Human Rights Dictionary : ศัพท์สิทธิมนุษยชน

 

 

A B C D E F G H I J K L M N O P Q R S T U V W X Y Z ALL

NATIONALITY

คำแปล : สัญชาติ

ความหมาย :

สถานะทางกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ระหว่างบุคคลกับรัฐ ภายใต้หลักกฎหมายการที่บุคคลมีสัญชาติของรัฐใดย่อมทำให้บุคคลนั้น ได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิจากรัฐที่ตนเองมีสัญชาติ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะอยู่ที่ใด ในทางกลับกันบุคคลนั้นก็จะมีหน้าที่ต่อรัฐ เช่นการเคารพกฎหมายของรัฐ หรือพันธะหน้าที่อื่นที่ก่อขึ้นโดยรัฐ เป็นต้น ในด้านสิทธิประโยชน์ รัฐมีหน้าที่ในการคุ้มครองบุคคล รวมถึงการจัดหาสิ่งจำเป็นต่าง ๆ ในฐานะที่บุคคลนั้นเป็นพลเมืองของรัฐ ปกติรัฐจะกำหนดสิทธิประโยชน์ให้เฉพาะแต่บุคคลที่มีสัญชาติของตนเอง เช่น การคุ้มครองทางการทูต (Diplomatic Protection) การให้สวัสดิการสังคม (Welfare) เป็นต้น การที่บุคคลไม่มีสัญชาติใดทำให้มีสถานะเป็นคนไร้สัญชาติ หรือคนไร้รัฐ (Stateless Person) ซึ่งทำให้ไม่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 15 กำหนดว่า “บุคคลมีสิทธิในการถือสัญชาติ การถอนสัญชาติโดยพลการ หรือปฏิเสธสิทธิที่จะเปลี่ยนสัญชาติของบุคคลใดนั้น จะกระทำมิได้” แต่ในทางปฏิบัติ การได้สัญชาติขึ้นอยู่กับกฎหมายภายใน หรือกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของแต่ละประเทศ การได้สัญชาติของบุคคลอาจได้มาโดยการเกิด หรือภายหลังการเกิด แนวปฏิบัติของการให้สัญชาติโดยการเกิด สามารถแบ่งได้เป็นสองกลุ่มคือ 1. กลุ่มประเทศที่ยึดความสำคัญของสายโลหิต (หรือหลักสายโลหิต ภาษาละตินคือ jus sanguinis) เป็นการให้สัญชาติแก่เด็กที่เกิดตามสัญชาติของบิดา หรือมารดา โดยไม่คำนึงว่าเกิดในประเทศใด 2. กลุ่มประเทศที่ยึดถือความสำคัญของดินแดนที่เกิด (หรือหลักดินแดน ภาษาละติน คือ jus soli) เป็นการให้สัญชาติแก่เด็กที่เกิดในดินแดนของรัฐโดยไม่คำนึงว่าบิดามารดามีสัญชาติใด หลักนี้มีข้อยกเว้นสำหรับเด็กที่เกิดจากบุคคลในคณะผู้แทนทางการทูต หรือเจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศ การได้สัญชาติภายหลังการเกิดอาจทำโดยการขอสัญชาติ หรือโดยการสมรส ประเทศไทยยึดหลักสายโลหิตเป็นสำคัญในการให้สัญชาติ อย่างไรก็ตามกฎหมายเกี่ยวกับสัญชาติของประเทศไทยให้สิทธิเด็กที่เกิดจากบิดา มารดาที่เป็นคนต่างด้าวซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยอาจมีสัญชาติไทยได้


NATURAL RIGHTS

คำแปล : สิทธิตามธรรมชาติ

ความหมาย :

