Human Rights Dictionary : ศัพท์สิทธิมนุษยชน

 

 

A B C D E F G H I J K L M N O P Q R S T U V W X Y Z ALL

PARDON, THE RIGHT TO

คำแปล : สิทธิที่จะได้รับการอภัยโทษ

ความหมาย :

สิทธิของนักโทษที่จะยื่นเรื่องขอให้ประมุขของรัฐยกโทษให้สำหรับการกระทำความผิดของตนเป็นแนวปฏิบัติของประเทศต่าง ๆ ที่กำหนดให้การอภัยโทษเป็นอำนาจของประมุขของรัฐ เช่น พระมหากษัตริย์ สุลต่าน หรือประธานาธิบดี ประกาศยกโทษแก่บุคคลที่ได้รับโทษทางอาญา อำนาจดังกล่าวมักจะบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ การอภัยโทษเป็นการให้โอกาสผู้กระทำผิดที่ได้รับโทษมาเป็นระยะเวลาหนึ่งและได้สำนึกความผิดของตนที่จะกลับตนเป็นคนดี ได้กลับคืนสู่สังคมเพื่อใช้ชีวิตกับครอบครัวและญาติมิตรอย่างเป็นปกติสุขและประกอบสัมมาอาชีพอย่างสุจริตในภายหลัง สำหรับประเทศไทย พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษจำคุกให้ได้รับการปล่อยตัว ซึ่งมีสองวิธี คือการพระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคลแก่ผู้ต้องโทษซึ่งทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณขึ้นมา และการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการเสนอให้มีการพระราชทานอภัยโทษโดยรัฐบาลจะใช้หลักการพิจารณาตัวผู้ต้องโทษเป็นรายบุคคลประกอบกับนโยบายทางอาญาของรัฐ


PEACEFUL ASSEMBLY, FREEDOM OF

คำแปล : เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ

ความหมาย :

สิทธิของบุคคลในการแสดงออกความคิดเห็นทางการเมือง หรือเรียกร้องสิทธิประโยชน์โดยร่วมกันกับบุคคลอื่น การชุมนุมนั้นต้องมีความตั้งใจ (Intention) ที่จะเข้าร่วมกันของบุคคลหลายคนเป็นการชั่วคราว (Temporary Gatheringof Several Persons) และมีวัตถุประสงค์อันเฉพาะ (Specific Purpose)เพื่อแสดงออกทางการเมือง เช่น การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย การชุมนุมของสมาชิกสหภาพแรงงานเรียกร้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การชุมนุมคัดค้านนโยบายรัฐบาล ซึ่งต่างจากการพบปะพูดคุยทั่วไปของบุคคล หรือการเข้าร่วมพิธีกรรมทางสังคม สิทธินี้มีความสำคัญในฐานะที่เป็นองค์ประกอบของสังคมเสรีประชาธิปไตย จัดอยู่ในสิทธิทางการเมืองรัฐจักต้องคุ้มครองสิทธิในการชุมนุมโดยสันติ โดยครอบคลุมถึงบุคคลที่ตระเตรียมการชุมนุม จัดการ หรือดำเนินการชุมนุม และบุคคลที่เข้าร่วมชุมนุม สิทธินี้ได้รับการรับรองโดยกติการะหว่างประเทศ ข้อ 21 และตราสารสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคทุกภูมิภาค แต่เฉพาะ “การชุมนุมโดยสันติ”หรือ “ชุมนุมโดยสงบ” เท่านั้นที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้หลักกฎหมายสิทธิมนุษยชน โดยนัยนี้ การชุมนุมที่ไม่ได้เป็นไปโดยสันติ การชุมนุมที่ก่อความรุนแรง (Violence) ย่อมไม่ได้รับการคุ้มครอง ตราสารสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่รับรองเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบกำหนดเงื่อนไขการจำกัดเสรีภาพโดยชอบธรรมไว้ในทำนองเดียวกันคือ ต้องจำกัดโดยกฎหมายมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองประโยชน์ที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย และมาตรการจำกัดนั้นต้องมีความได้สัดส่วนกับเสรีภาพที่ถูกจำกัด เช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองกำหนดว่า “สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการรับรอง การจำกัดการใช้สิทธินี้จะกระทำมิได้นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมายและเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติ หรือความปลอดภัยความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชน หรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น” รัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทยได้รับรองเสรีภาพในการชุมนุมและได้กำหนดเงื่อนไขการจำกัดเสรีภาพไว้ทำนองเดียวกันกับหลักการนี้ ปัญหาสำคัญประการหนึ่งในการคุ้มครองสิทธินี้คือ การพิจารณาว่าการชุมนุมลักษณะใดที่ถือว่าเป็น “ความรุนแรง” เรื่องนี้มีหลักว่า “ความรุนแรง” นั้นต้องพิจารณาจากลักษณะของการชุมนุม มิใช่พิจารณาจาก “เนื้อหา” หรือ “สาร” ที่ผู้ชุมนุมต้องการสะท้อนความคิดเห็น นอกจากนั้นมีหลักว่า การชุมนุมโดยการใช้อาวุธ การชุมนุมที่มีเป้าหมายสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่บุคคลที่ไม่ร่วมชุมนุมเพื่อบีบบังคับให้รัฐหรือองค์กรใดตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้ชุมนุม การชุมนุมเพื่อปลุกปั่นให้มีความเกลียดชังขึ้นระหว่างกลุ่มชน เป็นการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรง การชุมนุมโดยสันติในที่สาธารณะเป็นเสรีภาพจึงไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานก่อน รัฐต้องให้ความคุ้มครองการชุมนุมที่ชอบด้วยกฎหมายในกรณีที่เป็นการชุมนุมที่ขัดต่อกฎหมาย เช่น จงใจขัดขวางการจราจร รัฐสามารถจำกัดการชุมนุมได้เพื่อให้อยู่ในขอบเขตของกฎหมายได้ หรือการชุมนุมที่ก่อความรุนแรง รัฐสามารถบังคับใช้กฎหมายเพื่อรักษาความปลอดภัยของสังคม และสลายการชุมนุมได้ แต่วิธีการสลายการชุมนุมนั้นจะต้องสอดคล้องกับหลักการตามกฎหมายสิทธิมนุษยชน เช่น หลักความได้สัดส่วน และมาตรฐานสากล เช่น ประมวลแนวปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย (Code of Conduct for Law Enforcement Officials) และกฎการใช้กำลังในการปะทะ (Rules of Engagement)


