Human Rights Dictionary : ศัพท์สิทธิมนุษยชน

 

 

A B C D E F G H I J K L M N O P Q R S T U V W X Y Z ALL

MAASTRICHT GUIDELINES

คำแปล : ข้อแนะนำแห่งมาสทริคท์

ความหมาย :

เอกสารที่จัดทำขึ้นโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่มีขึ้นใน ค.ศ. 1997 (พ.ศ. 2540) ที่มหาวิทยาลัยมาสทริคท์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ เกี่ยวกับสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เพื่อเสนอแนวทางให้กับรัฐต่าง ๆ ในการนำหลักการแห่งลิมเบิร์ก (ดู LIMBURG PRINCIPLES) มาปรับใช้โดยรัฐ เพื่อให้บรรลุพันธะหน้าที่ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ข้อแนะนำแห่งมาสทริคท์ได้ย้ำถึงความสำคัญของสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่มีต่อสังคมโลก โดยชี้ว่า การละเลย ไม่เข้าใจ ไม่ได้ตระหนักอย่างเพียงพอในความสำคัญของสิทธิด้านนี้ ทำให้สังคมโลกไม่สามารถบรรลุถึงเป้าหมายที่สำคัญของการพัฒนาประชากรของโลก จึงเกิดมีความเหลื่อมล้ำอย่างมากในด้านเศรษฐกิจ เช่น ความยากจนที่มีอย่างทั่วไป ความร่ำรวยที่กระจุกตัวในกลุ่มคนเพียงบางกลุ่ม เป็นต้น ข้อแนะนำแห่งมาสทริคท์กำหนดกรอบพันธะหน้าที่ของรัฐตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เป็นสามด้านคือ การเคารพสิทธิ (Respect) การปกป้องคุ้มครอง (Protect) และการทำให้เกิดขึ้นจริง (Fulfil) โดยรัฐจะต้องดำเนินมาตรการต่าง ๆ ให้บรรลุหน้าที่ทั้งสามด้าน หลักการสำคัญในข้อแนะนำนี้ คือ พันธกรณีในการดำเนินการ (Obligation of Conduct) และพันธกรณีในผลสำเร็จหรือผลลัพธ์ (Obligation of Result) รัฐจะต้องดำเนินการโดยมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อทำให้บรรลุถึงการมีสิทธิและสามารถวัดผลได้โดยมีการกำหนดเป้าหมาย และประเมินผลจากความสำเร็จเทียบกับเป้าหมาย ข้อแนะนำแห่งมาสทริคท์ยังได้อธิบายข้อขัดข้องที่รัฐมักอ้างว่าขาดแคลนทรัพยากร มีทรัพยากรอย่างจำกัด อย่างไรก็ตามการขาดแคลนทรัพยากรไม่ใช่ปัญหาหลักของการดำเนินพันธกรณีที่ไม่สามารถบรรลุผลขั้นต่ำได้เพราะมีรัฐที่ขาดแคลนทรัพยากรมากกว่าโดยเปรียบเทียบยังสามารถดำเนินการให้บรรลุผลได้


MAGNA CARTA (Latin)

คำแปล : มักนา คาร์ตา / มหากฎบัตร

ความหมาย :