ความคิดทางปรัชญาเกี่ยวกับระบบของสิทธิหรือความยุติธรรมที่เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธินี้อยู่เองโดยธรรมชาติ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสังคมประเพณี ความเชื่อ เผ่าพันธ์ุ หรือระบอบการปกครอง ซึ่งแตกต่างจากกฎเกณฑ์ที่ก่อตั้งโดยสังคม หรือโดยผู้ปกครอง แนวคิดเรื่องสิทธิตามธรรมชาติมีมาตั้งแต่ยุคโบราณ เช่น บทละครเรื่อง อานตีโกเน (ดู ANTEGONE) ของโซโฟคลีสที่เสนอว่าสิทธิธรรมชาติที่พระเจ้ามอบให้กับมนุษย์นั้นอยู่เหนือกฎหมายของบ้านเมืองหรือเจ้าผู้ครองนคร สิทธิธรรมชาติของมนุษย์ได้รับการอธิบายให้ชัดเจนขึ้นโดยนักปรัชญาการเมืองในยุคเรืองปัญญา (Enlightenment) เช่น จอห์น ล็อค (John Locke) โทมัส ฮ็อบส์ (Thomas Hobbes) ฌอง ฌาค รุสโซ (Jean Jacques Rousseau) และ จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill) ที่เสนอว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาโดยสภาพธรรมชาติ มีความเป็นอิสระ และเท่าเทียมกัน แต่เมื่อมาอยู่รวมกันจำเป็นต้องสละสิทธิบางอย่างของแต่ละคนให้กับองค์อธิปัตย์ เพื่อประโยชน์ของบุคคลนั้นเอง แต่สิทธิพื้นฐานบางประการไม่สามารถสละหรือโอนได้เช่น สิทธิในชีวิต อิสรภาพ เสรีภาพ ความมั่นคงในชีวิตและร่างกาย สิทธิตามธรรมชาติ ได้นำมาใช้เป็นเหตุผลในการเรียกร้องความชอบธรรมของคนที่อยู่ในภาวะถูกกดขี่ข่มเหงโดยระบบการปกครองที่ไม่เป็นธรรม และใช้โต้แย้งทฤษฎีเทวสิทธิ (Devine King หรือ Devine Right) ที่เสนอว่า กษัตริย์ได้รับมอบอำนาจจากพระเจ้าให้ปกครองพลเมืองและมีอำนาจสูงสุดเด็ดขาดแต่ผู้เดียว ในคำประกาศอิสรภาพอเมริกาอ้างว่า ประชาชนอเมริกาใช้สิทธิเรียกร้องอิสรภาพที่ได้มาจากกฎธรรมชาติ และสิทธินั้นมิได้เป็นของขวัญที่ได้รับจากฝ่ายบริหาร (ดู AMERICAN REVOLUTION) สิทธิตามธรรมชาติยังมีอิทธิพลต่อการปฏิวัติฝรั่งเศส โดยใช้เป็นเหตุผลเพื่อการปลดปล่อยให้พลเมืองมีอิสรภาพดังปรากฏในปฏิญญาฝรั่งเศสว่าด้วยสิทธิของมนุษย์และพลเมือง ว่า “มนุษย์เกิดมาอิสระและเท่าเทียมกันในสิทธิ และจะดำรงสิ่งนี้ตลอดไป (Men are Born and Remain Free and Equal in Rights.)” และปฏิญญาได้ย้ำว่าหน้าที่ของรัฐบาลทุกรัฐบาลที่มีต่อพลเมืองก็คือ การดำรงรักษาสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน แนวคิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน (Human Rights) พัฒนามาจากสิทธิตามธรรมชาติ นักปรัชญาหลายคนเห็นว่าสิทธิตามธรรมชาติกับสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งเดียวกัน เพียงแต่เรียกชื่อต่างกัน ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ได้รับอิทธิพลทางแนวคิดเรื่องสิทธิตามธรรมชาติผ่านทางคำประกาศอิสรภาพอเมริกา และคำประกาศว่าด้วยสิทธิของมนุษย์และสิทธิพลเมืองของฝรั่งเศส เนื้อหาของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนหลายตอนที่สะท้อนปรัชญาเรื่องสิทธิตามธรรมชาติ เช่น ในประโยคแรกของอารัมภบทที่กล่าวว่า “โดยที่การยอมรับศักดิ์ศรีแต่กำเนิดประจำตัวและสิทธิที่เท่าเทียมกันและไม่อาจเพิกถอนได้ของสมาชิกทั้งมวลแห่งครอบครัวมนุษยชาติอันเป็นหลักการแห่งอิสรภาพความยุติธรรมและสันติภาพในโลก”และในข้อ 1 ที่กล่าวว่า “มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอกันในศักดิ์ศรีและสิทธิ ต่างได้รับ มีเหตุผล และมโนธรรมแห่งตนและควรปฏิบัติต่อกันด้วยจิตวิญญาณแห่งภราดรภาพ”