PENAL CODE / CRIMINAL CODE

คำแปล : ประมวลกฎหมายอาญา

ความหมาย :

กฎหมายอาญาที่มีการจัดทำขึ้นโดยมีการรวบรวมหลักการทางกฎหมายวิธีการปรับใช้ และลักษณะความผิด แล้วแยกเป็นหมวดหมู่ที่มีความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กัน ประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทยปัจจุบันได้มีการประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. 2499 (ค.ศ. 1956) โดยการแก้ไขปรับปรุงจากกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2452 (ค.ศ. 1809)) ซึ่งแบ่งออกได้เป็นสามภาคคือ ภาค 1 บทบัญญัติทั่วไป เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับหลักกฎหมายที่สามารถนำมาปรับใช้กับกฎหมายอาญาทั่วไป เช่น การกระทำที่เป็นความรับผิดทางอาญา หลักไม่มีกฎหมายไม่มีความผิด หลักไม่ใช้กฎหมายย้อนหลัง ประเภทของโทษทางอาญา เหตุยกเว้นความผิด เหตุยกเว้นโทษ และการลดโทษ เป็นต้น ภาค 2 ความผิด เป็นการรวบรวมบทบัญญัติความผิดอาญาที่สำคัญหรือเป็นความผิดที่เกิดขึ้นเป็นประจำในสังคม เช่น ความผิดฐานฆ่า ทำร้ายร่างกาย ลักทรัพย์ ปล้น ฉ้อโกง ปลอมแปลงเอกสาร ความผิดเกี่ยวกับเพศเป็นต้น ภาค 3 ลหุโทษ เป็นการบัญญัติความผิดทางอาญาซึ่งมีลักษณะเป็นความผิดเล็กน้อยไม่เป็นอันตรายต่อสังคม เช่น การทะเลาะอื้ออึงในที่สาธารณะ การพกพาอาวุธไปในเมืองโดยไม่มีเหตุอันควร อนึ่ง ความผิดลหุโทษ คือความผิดที่ไม่ต้องมีเจตนาในการทำผิดและระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


PENALTY

คำแปล : โทษ (อาญา)

ความหมาย :

มาตรการที่เป็นสภาพบังคับที่กฎหมายกำหนดไว้ลงโทษผู้กระทำความผิดโทษทางกฎหมายอาญาจะแตกต่างกันไปตามสภาพสังคม และวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ แต่หลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนมีว่า โทษทางอาญานั้นจะต้องไม่เป็นการทารุณโหดร้าย หรือลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้ที่ถูกลงโทษ การลงโทษทางกาย เช่น การเฆี่ยน หรือการตัดอวัยวะ ถือเป็นการลงโทษที่ทารุณโหดร้าย กฎหมายอาญาของประเทศไทยกำหนดโทษเพื่อให้ศาลสามารถพิพากษาใช้กับจำเลยไว้ห้าประเภทคือ 1. ประหารชีวิต (Execution) 2. จำคุก (Imprisonment) 3. กักขัง (Detention) 4. ปรับ (Fine) 5. ริบทรัพย์ (Forfeiture of Property) นับตั้งแต่ได้จัดทำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) มีหลายประเทศได้ยกเลิก (Abolition) หรือระงับการใช้ (Moratorium) โทษประหารชีวิต นอกจากนั้นบางประเทศถือว่าการลงโทษจำคุกตลอดชีวิต (Life Imprisonment) ขัดต่อสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ


PENOLOGY

คำแปล : ทัณฑวิทยา

ความหมาย :

วิชาความรู้ หรือวิทยาการเกี่ยวกับโทษทางอาญา และวิธีการลงโทษผู้กระทำผิด ทัณฑวิทยาในปัจจุบันมีวิวัฒนาการมาจากขบวนการปฏิรูประบบเรือนจำในยุโรปในตอนปลายศตวรรษที่สิบเก้า ซึ่งเปลี่ยนแปลงความคิดจากเดิมที่เห็นว่าระบบทัณฑสถานเป็นการควบคุมบุคคลที่เป็นอันตรายต่อสังคมไว้ให้ออกจากสังคม มาเป็นการเน้นบทบาทของการแก้ไขฟื้นฟูพฤติกรรมและจิตใจของผู้กระทำผิดให้อยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในสังคมได้ ปัจจุบันทัณฑวิทยาเป็นแขนงหนึ่งของอาชญาวิทยา (Criminology)หรือวิชาว่าด้วยอาชญากรรมซึ่งศึกษาเกี่ยวกับสาเหตุของอาชญากรรมและการป้องกันอาชญากรรม จัดอยู่ในสาขาสังคมวิทยา (Sociology)