คำนี้เป็นภาษาละติน แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “Great Charter” บางทีก็ใช้“magna carta libertatum” หรือ “มหากฎบัตรแห่งเสรีภาพ (Great Charter of Liberties)” เอกสารทางกฎหมายที่พระเจ้าจอห์นแห่งอังกฤษทรงทำขึ้นใน ค.ศ. 1215(พ.ศ. 1758) ที่เป็นผลจากการบังคับของบรรดาขุนนางและบาทหลวงเพื่อจำกัดการใช้พระราชอำนาจของพระองค์โดยการประกาศให้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานบางประการแก่ราษฎร เอกสารนี้ต่อมามีการแก้ไขเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง และใช้เป็นกรอบในการปกครองประเทศอังกฤษ เนื้อหาของมักนา คาร์ตา มีหกสิบสามข้อ (Clauses) แบ่งได้เป็นเก้ากลุ่ม เนื้อหาของกลุ่มที่สำคัญ เช่น การรับรองเสรีภาพของศาสนจักร สิทธิของขุนนางในการถือครองที่ดินในระบบฟิวดัล และความสัมพันธ์ของ “ข้าติดที่ดิน”สิทธิเสรีภาพในการเดินทางของพ่อค้าและเสรีภาพในการทำการค้า การรับรองสิทธิเสรีภาพของบุคคลและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ถูกต้องตามหลักกฎหมาย เช่น การลงโทษบุคคลจะต้องทำตามกฎหมาย และห้ามการเก็บภาษีตามอำเภอใจ เป็นต้น ปัจจุบันความสำคัญของมักนา คาร์ตาทางกฎหมายในประเทศอังกฤษลดความสำคัญลงเนื่องจากได้เปลี่ยนการปกครองมาเป็นระบบรัฐสภา แต่ยังคงเป็นสัญลักษณ์ของการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประกันโดยกษัตริย์ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ถือว่ากษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาดในการบริหารแผ่นดิน ในทางประวัติศาสตร์และการเมือง มักนา คาร์ตาถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของโลก


MASS EXODUS

คำแปล : การอพยพหลั่งไหลของประชากรจำนวนมาก

ความหมาย :

วลีนี้ในความหมายทั่วไป หมายถึง การออกเดินทางของผู้คนจำนวนมากพร้อม ๆ กัน ในคัมภีร์ทางศาสนาคริสต์ หมายถึง การเดินทางของชาวยิวจากดินแดนอียิปต์สู่ปาเลสไตน์ที่นำโดยโมเสส ในความหมายของสิทธิมนุษยชน หมายถึง การอพยพหลั่งไหลของประชากรจำนวนมากที่เดินทางพร้อมกัน ไม่ว่าจะมีวัตถุประสงค์ในการอพยพช่วงสั้น ๆ หรือเป็นการย้ายถิ่นฐานถาวรก็ตาม และไม่ว่าการอพยพหลั่งไหลนั้นจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม เช่น การหลบหนีจากการสู้รบ การถูกข่มเหงรังควานทางเชื้อชาติ ศาสนา อุดมการณ์ทางการเมือง หรือเนื่องจากความยากจนแร้นแค้น การอพยพหลั่งไหลของประชากรจำนวนมาก มีความหมายที่แตกต่างจากคำว่า “การลี้ภัย” (ดู “ผู้ลี้ภัย REFUGEE”) เนื่องจากการลี้ภัย หมายถึงผู้ที่ต้องการออกจากประเทศของตนหรือถูกบีบบังคับให้ออกจากประเทศของตน เนื่องจากถูกรังควานเพราะเหตุทางเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ สมาชิกภาพสังคม หรือความคิดที่แตกต่างทางการเมือง ซึ่งส่งผลให้บุคคลเหล่านี้ไม่สามารถ หรือไม่สมัครใจที่จะกลับไปประเทศของตน ความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างผู้ลี้ภัยกับผู้เดินทางอพยพหลั่งไหลจำนวนมาก คือ ผู้อพยพหลั่งไหลยังคงได้รับความคุ้มครองในประเทศของตนฃ


MEDICAL TREATMENT, THE RIGHT TO

คำแปล : สิทธิในการรักษาพยาบาล

ความหมาย :