NE BIS IN IDEM (Latin)

คำแปล : ไม่พิจารณาโทษสองครั้งในการกระทำความผิดเดียวกัน

ความหมาย :

ภาษิตกฎหมายภาษาละติน อ่านว่า “เน บิส อิน อีเด็ม” แปลตามศัพท์ว่า “Not Twice for the Same Thing” เป็นหลักทั่วไปของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ดู CRIMINALPROCEDURE LAW) ว่าบุคคลที่กระทำผิดจะไม่ถูกพิจารณาโดยศาลซ้ำในความผิดที่ถูกฟ้องซึ่งได้รับการพิจารณาพิพากษาโดยศาลไปแล้ว หลักนี้ได้รับการรับรองโดยกฎหมายภายในของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งเป็นหลักกฎหมายทั่วไปของกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายคอมมอนลอว์ของประเทศสหรัฐอเมริกา รับรองหลักการนี้ไว้ในความหมายของ คำว่า “Double Jeopardy” หลักการไม่พิจารณาโทษสองครั้งในการกระทำความผิดเดียวกันทำให้เกิดบทบัญญัติห้ามฟ้องซ้ำในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดังนั้น ถ้าโจทก์เคยฟ้องจำเลยในการกระทำนั้นแล้ว ไม่ว่าศาลได้พิพากษาให้ลงโทษจำเลย หรือยกฟ้องโจทก์จะฟ้องจำเลยในความผิดนั้นอีกไม่ได้ ในการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ถ้าจำเลยเคยถูกพิจารณาไต่สวนความผิดที่เป็นข้อหาที่ใช้ในการขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาแล้วในศาลของประเทศที่ถูกขอให้ส่งบุคคลนั้น ประเทศที่ถูกขอสามารถปฏิเสธการส่งบุคคลนั้นได้ในกรณีที่มีหลายความผิดถ้าได้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ประเทศที่ขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนจะพิจารณาความผิดที่บุคคลนั้นเคยได้รับการพิจารณาคดีโดยศาลในอีกประเทศที่ส่งตัวอีกไม่ได้


NEGATIVE RIGHTS

คำแปล : สิทธิเชิงลบ

ความหมาย :

สิทธิเชิงลบ เป็นแนวคิดหรือทฤษฎีทางกฎหมาย / รัฐศาสตร์ ที่เห็นว่าสิทธิมนุษยชนสามารถจำแนกเป็นสองประเภทคือ สิทธิเชิงลบ และสิทธิเชิงบวก (ดูในสิทธิเชิงบวก (Positive Rights)) สิทธิเชิงลบ หมายถึงสิทธิมนุษยชนที่รัฐเป็นผู้มีหน้าที่ต้องเคารพสิทธิ (Duty Bearers) โดยต้องไม่แทรกแซงยุ่งเกี่ยวกับผู้ทรงสิทธิ (Right Holders) หรือต้องหลีกเลี่ยงการละเมิด หรือป้องกันไม่ให้บุคคลอื่นแทรกแซง เช่นสิทธิในชีวิตหมายถึงรัฐต้องไม่สังหารประชาชนตามอำเภอใจ รวมทั้งออกกฎหมายเพื่อลงโทษผู้ที่ฆ่าผู้อื่น สิทธิเชิงลบนี้ไม่ได้สร้างภาระหน้าที่ให้ต้องกระทำการใดๆ ในเชิงบวก เช่น มาตรการที่เป็นการยืนยันสิทธิ ตามแนวคิดสิทธิมนุษยชนแบบเดิมเห็นว่าสิทธิตาม ICCPR เป็นสิทธิเชิงลบ ส่วนสิทธิตาม ICESCR เป็นสิทธิเชิงบวก อันเป็นเหตุให้การจัดทำตราสารสิทธิมนุษยชนแบ่งแยกเป็นสองฉบับ ปัจจุบันแนวคิดการแบ่งแยกสิทธิมนุษยชนระหว่าง “สิทธิเชิงลบ” และ “สิทธิเชิงบวก” ไม่ค่อยได้รับการยอมรับ เนื่องจากรัฐต้องทำให้ผู้ทรงสิทธิได้รับการบรรลุถึงสิทธิที่เขามีอย่างแท้จริง พันธกรณีต่อสิทธิมนุษยชนทุกประเภทก่อพันธะหน้าที่ให้รัฐทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ คือหน้าที่ในการเคารพ (Respect) ซึ่งเป็นพันธกรณีในเชิงลบ หน้าที่ในการคุ้มครอง (Protection) และหน้าที่ในการทำให้บรรลุถึงสิทธิ (Fulfil) ซึ่งเป็นพันธกรณีในเชิงบวก เช่นการคุ้มครองสิทธิในชีวิต รัฐมีหน้าที่ต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ และฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ด้านต่างๆ อันเป็นการป้องกันไม่ให้บุคคลถูกฆ่า และจัดให้มีศาลยุติธรรมเพื่อบังคับใช้กฎหมายเพื่อเยียวยาในกรณีที่บุคคลถูกละเมิดสิทธิต่าง ๆ เช่น สิทธิในชีวิต (ให้ดูเปรียบเทียบ PositiveRights)