PERIODIC REPORTS

คำแปล : รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามวาระ

ความหมาย :

รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามวาระ หมายถึงรายงานที่รัฐภาคีต้องจัดทำขึ้นและส่งไปยังองค์กรสิทธิมนุษยชนที่มีหน้าที่พิจารณาการดำเนินการของรัฐในด้านสิทธิมนุษยชนตามกลไกตามสนธิสัญญา (Treaty- Based Mechanism) เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน(Human Rights Committee) ประจำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิเด็ก (Child Rights Committee) ประจำอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กหรือกลไกที่จัดตั้งขึ้นตามกฎบัตรสหประชาชาติ (Charter-BasedMechanism) เช่น คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (Human Rights Council) วาระ (Period) ในการเสนอรายงานขึ้นอยู่กับตราสารที่ก่อพันธะหน้าที่นั้นเอง เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กกำหนดให้รัฐภาคีเสนอรายงานฉบับแรก (Initial Report)ภายในสองปีหลังจากการเข้าเป็นภาคี และต้องเสนอรายงานฉบับต่อไปทุกรอบสี่ปีในขณะที่รายงาน “การประเมินสถานการณ์ทั่วไปของสิทธิมนุษยชน” (Universal Periodic Review) ภายใต้กลไกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (Human Rights Council)กำหนดวาระในการายงานเท่ากันทุกสี่ปี ในรายงานฉบับแรก (Initial Report) เป็นการให้ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับประเทศเช่นระบบการปกครอง ระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ ข้อมูลประชากร และสถานการณ์ทั่วไปเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ส่วนรายงานฉบับต่อมาเป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนในประเทศในรอบที่ผ่านมา การรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามวาระช่วยให้รัฐภาคีได้ทบทวนจุดอ่อนจุดแข็งของการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐ ขณะเดียวกันเป็นการเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ที่อาจมีปัญหาคล้ายคลึงกัน นอกจากนั้นรัฐภาคียังได้รับการแนะนำทางด้านเทคนิคเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชน หรือเพื่อนำไปพัฒนาการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้ดียิ่งขึ้น


PERPETRATOR

คำแปล : อาชญากรที่ทำความผิดร้ายแรง / ฆาตกร

ความหมาย :

ผู้กระทำความผิด หรือผู้ใช้ หรือบงการให้ผู้อื่นกระทำความผิดอาญาที่ร้ายแรง หรือผู้ที่ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำด้วยเจตนาที่ชั่วร้าย บางทีใช้คำว่า “ฆาตกร” เรียกบุคคลที่ฆ่าผู้อื่น หรือก่อให้เกิดความตาย


PERSON WITH DISABILITIES, THE RIGHTS OF

คำแปล : สิทธิผู้พิการ

ความหมาย :

ผู้พิการคือบุคคลที่มีความด้อยทางด้านร่างกาย หรือสมองจนเป็นเหตุให้ไม่อาจมีโอกาสใช้สิทธิมนุษยชนได้อย่างสมบูรณ์ดังเช่นคนปกติ สิทธิผู้พิการกระตุ้นให้ภาครัฐและเอกชนอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ในการประกันสิทธิของผู้พิการที่เป็นธรรมตามขอบเขตที่สมควร ทั้งในฐานะบุคคลที่จะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมเสมอเหมือนบุคคลอื่น และการส่งเสริมสิทธิของผู้พิการทุพพลภาพในประเด็นการจัดบริการสาธารณะเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่บุคคลเหล่านี้ รวมถึงต้องวางมาตรการในการยกระดับจิตสำนึกของสังคมเกี่ยวกับผู้พิการ สิทธิ ความจำเป็น ศักยภาพ และสิ่งที่ผู้พิการสามารถให้แก่สังคมด้วย รัฐต้องสนองตอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นโดยยกเลิกกฎหมายหรือระบบการกีดกันใดๆที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสิทธิของผู้พิการ รวมทั้งจัดให้มีงบประมาณที่เพียงพอ ทรัพยากรที่รัฐมีอยู่ต้องจัดสรรอย่างเท่าเทียมกันไม่ละเลยกลุ่มผู้พิการ โดยหลักการสำคัญ ได้แก่ การรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การส่งเสริมให้บุคคลดำรงชีวิตได้ด้วยตนเอง การขจัดการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ และการสร้างภราดรภาพระหว่างผู้พิการกับคนอื่นๆ ในสังคม


PLEA BARGAINING

คำแปล : การต่อรองในเรื่องคำให้การ

ความหมาย :

การเจรจาระหว่างอัยการกับจำเลยในคดีอาญาเพื่อให้จำเลยรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดเพื่อแลกกับการที่อัยการตกลงว่าจะฟ้องจำเลยในคดีที่มีโทษเบากว่าที่ได้กระทำผิด การต่อรองในเรื่องคำให้การจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมาย และจะต้องทำเป็นสัญญา ในบางกรณีถ้าจำเลยยอมรับสารภาพ คดีก็จะระงับโดยไม่ต้องมีการไต่สวน กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของประเทศที่ใช้ระบบคอมมอนลอว์บางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และอินเดีย ได้บัญญัติรับรองการต่อรองในเรื่องคำให้การ โดยกำหนดเงื่อนไขของการต่อรองเพื่อไม่ให้จำเลยเสียโอกาสในการต่อสู้คดี ส่วนในประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมายจะไม่มีการต่อรองคำให้การเพราะในระบบนี้จะยึดถือการค้นหาความจริงจากพยานหลักฐานเป็นสำคัญและแม้ว่าจำเลยจะรับสารภาพ ศาลก็ยังต้องมีหน้าที่ไต่สวนและสืบพยานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยก่อนลงโทษ การจูงใจให้ผู้ต้องหารับสารภาพโดยสัญญาว่าจะได้รับการลดหย่อนโทษอาจถือได้ว่าจำเลยรับสารภาพโดยไม่เต็มใจ และเป็นเหตุให้ศาลไม่ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีได้ (ดูCONFESSION)


