล้องกับหลักการในมาตรา 12 ข้างต้น คือ มาตรา 13 การพิจารณาคำร้อง หากได้ความว่าราษฎรครอบครองทำประโยชน์มาก่อนกฎกระทรวงกำหนดป่าสงวนแห่งชาติให้พิจารณาเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติ ในบริเวณที่พิสูจน์ได้ว่าราษฎรครอบครองมาก่อน และมาตรา 14 ควรเพิ่มเติมข้อความกรณีราษฎรพิสูจน์ได้ว่าครอบครองทำประโยชน์มาก่อนกฎกระทรวงกำหนดป่าสงวนแห่งชาติใช้บังคับและกระทำการไม่เสื่อมเสียแก่ความสมดุลและยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ ราษฎรไม่มีความผิดอาญา
3) เมื่อแก้ไขพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 แล้ว ให้แก้ไขกฎหมายว่าด้วยพื้นที่อนุรักษ์อื่น ๆ โดยเพิ่มข้อความแบบเดียวกันกับที่เสนอให้แก้พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เสนอดังกล่าว
4. สรุปผลการดำเนินการ
หลังจากที่มีมติแล้ว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ สม 0009/13 ลงวันที่ 27 เมษายน 2560 ถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้นำเสนอแนะมาตรการและแนวทางดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 247 วรรคสอง ซึ่งต่อมา รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติการแทนนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลักในการนำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว
นอกจากนั้น คณะอนุกรรมการด้านสิทธิในที่ดินและการจัดการทรัพยากรป่าไม้ได้จัดสัมมนา เรื่อง “การรับฟังความคิดเห็นเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินและป่าไม้ทั้งระบบ” เพื่อแลกเปลี่ยนกับราษฎรผู้ที่ได้รับผลกระทบและหน่วยงานในพื้นที่เกี่ยวกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน สำหรับนำไปประมวลผลทำข้อเสนอแนะเรื่องปัญหาพื้นที่ทับซ้อนเพิ่มเติม รวมถึงเป็นข้อมูลเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับปัญหาที่ดินและการจัดการทรัพยากรป่าไม้ในเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน โดยมีการจัดเวทีสัมมนาขึ้นทั้ง 4 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 ณ จังหวัดพิษณุโลก ภาคใต้ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2560 ณ จังหวัดอุดรธานี และภาคกลาง จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ณ จังหวัดกาญจนบุรี
ต่อมา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร 0505/40374 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2560 แจ้งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม –560 ว่า คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการพิจารณาและผลการดำเนินการต่อข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ 1/2560 ลงวันที่ 25 เมษายน 2561 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นว่า คณะรัฐมนตรียังไม่ได้พิจารณาผลสรุปของกระทรวงดังกล่าวว่าได้มีการดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอย่างเหมาะสมแล้วหรือไม่ หรือมีความจำเป็นที่ไม่อาจดำเนินการได้ หรือต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการอย่าง ใด ๆ ซึ่งทำให้ไม่เป็นไปตามบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 247 วรรคสอง ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงเสนอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพิจารณามีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ สม 0009/76 ลงวันที่ 26 มีนาคม 2561 ถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2560 และขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาข้อเสนอแนะ ที่ 1/2560 ลงวันที่ 25 เมษายน 2560 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 247 วรรคสอง
เนื่องจากปัจจุบันคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยังไม่ได้รับแจ้งผลการดำเนินการจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่า เมื่อคณะกรรมการได้อาศัยหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 247 (3) เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการส่งเสริมและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสนอให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว คณะรัฐมนตรีย่อมต้องปรับปรุงแก้ไขตามความเหมาะสมโดยเร็ว กรณีที่ไม่อาจดำเนินการได้หรือต้องใช้เวลาในการดำเนินการ คณะรัฐมนตรีต้องแจ้งเหตุผลให้คณะกรรมการทราบโดยไม่ชักช้า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 247 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 แต่เมื่อคณะรัฐมนตรีมิได้แจ้งผลการดำเนินการและไม่ได้แจ้งเหตุผลใด ๆ ภายในเวลาอันสมควร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 38/2560 เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2560 จึงเห็นชอบให้เผยแพร่ข้อเสนอแนะที่ 1/2560 ลงวันที่ 25 เมษายน 2560 ต่อสื่อมวลชน เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก และสื่อสาธารณะอื่น ๆ ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต่อไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอแล้วลงมติในวาระแรกรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติทั้งสอบฉบับพร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาต่อไปแล้ว