NEGLIGENCE

คำแปล : ประมาท (กฎหมายอาญา) ประมาทเลินเล่อ (กฎหมายแพ่ง)

ความหมาย :

การกระทำที่ไม่ใช้ความระมัดระวังตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดไว้ในการป้องกันความเสี่ยงเพื่อไม่ให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย ทฤษฎีทางกฎหมายถือว่าบุคคลทุกคนมีหน้าที่ในการระวังป้องกัน(Duty of Care) ไม่ให้ตนเองก่อความเสียหายต่อบุคคลอื่น ดังนั้นถ้าบุคคลนั้นก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่น บุคคลนั้นก็จะต้องพิสูจน์ว่าตนเองได้ใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอแล้ว และไม่ได้บกพร่องต่อหน้าที่ในการระวังป้องกันดังกล่าว ในทางกฎหมายอาญาเป็นหลักทั่วไปของกฎหมายอาญาว่า บุคคลจะต้องรับผิดชอบทางอาญาเมื่อ “กระทำโดยเจตนา” เว้นแต่กรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดแม้กระทำโดยประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59 ประมาท คือ การกระทำที่ไม่เจตนา แต่ผู้กระทำไม่ได้ใช้ความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัย และพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นนั้นได้แต่ไม่ได้ใช้อย่างเพียงพอ ในทางกฎหมายแพ่ง ความประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความรับผิดทางแพ่ง คือ จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดจากความประมาทเลินเล่อ ซึ่งในกฎหมายไทย ได้บัญญัติไว้ในหลักกฎหมายเรื่องละเมิด


NEGOTIATION

คำแปล : การเจรจา

ความหมาย :

คำว่า การเจรจาใช้ในสองนัยด้วยกันคือ นัยที่เกี่ยวกับกระบวนการจัดทำสนธิสัญญากับนัยที่เกี่ยวกับกระบวนการระงับข้อพิพาท หรือความขัดแย้ง 1. นัยที่เกี่ยวกับกระบวนการจัดทำสนธิสัญญา การเจรจา เป็นขั้นตอนเบื้องต้นในการทำสนธิสัญญา การเจรจาตกลง และต่อรอง เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อสรุปอันเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย โดย คู่เจรจามีความพึงพอใจ และยินดีที่จะปฏิบัติตามบทสรุปที่ได้จากการเจรจาตกลงกันนั้น ก่อนที่จะนำข้อบทที่ได้จากการเจรจานั้นไปยกร่างเป็นสนธิสัญญาเพื่อการรับรอง (Adopt) ลงนาม (Sign) และให้สัตยาบัน (Ratify) ต่อไป สนธิสัญญานั้นจึงจะมีผลบังคับตามกฎหมายได้ กฎหมายระหว่างประเทศไม่ได้มีการกำหนดรูปแบบของการเจรจาไว้เป็นการเฉพาะจึงขึ้นอยู่กับคู่ภาคีในการที่จะจัดการเจรจากันอย่างไร เป็นกรณีๆไป การเจรจาจัดทำสนธิสัญญาที่จะผูกพันรัฐต้องกระทำโดยผู้แทนรัฐผู้มีอำนาจเต็ม (Full Power) กล่าวคือบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจมาจากรัฐบาล หรือบุคคลที่มีอำนาจโดยตำแหน่ง (ex officio) เช่นประมุขของรัฐ หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และต้องดำเนินการตามกฎหมายระหว่างประเทศ 2. นัยที่เกี่ยวกับกระบวนการระงับข้อพิพาทความขัดแย้ง หรือข้อพิพาทเรื่องสิทธิมนุษยชน การเจรจาหมายถึง การสนทนา ปรึกษาหารือเพื่อนำมาสู่ข้อยุติร่วมกัน การเจรจาอาจเกิดขึ้นแบบทวิภาคีหรืออาจมีคนกลางเข้าร่วมด้วยก็ได้ ประเด็นสำคัญคือเป็นการสนทนาที่นำไปสู่การยอมรับข้อตกลงร่วมกัน ผู้ที่ทำการเจรจามีคุณลักษณะที่แตกต่างหลากหลาย เช่น ประมุขของรัฐหรือรัฐบาล หัวหน้ารัฐบาล หรือบุคคลที่เป็นที่ยอมรับของสังคม