PLEADING

คำแปล : 1. คำให้การรับหรือปฏิเสธความผิดตามฟ้อง (คดีอาญา) 2. คำคู่ความ (คดีแพ่ง)

ความหมาย :

1. คำให้การรับหรือปฏิเสธความผิดตามฟ้อง ใช้ในคดีอาญาเป็นถ้อยคำที่จำเลยแถลงต่อศาลในตอนต้นของกระบวนการพิจารณาคดีในการดำเนินคดีอาญาเมื่อศาลรับคำฟ้องกล่าวหาว่า จำเลยกระทำผิดอาญาแล้วศาลจะอ่านข้อกล่าวหาให้จำเลยฟัง และถามจำเลยว่าได้กระทำความผิดตามคำฟ้อง หรือไม่ เพื่อให้จำเลยให้การรับหรือปฏิเสธ ถ้าจำเลยให้การยอมรับผิดตามฟ้องก็จะใช้ “Plead Guilty” ถ้าจำเลยให้การว่า ไม่ได้กระทำผิดตามฟ้องก็จะใช้ “Plead Innocence” ในคดีอาญา ถึงแม้ว่าจำเลยจะให้การยอมรับผิด แต่ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำตั้งแต่ห้าปี หรือโทษที่สูงกว่า โจทก์ยังต้องมีหน้าที่นำสืบให้ศาลเชื่ออย่าง “ปราศจากข้อสงสัย (Beyond Doubt)” ว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงตามฟ้อง ถ้าโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ ศาลก็จะพิพากษาว่าจำเลยไม่ผิด และปล่อยจำเลย \ 2. คำคู่ความ (คดีแพ่ง) หมายถึง เอกสารใดๆ ที่โจทก์ หรือจำเลยได้ยื่นแก่ศาลเพื่อประกอบในสำนวนคดีในการดำเนินการพิจารณาคดี


POLICE CUSTODY

คำแปล : อยู่ในการควบคุมตัวของตำรวจ

ความหมาย :

อำนาจในการบังคับบุคคลโดยการจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนไหวการควบคุมตัวจะต้องกระทำโดยอำนาจของกฎหมาย นับตั้งแต่เวลาที่ถูกจับกุมตัว การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวอาจกระทำโดยการจับกุม หรือการควบคุมตัวที่กระทำโดยหมายศาล หรือเป็นการจับกุมบุคคลที่กระทำผิดซึ่งหน้าดังนั้นไม่ต้องมีหมายจับ (ดู ARREST) การควบคุมตัวมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันภยันตรายที่บุคคลที่ถูกควบคุมตัวอาจก่อขึ้น และเพื่อนำตัวบุคคลนั้นเข้าสู่กระบวนการพิจารณาดำเนินคดีโดยศาล เพื่อเป็นการป้องกันอาชญากรรมทำให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยขึ้นในสังคม ขณะเดียวกันทำให้สังคมมั่นใจว่าบุคคลที่ก่ออาชญากรรมจะต้องถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม ดังนั้นกรณีที่ไม่ปรากฏว่าบุคคลนั้นจะก่ออันตรายขึ้น หรือได้สอบสวนบุคคลนั้นได้ข้อมูลที่พอเพียงในการดำเนินคดีแล้ว ควรจะต้องปล่อยตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัวไป ซึ่งอาจปล่อยโดยให้มีหลักประกัน (ดู RELEASE ON BAIL)


POLLUTER PAYS PRINCIPLE

คำแปล : หลักการเก็บภาษีจากผู้ก่อมลพิษ

ความหมาย :

หลักการเก็บภาษีจากผู้ก่อมลพิษเป็นแนวคิดภายใต้หลักกฎหมายสิ่งแวดล้อม บัญญัติขึ้นเพื่อกำหนดความรับผิดให้ผู้ก่อมลภาวะต้องรับผิดชอบต่อการก่อให้เกิดมลพิษที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติหลักการนี้ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาคโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) นอกจากนี้หลักการดังกล่าวยังได้รับการบรรจุในข้อ16 ของปฏิญญารีโอว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ผู้ก่อมลพิษต้องเสียภาษีเพื่อการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ (Ecological Taxation) เช่น การเสียภาษีในการทำความสะอาด และกำจัดขยะมีพิษอันตราย เสียภาษีในการซื้อโควตาคาร์บอนที่ปลดปล่อยสู่บรรยากาศเกินกว่าระดับที่ได้กำหนดไว้หรือการเสียภาษีชดเชยคาร์บอนข้ามแดน (Border Carbon Adjustment – BCA) ปัญหาของการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวนี้ อยู่ที่การเคลื่อนย้ายฐานการผลิตจากประเทศที่พัฒนาแล้วและมีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างเข้มงวด มาลงทุนยังประเทศกำลังพัฒนาทำให้ประเทศเหล่านี้ต้องกลายเป็นแหล่งปลดปล่อยคาร์บอน แม้ผู้รับภาระภาษีดังกล่าวเป็นผู้ผลิต แต่ผู้ผลิตย่อมโยกต้นทุนทางด้านภาษีไปยังผู้บริโภคต่อไป ในขณะที่ผู้ได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจะย้อนกลับไปประเทศที่เป็นแหล่งที่มาของการลงทุน ปัญหานี้ย่อมกระทบต่อสิทธิมนุษยชนในแง่ของประชาชนในประเทศที่ยากจนอันเป็นฐานที่ตั้งของอุตสาหกรรมเหล่านี้ ต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีคุณภาพ


POSITIVE RIGHTS

คำแปล : สิทธิเชิงบวก

ความหมาย :

สิทธิเชิงบวก เป็นแนวคิดหรือทฤษฎีทางกฎหมาย / รัฐศาสตร์ ที่เห็นว่าสิทธิมนุษยชนสามารถจำแนกเป็นสองประเภทคือ สิทธิเชิงบวก และสิทธิเชิงลบ (ดูNegative Rights) สิทธิเชิงบวก หมายถึงสิทธิมนุษยชนซึ่งก่อพันธะหน้าที่ให้ผู้มีหน้าที่ (Duty Bearers) ไม่เพียงแต่หน้าที่ในการไม่แทรกแซง ยุ่งเกี่ยวกับผู้ทรงสิทธิ (Right Holders) หรือต้องหลีกเลี่ยงการละเมิดเท่านั้น แต่รัฐยังต้องกระทำการเพื่อให้ผู้ทรงสิทธิได้บรรลุถึงการมีและใช้สิทธิ เช่น การใช้มาตรการที่เป็นการยืนยันสิทธิ (Affirmative Measures) เช่น การที่รัฐมีนโยบายให้การศึกษาแบบให้เปล่าแก่เด็กทุกคน หรือการจัดโครงการให้ทุนยืมเรียนในระดับอุดมศึกษาถือว่าเป็นภาระหน้าที่ในการทำให้บรรลุถึงสิทธิในการศึกษา ตามแนวคิดสิทธิมนุษยชนแบบเดิมเห็นว่าสิทธิตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (ICESCR) เป็นสิทธิเชิงบวก ส่วนสิทธิตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) เป็นสิทธิเชิงลบอันเป็นเหตุให้การจัดทำตราสารสิทธิมนุษยชนแบ่งแยกเป็นสองฉบับ ในปัจจุบันแนวคิดการแบ่งแยกสิทธิมนุษยชนระหว่าง “สิทธิเชิงบวก” กับ “สิทธิเชิงลบ” ไม่ค่อยได้รับการยอมรับ (ดูเปรียบเทียบ Negative Rights) ตามความเห็นของคณะกรรมการสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม รัฐมีพันธะหน้าที่ต้องทำให้สิทธิบรรลุถึงความเป็นจริงอย่างคืบหน้า กล่าวคือรัฐต้องส่งเสริมสิทธิในการมีคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น มีอาหาร ยารักษาโรค ที่พักอาศัย และเครื่องนุ่งห่ม จัดทรัพยากรมาส่งเสริมให้ผู้ทรงสิทธิได้บรรลุถึงการมีสิทธิอย่างแท้จริง สิทธิประเภทนี้จึงสัมพันธ์กับทรัพยากรที่มี ดังนั้นจึงอาจต้องอาศัยความร่วมมือ และแสวงหาทรัพยากรมาจากหลายส่วน รัฐอาจมีหน้าที่ในเบื้องต้นเท่าที่รัฐจะสามารถจัดให้ได้ นอกจากนั้นรัฐอาจแสวงหาความร่วมมือจากประชาคมโลกเพื่อให้เกิดการบรรลุถึงความเป็นจริงอย่างคืบหน้า


PRE-TRIAL DETENTION

คำแปล : การคุมขังก่อนการพิจารณาคดี

ความหมาย :