สิทธิขั้นพื้นฐานประการหนึ่งของมนุษย์ซึ่งสัมพันธ์กับสิทธิมนุษยชนอื่น ๆเช่น สิทธิในชีวิต สิทธิในสุขภาพ เป็นต้น สิทธินี้มีทั้งด้านที่เป็นเสรีภาพและด้านที่เป็นอำนาจ ในด้านเสรีภาพ หมายถึง บุคคลสามารถที่จะแสวงหาการบริการทางการแพทย์รวมถึงจิตแพทย์ตามความต้องการ ในด้านอำนาจเป็นสิทธิเรียกร้องให้รัฐต้องมีมาตรการด้านต่าง ๆ เพื่อให้บุคคลสามารถเข้าถึง (Accessible) การบริการทางการแพทย์และพยาบาลที่มีคุณภาพที่ยอมรับได้ (Acceptable Quality) มีราคาที่เหมาะสมที่บุคคลทั่วไปสามารถจ่ายได้ (Affordable Price) ภายใต้หลักกฎหมายสิทธิมนุษยชน รัฐมีพันธะหน้าที่สามด้านในการคุ้มครองสิทธิในการรักษาพยาบาล คือ • หน้าที่ในการเคารพ (Duty to Respect) รัฐจะต้องมีกฎหมายรับรองเสรีภาพของบุคคลที่จะแสวงหาการบริการทางการแพทย์ ซึ่งรวมถึงบุคคลที่อยู่ในกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษ เช่น ผู้ถูกควบคุมตัวโดยรัฐเช่น ผู้ต้องหา หรือคนป่วยโรคจิต รัฐจะต้องไม่จำกัดเสรีภาพของบุคคลในการเลือกเข้ารับบริการทางการแพทย์ เช่น กำหนดให้เข้ารับการรักษาพยาบาลตามที่รัฐกำหนดโดยไม่มีเงื่อนไข • หน้าที่ในการปกป้องคุ้มครอง (Duty to Protect) รัฐจะต้องออกกฎระเบียบและมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้บุคคลสามารถได้รับการบริการทางการแพทย์ที่เข้าถึงได้ในราคาที่เหมาะสมและมีคุณภาพ เช่น การออกใบอนุญาตสถานพยาบาลโดยคำนึงถึงความครอบคลุมถึงพื้นที่ต่าง ๆ การมีประมวลแนวทางปฏิบัติที่ดีสำหรับผู้ให้บริการทางการแพทย์และพยาบาล มาตรฐานความปลอดภัยของเครื่องมือแพทย์ ควบคุมคุณภาพของแพทย์ พยาบาล เช่น มีระบบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพแพทย์ พยาบาล รวมถึงป้องกันการโฆษณาที่ไม่เป็นธรรมและการป้องกันไม่ให้ธุรกิจบริการทางการแพทย์เอารัดเอาเปรียบผู้เข้ารับบริการ เป็นต้น • หน้าที่ในการทำให้บรรลุการมีสิทธิ (Duty to Fulfil) รัฐจะต้องจัดสรรทรัพยากรอย่างพอเพียง เพื่อทำให้มีบุคลากรทางการแพทย์พยาบาล สิ่งจำเป็นสำหรับการรักษาพยาบาล เช่น โรงพยาบาลเครื่องมือแพทย์ เวชภัณฑ์ ยารักษาโรค รวมถึงการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการแพทย์ เพื่อทำให้สิทธิในการรักษาพยาบาลเป็นจริงได้ โดยเฉพาะต้องคำนึงถึงความต้องการแพทย์และพยาบาลของบุคคลในกลุ่มพิเศษที่มีความยากลำบากในการเข้าถึงแพทย์และพยาบาล เช่น คนยากจน คนไม่มีสัญชาติ นักโทษ ผู้ถูกควบคุมตัว และคนพิการ เป็นต้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ค.ศ. 2007) รับรองสิทธินี้ไว้ในมาตรา 51 ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย”


MENTALY ILL

คำแปล : ผู้ป่วยทางจิต / ผู้ป่วยจิตเวช

ความหมาย :