NEO LIBERALIZATION

คำแปล : กระบวนการเสรีนิยมใหม่

ความหมาย :

กระบวนการเสรีนิยมใหม่ หมายถึง แนวคิดใหม่เรื่องระบบเศรษฐกิจบนพื้นฐานของกลไกตลาด ที่เน้นการเปิดเสรีและขจัดอุปสรรคทางการค้า โดยไม่ต้องอาศัยการกำกับ ดูแล หรือการแทรกแซงจากรัฐ มุ่งเน้นการขจัดอุปสรรคทางการค้า และการลงทุน โดยมีความเชื่อว่า การค้าเสรีจะนำมาซึ่งความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และโอกาส อีกทั้งส่งเสริมประชาธิปไตย และความเป็นอิสระของสังคม และประชาชน การเปิดเสรีนั้นนำมาสู่การจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุด ทำให้การค้าได้รับประโยชน์สูง การแข่งขันทำให้สินค้าราคาถูก คุณภาพดี มีความหลากหลาย ให้ประโยชน์แก่ผู้บริโภค มีการจ้างงานมากขึ้น ยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชนในท้ายที่สุด แต่ความเชื่อดังกล่าวนี้ไม่ได้รับการยอมรับโดยกลุ่มคนที่ต่อต้านกระบวนการโลกาภิวัตน์และการเปิดเสรี ซึ่งคำนึงถึงปัจจัยด้านอื่นของการสร้างสังคมที่มีคุณภาพของมนุษย์ เช่น การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสร้างเสริมระบบคุณธรรม จริยธรรมอำนาจอธิปไตยของรัฐเหนือทรัพยากรธรรมชาติตลอดไป คุณภาพของแรงงาน สภาพการจ้างที่เป็นธรรม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย กับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน


NO CRIME, NO PUNISHMENT WITHOUT A LAW

คำแปล : ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ ถ้าไม่มีกฎหมาย

ความหมาย :

หลักกฎหมายทั่วไปของกฎหมายอาญา มาจากภาษาละตินคือ nullum crimen sine lege (No Crime without a Law หรือ “ไม่มีการกระทำความผิดอาญาถ้าไม่มีกฎหมายกำหนด”) และ nulla poenasine lege (No Punishment without a Law หรือ “ไม่มีโทษถ้าไม่มีกฎหมายกำหนด”) ซึ่งพัฒนามาเป็นหลักไม่ใช้กฎหมายย้อนหลัง หรือ Non-retroactive Law หรือ Prohibition of ex post facto Law(ดู RETROACTIVE LAW) หมายความว่าจะลงโทษอาญาต่อบุคคลได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น หลักการนี้สอดคล้องกับหลักเสรีภาพของบุคคลเพราะเป็นการประกันว่าบุคคลจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายการรับโทษทางอาญาก็ต่อเมื่อตนรู้ว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและมีโทษดังนั้นการออกกฎหมายย้อนหลังเพื่อเอาความผิดในสิ่งที่ล่วงเลยมาแล้วเป็นการขัดขวางต่อเจตจำนงเสรีของบุคคลในการตัดสินใจกระทำการใด ๆ หลัก “ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ ถ้าไม่มีกฎหมาย” เป็นหลักสากลซึ่งได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญของเกือบทุกประเทศ เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ค.ศ. 2007) มาตรา 39 บัญญัติว่า “บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิด” นอกจากนั้นหลักนี้ยังหมายถึงการยกเลิกความผิด หรือยกเลิกโทษให้กับบุคคลที่กระทำผิดแล้ว แต่ต่อมาได้มีกฎหมายใหม่ยกเลิกความผิดนั้น หลักการนี้ได้รับการรับรองไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 ของไทย ที่บัญญัติว่า“ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำเช่นนั้น ไม่เป็นความผิดต่อไป ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง”