การจำกัดเสรีภาพของผู้ต้องหาในคดีอาญาโดยให้อยู่ในการควบคุมของเจ้าพนักงานสอบสวนก่อนที่จะมีการนำตัวผู้ต้องหามาไต่สวนดำเนินคดีในศาลการคุมขังก่อนการพิจารณาจึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพิจารณาที่บุคคลถูกควบคุมตัวโดยฝ่ายบริหาร บุคคลที่ถูกคุมขังตัวก่อนการพิจารณายังไม่ใช่ผู้กระทำผิด ดังนั้นจึงปฏิบัติต่อบุคคลที่ถูกควบคุมตัวเสมือนนักโทษมิได้ และการคุมขังจะต้องแยกจากนักโทษที่ถูกพิพากษาความผิดแล้ว ปกติในการคุมขังก่อนการพิจารณาผู้ต้องหาจะถูกควบคุมตัวในห้องขังของเจ้าพนักงานตำรวจ ซึ่งอาจเป็นสถานีตำรวจ หรือศูนย์ควบคุมตัวก่อนการพิจารณาที่จัดตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะ วัตถุประสงค์ของการคุมขังบุคคลในขั้นตอนนี้มีขึ้นเพื่อการสอบสวนผู้กระทำผิดและเพื่อทำให้มั่นใจว่าในการฟ้องจะมีตัวจำเลยปรากฏต่อศาล การคุมขังระหว่างรอการพิจารณามีขึ้นเนื่องจากผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาไม่สามารถหาหลักประกันเพื่อประกันตัวในการปล่อยตัวชั่วคราว หรือเป็นผู้ที่ศาลเห็นว่าไม่สมควรให้ประกันตัว (ดู RELEASE ON BAIL) ระยะเวลาในการคุมขังจะต้องให้สั้นที่สุดซึ่งมักกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดังนั้นเพื่อป้องกันฝ่ายบริหารควบคุม /คุมขังบุคคลโดยมิชอบ หรือโดยไม่มีเหตุอันควร กฎหมายจึงมักกำหนดให้ศาลเป็นผู้พิจารณาเหตุผลของฝ่ายบริหารในการขยายระยะเวลาการคุมขังตัวบุคคล ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยกำหนดให้เจ้าพนักงานสอบสวนมีอำนาจคุมขังผู้ต้องหาไว้เพื่อการสอบสวนคดีได้ไม่เกินกว่าสี่สิบแปดชั่วโมง นับแต่เวลาที่มาถึงสถานีตำรวจ ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเพื่อทำการสอบสวนหรือเหตุจำเป็นอย่างอื่น จะยืดระยะเวลาได้ไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมง (เท่าที่จำเป็น) แต่รวมกันแล้วต้องไม่ให้เกินสามวัน ถ้ามีความจำเป็นที่จะควบคุมผู้ถูกจับเกินกว่าสามวัน เพื่อให้การสอบสวนเสร็จสิ้น พนักงานสอบสวนหรืออัยการ ต้องยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลศาลอาจเรียกพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนมาชี้แจงเหตุจำเป็นหรืออาจเรียกพยานหลักฐานมาเพื่อประกอบการพิจารณาก็ได้ โดยใช้อัตราโทษคดีที่ถูกกล่าวหาเป็นเกณฑ์กำหนดระยะเวลาคุมขัง ดังนี้ • ความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินหกเดือน ศาลมีอำนาจสั่งขังได้ครั้งเดียว มีกำหนดไม่เกินเจ็ดวัน • ความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่าหกเดือนแต่ไม่ถึงสิบปี ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติด ๆ กันได้แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกินสิบสองวัน และรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกินสี่สิบแปดวัน • ความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไปศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติดๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกินสิบสองวัน และรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกินแปดสิบสี่วัน ขั้นตอนการคุมขังที่เกินอำนาจเจ้าพนักงานสอบสวนนี้ เรียกว่า“การฝากขัง” โดยผู้ต้องหาจะอยู่ภายใต้อำนาจของศาล ซึ่งปกติเจ้าพนักงานสวบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปฝากขังไว้ที่ทัณฑสถาน


PREAMBLE

คำแปล : อารัมภบท / คำปรารภ

ความหมาย :

ข้อความส่วนต้นของหนังสือ หรือเอกสารที่เป็นการเกริ่นนำเพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์ และเนื้อหาของหนังสือ หรือเอกสาร อารัมภบท / คำปรารภ ในกฎหมาย หรือตราสารสิทธิมนุษยชนมักจะกล่าวถึงหลักการ วัตถุประสงค์ เจตนารมณ์ของกฎหมาย หรือตราสารที่จัดทำขึ้น เช่น อารัมภบทของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนส่วนหนึ่งกล่าวว่า “ด้วยเหตุที่การยอมรับศักดิ์ศรีประจำตัว และสิทธิซึ่งเสมอกัน และไม่อาจโอนแก่กันได้ของสมาชิกทั้งปวงแห่งครอบครัวมนุษย์เป็นรากฐานของเสรีภาพ ความยุติธรรม และสันติภาพ...ดังนั้นบัดนี้สมัชชาจึงประกาศให้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนี้เป็นมาตรฐานร่วมแห่งความสำเร็จสำหรับประชาชนทั้งหลายและประชาชาติทั้งปวง...” อารัมภบท / คำปรารภ มีความสำคัญในการตีความกฎหมาย หรือเอกสารตราสารเพราะเป็นส่วนที่แสดงเจตนารมณ์ในการตรากฎหมาย หรือจัดทำตราสารฉบับนั้น


PREJUDICE

คำแปล : อคติ

ความหมาย :

อคติ ถือเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาความเสมอภาคของบุคคลในกระบวนการบังคับใช้สิทธิโดยรัฐ และการบังคับตามสิทธิโดยตุลาการ เนื่องจากอคติเป็นการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลหรือกลุ่มเสี่ยง ด้วยเหตุแห่งความแตกต่างทางสถานภาพอันเนื่องมาจากเชื้อชาติ ศาสนา ลัทธิความเชื่อ สถานะทางเศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ อันเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เช่น การมีอคติทางเพศในคำพิพากษาเกี่ยวกับเพศ การมีอคติต่อคนต่างด้าวในกระบวนการยุติธรรม ทำให้เสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิ


PRELIMINARY EXAMINATION

คำแปล : การไต่สวนมูลฟ้อง

ความหมาย :