บุคคลที่เจ็บป่วยทางด้านจิตใจ หรือสภาวะทางจิตผิดปกติ ส่งผลให้แสดงพฤติกรรมหรือความคิดที่แปลกประหลาด จนไม่สามารถดำเนินชีวิตตามปกติได้ ความเจ็บป่วยทางจิตอาจเกิดจากโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือจากประสบการณ์ชีวิตที่เลวร้ายจึงส่งผลต่อจิต ผู้ป่วยทางจิต / ผู้ป่วยจิตเวช มักหย่อนความสามารถ หรือขาดโอกาสในการใช้สิทธิ หรือได้รับประโยชน์จากสิทธิ นอกจากนั้นผู้ป่วยทางจิต / ผู้ป่วยทางจิตเวชถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งอาจกระทำโดยบุคคลที่ใกล้ชิด หรือบุคลากรในสถาบันที่ดูแลรักษาผู้ป่วยทางจิต / ผู้ป่วยจิตเวชเช่น อาจเสี่ยงต่อการถูกละเมิดทางเพศ ถูกคุมขังโดยพลการ ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกทรมาน ได้รับการปฏิบัติที่เป็นการลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือตกเป็นเครื่องมือทดลองทางการแพทย์ในมนุษย์โดยที่ตนไม่ได้ให้ความยินยอมอีกด้วย กฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญามีบทบัญญัติพิเศษที่ใช้กับผู้ป่วยทางจิต /ผู้ป่วยจิตเวช เช่น ตามกฎหมายแพ่ง บุคคลวิกลจริตหรือสติฟั่นเฟือนจนถึงขั้นจัดการงานไม่ได้ จะต้องอยู่ในความดูแลของบุคคลอื่นและไม่สามารถใช้สิทธิที่พึงมีดังเช่นคนทั่วไปได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของบุคคลนั้นและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับบุคคลอื่น โดยกำหนดให้บุคคลที่ดูแลผู้ป่วยทางจิตสามารถขอให้ศาลตั้งตนเองเป็นผู้จัดการเกี่ยวกับนิติกรรมหรือให้ความยินยอมแก่ผู้ป่วยจิตเวชได้ ในเรื่องความรับผิดทางอาญาถ้าผู้กระทำความผิดในขณะนั้นไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน กฎหมายจะยกเว้นโทษให้ แต่ถ้าศาลเห็นว่าการปล่อยตัวผู้เป็นโรคจิตไป จะเป็นการไม่ปลอดภัยต่อประชาชน ศาลจะสั่งให้ส่งตัวไปควบคุมไว้ในสถานพยาบาลก็ได้ ในชั้นสอบสวนของเจ้าพนักงาน ถ้าปรากฏว่าผู้กระทำความผิดเป็นผู้ที่มีความผิดปกติทางจิต ไม่อยู่ในสภาพที่จะต่อสู้คดีได้ พนักงานสอบสวนจะต้องส่งตัวให้แพทย์ตรวจและทำการบำบัดรักษาก่อนจนกว่าจะต่อสู้คดีได้


MILITARY COURT / COURT MARTIAL

คำแปล : ศาลทหาร

ความหมาย :

องค์กรตุลาการที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดีที่ผู้กระทำผิดกฎหมายทหาร หรือกฎหมายอาญาอื่นในคดี ซึ่งผู้กระทำเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารในขณะกระทำความผิด ตลอดจนมีอำนาจสั่งลงโทษบุคคลที่กระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลทหารด้วย ผู้พิพากษาศาลทหารเรียกว่า “ตุลาการพระธรรมนูญ” ผู้มีสิทธิฟ้องคดีในศาลทหาร ได้แก่ 1. อัยการทหาร 2. ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร กระบวนการพิจารณาในศาลทหารเป็นไปตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 (ค.ศ. 1955) โดยกำหนดให้มีนายทหารหนึ่งคนเข้าร่วมเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีกับตุลาการพระธรรมนูญด้วยเสมอ และในการบังคับคดีเมื่อศาลทหารพิพากษาลงโทษจำเลยแล้วจะไม่ออกหมายไปยังเรือนจำแต่จะออกหมายแจ้งไปให้ผู้บังคับบัญชาทหารทราบและสั่งลงโทษจำเลย ศาลทหารบางครั้งเรียกว่า COURT OF CHIVALRY


MILITARY JUNTA

คำแปล : รัฐบาลทหาร/ คณะผู้เผด็จการทหาร

ความหมาย :