NOBEL PRIZE / NOBEL PEACE PRIZE

คำแปล : รางวัลโนเบล

ความหมาย :

รางวัลนานาชาติประจำปีที่มอบให้กับบุคคลผู้มีผลงานที่สร้างคุณประโยชน์ต่อมนุษยชาติ ชื่อรางวัลตั้งขึ้นตามชื่อของ นายอัลเฟรด แบร์นาร์ดโนเบล มหาเศรษฐีและนักเคมีชาวสวีเดนผู้ประดิษฐ์ดินระเบิดไดนาไมท์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ต่อมานายโนเบลเสียใจกับการที่ผลงานประดิษฐ์ของตนถูกนำมาใช้เป็นอาวุธสงครามทำให้คนตายเป็นจำนวนมากเขาจึงทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้กองทุน รางวัลโนเบลได้รับการยอมรับว่าเป็นรางวัลที่มีเกียรติสูงสุด เดิมมีห้าสาขา คือ เคมี การแพทย์ วรรณกรรม สันติภาพ และฟิสิกส์ ต่อมาใน ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) ได้เพิ่มรางวัลสาขาเศรษฐศาสตร์ ขึ้นอีกหนึ่งรางวัล การมอบรางวัลโนเบลครั้งแรกมีขึ้นใน ค.ศ. 1901 (พ.ศ. 2444) ปัจจุบันพิธีมอบรางวัลจะทำในวันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันที่นายอัลเฟรดโนเบลเสียชีวิต ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาองค์กรสิทธิมนุษยชนและบุคคลที่อุทิศตนเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพอยู่เนืองๆ เช่น คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of Red Cross หรือ ICRC) ได้รับรางวัลนี้สามครั้ง ใน ค.ศ. 1917 (พ.ศ. 2450) ค.ศ. 1944 (พ.ศ. 2487) และ ค.ศ. 1963 (พ.ศ. 2506) สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (Office of the United Nations High Commissioner for Refugees หรือ UNHCR) ได้รับรางวัลนี้สองครั้งใน ค.ศ. 1954 (พ.ศ. 2497) และ ค.ศ. 1981 (พ.ศ. 2524) องค์การนิรโทษกรรมสากล หรือแอมเนสตีอินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) ได้รับรางวัลใน ค.ศ. 1977 (พ.ศ. 2520) แม่ชีเทเรซา สตรีผู้ทำงานเพื่อเด็กในสลัมในประเทศอินเดียได้รับรางวัลใน ค.ศ. 1979 (พ.ศ. 2522) นางออง ซาน ซูจี นักต่อสู้ประชาธิปไตยในพม่าได้รับการประกาศเป็นผู้ได้รับรางวัลใน ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) ได้รับจริงเมื่อ ค.ศ. 2012 (พ.ศ. 2555) นายเนลสัน เมนเดลลา ผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิของคนผิวดำและนำไปสู่การยุติระบอบเหยียดผิวในสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ได้รับรางวัลนี้ใน ค.ศ. 1993 (พ.ศ. 2536)


NON-DEROGABLE (HUMAN) RIGHTS

คำแปล : สิทธิที่ไม่อาจพักใช้ได้

ความหมาย :

สิทธิที่ไม่อาจพักใช้ได้เป็นสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ ที่ถือว่าเป็นสิทธิที่สำคัญที่สุดต่อความเป็นมนุษย์ ซึ่งรัฐไม่สามารถลดทอนพันธกรณีระหว่างประเทศในการเคารพหรือคุ้มครองได้แม้แต่ในช่วงภาวะที่รัฐได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (State of Emergency) หรือสถานการณ์พิเศษ (State of Exception) บางครั้งสิทธินี้เรียกว่า สิทธิสัมบูรณ์ (Absolute Rights) เช่น สิทธิในชีวิต สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม สิทธิในความเชื่อและนับถือศาสนา สิทธิที่จะไม่ถูกทรมาน (ICCPR ข้อ 4(2), European Convention on Human Rights ข้อ 15(2), Inter-American Convention on Human Rights ข้อ 27(2)) (ดู Derogable Rights)