กระบวนพิจารณาคดีความอาญาในขั้นต้นของการนำคดีสู่ศาลเพื่อให้ฝ่ายตุลาการได้ใช้อำนาจพิจารณาพยานหลักฐานเบื้องต้น ว่ามีมูลแห่งคดีที่จะรับคำฟ้องไว้พิจารณาความผิดของจำเลยได้หรือไม่ ในชั้นนี้จะไม่มีการพิจารณาตัดสินความผิดและไม่มีการเรียกจำเลยมาให้การไต่สวน แต่ผู้ที่พิจารณาไต่สวนมูลฟ้องจะพิจารณาแต่เพียงพยานหลักฐานของโจทก์ว่าพอเชื่อได้หรือไม่ว่ามีการกระทำความผิดอาญาขึ้นถ้าผู้ไต่สวนมูลฟ้องเห็นว่าไม่เป็นความผิดก็จะสั่งจำหน่ายคดี หรือยกฟ้อง แต่ถ้าเห็นว่ามีการกระทำความผิดอาญาก็สั่งรับเรื่องไว้พิจารณาไต่สวน หรือรับรองคำฟ้องชั้นไต่สวนมูลฟ้องเพื่อให้โจทก์นำไปฟ้องต่อศาลที่มีอำนาจต่อไป กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของประเทศต่าง ๆ ได้กำหนดวิธีการไต่สวนมูลฟ้องแตกต่างกัน เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาในความผิดบางประเภท อัยการจะต้องยื่นคำฟ้องชั้นไต่สวนมูลฟ้อง (ดู BILL OFINDICTMENT) ต่อคณะลูกขุนใหญ่ (Grand Jury) เพื่อให้รับรองคำฟ้องก่อนที่จะฟ้องศาลเพื่อพิจารณาคดี ในประเทศอังกฤษโจทก์ต้องยื่นคำฟ้องประเภทนี้ต่อศาลมาจิสแทรท (Court of Magistrate) เพื่อให้รับรองก่อนยื่นคำฟ้องต่อศาล ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court) กำหนดให้อัยการศาลมีหน้าที่ไต่สวนมูลฟ้องก่อนจะรับคำฟ้อง ส่วนศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (European Court of Human Rights) มีกระบวนการคล้ายกับการไต่สวนมูลฟ้องแต่เรียกว่า “การพิจารณารับเรื่องร้องเรียน” (ดูADMISSIBILITY) ซึ่งทำโดยผู้พิพากษาศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป ก่อนจะเริ่มขั้นตอนการพิจารณาคดี กฎหมายกำหนดให้ไต่สวนมูลฟ้องเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้บุคคลถูกกลั่นแกล้งจากการฟ้องโดยที่ไม่มีมูลเหตุความผิด เพราะการที่บุคคลถูกฟ้องเป็นจำเลยคดีอาญานั้นทำให้เกิดภาระหน้าที่ในการแก้ต่างคดีและเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้บุคคลถูกจับกุมควบคุมตัวโดยพลการโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ด้วยการแกล้งฟ้องเป็นคดีอาญา นอกจากนั้นถ้าไม่มีการกลั่นกรองคดี อาจทำให้คดีขึ้นสู่ศาลโดยไม่จำเป็น อันส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้ ตามกฎหมายไทย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้แบ่งการไต่สวนมูลฟ้องเป็นสองกรณีคือ กรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์ หรือผู้เสียหายฟ้องคดี ศาลจะมีคำสั่งให้ทำการไต่สวนมูลฟ้องทุกกรณี ในกรณีที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้อง ศาลจะสั่งให้มีการไต่สวนมูลฟ้องก่อนก็ได้ ทั้งนี้เนื่องจากการฟ้องโดยอัยการจะต้องมีการพิจารณาพยานหลักฐานโดยพนักงานอัยการจนพอเชื่อได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้อง


PRESCRIBED BY LAW

คำแปล : ตามที่กฎหมายกำหนด

ความหมาย :

ตามที่กฎหมายกำหนดเป็นหลักกฎหมายมหาชนและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ หมายถึง ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพื่อประโยชน์สาธารณะนั้นจะต้องกระทำโดยบทบัญญัติกฎหมาย เพื่อให้การจำกัดนั้นมีความชอบธรรม ทั้งนี้เพราะกฎหมาย มีกระบวนการตรวจสอบและจัดทำขึ้นโดยสถาบันของสังคมที่สามารถตรวจสอบได้ และกฎหมายมีการประกาศใช้ทั่วไปทำให้ประชาชนสามารถรับรู้ได้ว่ารัฐได้ออกกฎเกณฑ์ควบคุมความประพฤติอย่างไรบ้าง หลักการนี้ปรากฏในอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนทั่วไป เช่น ICCPR, ECHR Article 8-10 ใน UDHR Article 28 ตราสารระหว่างประเทศได้กำหนดหลักความชอบด้วยกฎหมายในการจำกัดสิทธิเสรีภาพโดยใช้ถ้อยคำต่างกัน แต่มีความหมายที่เหมือนกัน เช่น ICCPRข้อ 9 Liberty and Security of Person “เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ”(in accordance with such procedure as are established by law”)หรือ ข้อ 12 Freedom of Movement บัญญัติโดยกฎหมาย (“provided by law”)ข้อ17 Privacy ไม่แทรกแซงโดยมิชอบโดยกฎหมาย (unlawful interference) ข้อ 18 Privacy ตามที่กฎหมายกำหนด(prescribed by law) ข้อ 19 Freedom of Expression บัญญัติโดยกฎหมาย (provided by law) ข้อ 21 Freedom of Assembly สอดคล้องกับกฎหมาย(conform with law) แนวคำวินิจฉัยของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปได้เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับกฎหมายไว้ว่า “กฎหมาย” หมายถึง กฎ ระเบียบ หรือคำสั่ง และมีสภาพบังคับที่ประชาชนต้องปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ และไม่ว่าจะเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายอาญา หรือกฎหมายแพ่ง และไม่ว่าจะออกโดยองค์กรใด แต่แนวปฏิบัติไม่ถือว่าเป็นกฎหมายถ้าไม่มีสภาพบังคับทั่วไป