คำว่า junta มาจากภาษาสเปน แปลว่า คณะกรรมการ (Committee) รูปแบบรัฐบาลที่คณะผู้บริหารประเทศได้อำนาจมาจากการใช้อำนาจทางทหารทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลเดิม คณะผู้บริหารในรัฐบาลประกอบด้วย ผู้นำทหารที่มีอำนาจ ซึ่งอาจจะมีพลเรือนเข้าร่วมในคณะบริหารด้วยก็ได้ รัฐบาลทหารมักจะใช้อำนาจปกครองอย่างเบ็ดเสร็จ ทั้งในด้านนิติบัญญัติและบริหาร ในบางกรณีอาจใช้อำนาจทหารแทรกแซง หรือชี้นำฝ่ายตุลาการ การปกครองแบบรัฐบาลทหาร มักจะมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนหลายด้าน โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงความเห็น การชุมนุม การรวมกลุ่มสมาคม เสรีภาพของสื่อมวลชน และมักจะควบคุมเศรษฐกิจและการเมืองอย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาอำนาจของคณะผู้บริหารประเทศไว้ ดังนั้นในบางครั้งจึงเรียกระบอบการปกครองรัฐบาลทหารที่เป็นเผด็จการว่า “เผด็จการทหาร (Military Dictatorship)” รัฐบาลทหารมาจากการใช้กำลังยึดอำนาจ ดังนั้นจึงไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนที่แท้จริง จึงขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชนที่ให้ความสำคัญกับสิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกผู้แทนจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเป็นกระบวนการในการมีส่วนร่วมในการบริหารสาธารณะที่ได้รับการรับรองโดยปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 21 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 26


MINISTERIAL REGULATION

คำแปล : กฎกระทรวง

ความหมาย :

กฎหมายที่ตราขึ้นและประกาศใช้โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติ หรือกฎหมายที่มีฐานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติ เช่น ประมวลกฎหมาย พระราชกำหนด กฎกระทรวงจะต้องไม่ขัดกับบทกฎหมายใด ๆ ทั้งนี้ศาลมีอำนาจในการพิจารณากฎกระทรวงว่าขัดต่อกฎหมายหรือไม่ หากขัดต่อกฎหมาย ก็ไม่สามารถใช้บังคับได้ ในการตรากฎกระทรวง รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ผู้รักษาอำนาจตามพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนด เป็นผู้เสนอร่างกฎกระทรวงต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษา บังคับใช้เป็นกฎหมาย


MIRANDA RULE

คำแปล : หลักการมิแรนด้า

ความหมาย :

หลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของประเทศสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับการรับฟังพยานหลักฐานและการนำพยานเข้าสืบในคดีอาญา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกจับกุม โดยกำหนดให้เจ้าพนักงานจะต้องแจ้งข้อหาที่จับกุมและแจ้งสิทธิในคดีอาญาต่อบุคคลในขณะจับกุม เพื่อให้ทราบว่าบุคคลนั้น มีสิทธิใดบ้าง สิทธิเหล่านั้น เช่น สิทธิที่จะไม่ให้การถ้าผู้ถูกจับกุมให้การ คำให้การนั้นสามารถใช้เป็นหลักฐานในคดีได้ สิทธิในการพบและปรึกษาทนายความ ถ้าผู้ถูกจับกุมไม่มีทนายความ และผู้ถูกจับกุมต้องการมีทนาย รัฐจะจัดหาให้ หลักการมิแรนด้าเกิดขึ้นจากคำพิพากษาศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาในคดีที่นายมิแรนด้าฟ้องมลรัฐอริโซน่า (Miranda v. Arizona) ซึ่งศาลสูงสุดตัดสินว่าการที่เจ้าพนักงานไม่แจ้งสิทธิแก่ผู้ถูกจับกุมนั้น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาในเรื่องสิทธิในการรับทราบข้อกล่าวหาตามรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทที่ห้า (The Fifth Amendment) และสิทธิในการพบและปรึกษาทนายความ ตามบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทที่หก (The Sixth Amendment) ถ้าเจ้าพนักงานไม่ได้แจ้งสิทธิแก่ผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมตามหลักการมิแรนด้า ในการพิจารณาดำเนินคดีนั้นจำเลยสามารถยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้ เพื่อขอศาลแจ้งคณะลูกขุนไม่ให้ใช้เป็นพยานหลักฐานในการตัดสินความผิด