NON-DISCRIMINATION

คำแปล : การไม่เลือกปฏิบัติ

ความหมาย :

การไม่เลือกปฏิบัติเป็นหลักพื้นฐานเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นหลักทั่วไปของกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศ หลักการนี้ได้รับการรับรองโดยกฎบัตรสหประชาชาติ และตราสารสิทธิมนุษยชนเกือบทุกฉบับ เช่น ปฏิญญาสากล (UDHR Article 2) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPRArticle 2)กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ( ICESCR Article 2) และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC Article2) ในกฎหมายสิทธิมนุษยชน การไม่เลือกปฏิบัติมีสองนัยด้วยกัน นัยแรกเป็นหน้าที่ในทางลบคือการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม (Equal Treatment) หมายถึงรัฐจักต้องไม่ดำเนินการหรือทำการใดๆที่แตกต่างกันเป็นผลให้บุคคลใด หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้รับสิทธิหรือประโยชน์ใดๆ เหนือกว่ากลุ่มอื่น หรือ ถูกจำกัดสิทธิหรือ ประโยชน์มากกว่ากลุ่มอื่นๆ นัยที่สองเป็นหน้าที่ในทางบวกคือการกระทำในทางยืนยันสิทธิ (Affirmative Action) หมายถึงรัฐจักต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมของโอกาสในการใช้สิทธิ (Equal Opportunity) ของกลุ่มบุคคลที่อยู่ในฐานะที่ด้อยโอกาสกว่ากลุ่มอื่นๆ เพื่อให้บุคคลเหล่านั้นได้บรรลุถึงการมีสิทธิอย่างเท่าเทียมกับกลุ่มอื่นๆ


NON-REFOULEMENT

คำแปล : หลักการไม่ผลักดันกลับไปเสี่ยงภัย

ความหมาย :

หลักกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้ลี้ภัย ที่กำหนดไม่ให้รัฐส่งตัวผู้ลี้ภัยที่เป็นการฝืนความต้องการของผู้ลี้ภัย กลับไปยังดินแดนที่ผู้ลี้ภัยลี้ภัยออกมา ถ้ามีสาเหตุที่เชื่อได้ว่าบุคคลนั้นอาจเสี่ยงต่อการถูกประหัตประหารในประเทศที่จะถูกส่งตัวกลับ หลักเกณฑ์นี้ได้ถูกนำมาบัญญัติไว้ในตราสารสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหลายฉบับ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494(Convention relating to the Status of Refugees 1951) อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน การปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี พ.ศ. 2527 (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment 1984 หรือ CAT) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง พ.ศ. 2509 (International Covenant on Civil and Political Rights 1966 หรือ ICCPR) เป็นต้น ปัจจุบันหลักการไม่ผลักดันกลับไปเสี่ยงภัยถือเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศและมีผลผูกพันรัฐทุกรัฐ ดังนั้นแม้ว่ารัฐจะมีอำนาจอธิปไตยอย่างสมบูรณ์ในการพิจารณาอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้าเมือง หรือไม่รับผู้ลี้ภัย แต่รัฐมีพันธะหน้าที่ต้องไม่ส่งตัวผู้ลี้ภัยนั้นกลับไปยังประเทศต้นทางถ้าบุคคลนั้นต้องเสี่ยงต่อการถูกประหัตประหาร หลักการไม่ผลักดันกลับ ได้นำมาปรับใช้กับการส่งผู้ร้ายข้ามแดน โดยรัฐที่ถูกร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนอาจปฏิเสธการส่งตัวได้ ถ้าบุคคลนั้นอาจเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง เช่น เสี่ยงต่อการรับโทษประหารชีวิตการถูกทรมาน สภาพอันเลวร้ายของห้องขังหรือเรือนจำ หรือกระบวนการยุติธรรมที่ลำเอียง (ดู EXTRADITION)