PRINCIPLES FOR THE PROTECTION OF PERSONS MENTAL ILLNESS THE IMPROVEMENT OF MENTAL HEALTH CARE

คำแปล : หลักการว่าด้วยการคุ้มครองผู้ป่วยทางจิตและการปรับปรุงการดูแลสุขภาพจิต

ความหมาย :

หลักการและแนวปฏิบัติสำหรับการคุ้มครองและดูแลสุขภาพจิตและการรักษาพยาบาลผู้ป่วยทางจิตเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้รับการรับรองโดยสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ใน ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) หลักการฯ ได้ย้ำถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของบุคคลที่ป่วยทางจิต และได้กำหนดแนวปฏิบัติสำหรับสถาบัน และบุคลากรในสถานบำบัดโรคจิต หรือสถาบันที่เกี่ยวข้องในการดูแลผู้ป่วยทางจิตควรที่ต้องคำนึง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการรักษาเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย และต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ป่วยทางจิต หลักการฯ ได้ย้ำว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการดูแลสุขภาพจิตอย่างดีที่สุดเท่าที่จะมีได้ ซึ่งสิทธินี้จะต้องอยู่ในระบบการประกันสุขภาพของประชาชน ผู้ป่วยทางจิตจะต้องได้รับการรักษาพยาบาลอย่างมีมนุษยธรรม โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุสุขภาพทางจิต การได้รับการปฏิบัติพิเศษหรือการมีมาตรการพิเศษเพื่อสนองความต้องการ หรือทำให้บุคคลที่ป่วยทางจิตมีสภาพดีขึ้น ไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ นอกจากนั้นหลักการฯ ได้กำหนดแนวทางในการดูแลรักษาผู้ป่วยทางจิตไว้ เช่น • ในการตัดสินว่าบุคคลใดเป็นผู้ป่วยทางจิตนั้นจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นสากลจะต้องไม่บังคับให้บุคคลเข้าตรวจสอบทางการแพทย์เพื่อตัดสินว่าผู้นั้นเป็นผู้ป่วยทางจิต เว้นแต่เป็นไปตามกระบวนการตามกฎหมายที่มีความชอบธรรม • การใช้ยาจะต้องเป็นไปตามจำเป็นเพื่อให้เกิดผลต่อสุขภาพที่ดีที่สุดเพื่อการบำบัดและวินิจฉัยโรคเท่านั้น ต้องไม่ทำเพื่อเป็นการลงโทษหรือเพื่อความสะดวกสบายของผู้อื่น • จะทดลองการรักษาทางการแพทย์โดยปราศจากความยินยอมไม่ได้เว้นแต่ผู้ป่วยไม่สามารถให้ความยินยอมได้ ความยินยอมของผู้ป่วยนั้นจะต้องอยู่บนพื้นฐานของการให้ข้อมูลที่ถูกต้องรอบด้านเพื่อให้ผู้ป่วยตัดสินใจ • ต้องใช้วิธีการทุกอย่างเพื่อให้ผู้ป่วยได้ทราบลักษณะของการรักษาและทางเลือกอื่นที่เป็นไปได้ • จะต้องไม่ใช้เครื่องพันธนาการหรือแยกขังผู้ป่วยโดยผู้ป่วยไม่ยินยอมเว้นแต่เป็นไปตามกระบวนการในการดูแลที่ไม่สามารถเลี่ยงได้ • ผู้ป่วยจะต้องได้รับการเคารพสิทธิในความเป็นส่วนตัว และมีเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่น • ประชาชนต้องสามารถเข้าถึงสถาบันดูแลสุขภาพจิตได้เช่นเดียวกับสถาบันสุขภาพอื่น • การรับผู้ป่วยทางจิตในชั้นแรกโดยผู้ป่วยไม่สมัครใจเข้ารับการพยาบาลจะต้องอยู่ในช่วงระยะเวลาอันสั้นเพื่อสังเกตการณ์และรักษาเบื้องต้นระหว่างรอตรวจสอบ • นักโทษหรือผู้ถูกควบคุมตัวจะต้องได้รับการดูแลด้านสุขภาพจิตที่ดีที่สุดเท่าที่มีได้


PRIVATE PROSECUTION

คำแปล : การฟ้องคดีอาญาโดยราษฎร / การฟ้องคดีอาญาโดยผู้เสียหาย

ความหมาย :

การกล่าวหาบุคคลว่าทำผิดอาญาต่อศาลที่มีอำนาจรับคดีไว้พิจารณาซึ่งเป็นการกระทำโดยผู้เสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดอาญา หรือผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย หรือทนายของบุคคลดังกล่าวเพื่อให้มีการลงโทษบุคคลที่กระทำผิด กฎหมายกำหนดให้การฟ้องต้องทำเป็นหนังสือตามแบบที่เรียกว่า “คำฟ้อง” นอกจากนั้นกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญายังได้กำหนดเงื่อนไขสำหรับคดีอาญาที่ราษฎรเป็นโจทก์ว่า • จะต้องมีการแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่ามีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้น เพื่อไม่ให้มีการแกล้งฟ้องบุคคล • ศาลมีอำนาจไต่สวนมูลฟ้องก่อนรับคำฟ้อง อันเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นของคดี ซึ่งต่างจากคดีที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้องซึ่งศาลไม่จำเป็นต้องมีการไต่สวนมูลฟ้อง คดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ อัยการสามารถเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายได้และถ้าอัยการเห็นว่าผู้เสียหายกระทำการที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินคดี อัยการอาจขอให้ศาลสั่งให้ผู้เสียหายระงับการกระทำนั้นได้