MISCARRIAGE OF JUSTICE

คำแปล : ความผิดพลาดในการดำเนินกระบวนการยุติธรรม

ความหมาย :

แนวคิดเกี่ยวกับกระบวนยุติธรรมทางอาญาที่เห็นว่าความผิดพลาดในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมอาจเกิดขึ้นได้ทุกขั้นตอน ถ้ามีความผิดพลาดขึ้นผู้เสียหายมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีใหม่ และได้รับค่าชดเชยความเสียหายจากกระบวนการยุติธรรมที่ผิดพลาดนั้นไม่ว่าในชั้นพนักงานสอบสวน เช่น การที่ผู้เสียหาย หรือพนักงานสอบสวนสร้างพยานเท็จเพื่อปรักปรำผู้ต้องหาหรือในชั้นศาลที่อาจวินิจฉัยผิดพลาด ทั้งนี้เพราะผู้พิพากษามิได้รู้เห็นการกระทำของจำเลย แต่การวินิจฉัยของศาลเกิดจากการฟังพยานหลักฐานที่คู่ความนำมาแสดงต่อศาล เจตนารมย์ของกระบวนการยุติธรรม คือ การค้นหาความจริงเพื่อนำตัวบุคคลที่ทำผิดมาลงโทษ กระบวนการทั้งหมดเป็นการกระทำโดยรัฐการที่บุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องหา จำเลย หรือนักโทษอาจต้องเสียหายจากการสูญเสียเสรีภาพ หรือชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพอนามัย ดังนั้นรัฐต้องมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลที่บริสุทธิ์ต้องได้รับความเสียหายจากกระบวนการที่ผิดพลาดของรัฐ และจะต้องแก้ไขความผิดพลาดโดยการรื้อฟื้นคดี หรือชดใช้ความเสียหายแล้วแต่กรณี หลักกฎหมายอาญากำหนดว่า บุคคลที่ถูกศาลพิพากษาว่ากระทำความผิดโดยกระบวนการที่ไม่ชอบ สามารถที่จะขอรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาคดีใหม่ได้(ดู REVIEW OF A CRIMINAL JUDGEMENT) กรณีที่ความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้นในชั้นพนักงานสอบสวน จำเลยที่ถูกจับกุมควบคุมตัวสามารถได้รับค่าทดแทนความเสียหายได้ กฎหมายไทยได้บัญญัติรับรองสิทธิดังกล่าวไว้ดังนี้ • การยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ กฎหมายรองรับไว้เป็นการเฉพาะหากได้ดำเนินการตามวิธีการและพิจารณาคดีใหม่แล้วพบว่าผู้ที่ถูกพิพากษาลงโทษเป็นผู้บริสุทธิ์ก็ย่อมได้คืนสิทธิต่าง ๆ บรรดาที่เสียไปคืนมาเท่าที่ตามความเป็นจริงจะสามารถคืนมาได้ • การแก้ไขเยียวยาความเสียหายแก่ผู้เสียหายที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาภายหลังพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ มีสิทธิ์ได้รับค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายดังนี้ ก) ค่าทดแทนการถูกคุมขังให้คำนวณจากจำนวนวันที่ถูกคุมขังในอัตราที่กำหนดไว้สำหรับการกักขังแทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา ข) ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาลรวมทั้งค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจหากความเจ็บป่วยของจำเลยเป็นผลโดยตรงจากการถูกดำเนินคดี ค) ค่าทดแทนกรณีจำเลยถึงแก่ความตายและความตายนั้นเป็นผลโดยตรงจากการถูกดำเนินคดีจำนวนไม่เกินที่กำหนดในกฎกระทรวง ง) ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ระหว่างถูกดำเนินคดี จ) ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินคดี


MODERN FORMS OF SLAVERY / CONTEMPORARY FORMS OF SLAVERY

คำแปล : รูปแบบใหม่ของสภาวะการเป็นทาส / รูปแบบร่วมสมัยของการเป็นทาส

ความหมาย :

สถานภาพทางสังคม หรือพันธะหน้าที่ตามสัญญาที่ทำให้บุคคลนั้นตกอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถกำหนดตัดสินใจชะตากรรมของตนได้เองและต้องยอมรับสภาพที่ถูกบังคับ หรือถูกแสวงประโยชน์จากร่างกายหรือแรงงาน หรือถูกซื้อ หรือขายเยี่ยงทรัพย์สิน หรือสภาพบุคคลที่ถูกบังคับใช้แรงงานอย่างไร้มนุษยธรรม ซึ่งแตกต่างจากการเป็นทาสรูปแบบเดิมที่มีการรับรองโดยกฎหมาย (ดู SLAVERY) สมาคมต่อต้านการค้าทาสสากล (ดู ANTI-SLAVERYINTERNATIONAL) ซึ่งเป็นองค์การของภาคเอกชนแห่งแรกที่กำเนิดขึ้น เพื่อรณรงค์ให้ยุติการมีทาส ระบุว่ารูปแบบใหม่ของสภาวะการเป็นทาส /รูปแบบร่วมสมัยของการเป็นทาสในลักษณะต่อไปนี้ • แรงงานติดหนี้ (Debt Bonded Labour) เนื่องจากการที่บุคคลตกเป็นเหยื่อของการกู้ยืมเงินที่มักเป็นสัญญาที่ขูดรีด หรือกลโกงเมื่อไม่สามารถชำระหนี้ได้ ลูกหนี้จะถูกบังคับให้ทำงานนานอย่างไร้มนุษยธรรม เช่น ทำงานวันละหลายชั่วโมงติดต่อกันแบบไม่มีวันหยุด โดยได้รับค่าตอบแทนเพียงอาหารและที่พักพอยังชีพเช่น แรงงานต่างด้าวที่ต้องจ่ายค่านายหน้าในการเข้าประเทศแรงงานเหล่านี้แทบจะไม่มีโอกาสจะชำระหนี้ที่ยืมมาได้หมดและหนี้สินเหล่านี้ อาจตกทอดต่อไปยังลูกหลานพร้อมกับสภาวะการเป็นทาส • แรงงานที่ถูกบังคับ (Forced Labour) เกิดขึ้นกับบุคคลที่ถูกรัฐบาล พรรคการเมือง หรือคนธรรมดาบังคับให้ทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะตกอยู่ภายใต้การขู่เข็ญว่าจะใช้กำลัง หรือการลงโทษอื่น ๆ • แรงงานเด็ก (Child Labour) สภาวะที่เด็กถูกบังคับใช้แรงงานหรือต้องทำงานในสภาวะที่ถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบหรือเป็นอันตราย ซึ่งต้องทำงานเต็มเวลา ทำให้ไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาและนันทนาการที่จำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต • การแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก (Sexual Exploitation of Children) เช่น การให้เด็กค้าประเวณี การใช้เด็กในสื่อลามก และการค้าเด็ก ซึ่งเด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่จะถูกลักพาตัว ซื้อขายหรือบังคับให้เข้าสู่ตลาดบริการทางเพศ • การค้ามนุษย์ (Human Trafficking) อันได้แก่การซื้อขายมนุษย์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหญิงและเด็ก เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้วยการใช้กำลังและการหลอกลวง แรงงานหญิงย้ายถิ่นจะตกเป็นเหยื่อของการใช้เล่ห์เหลี่ยมเพื่อนำไปสู่การบังคับค้าประเวณี หรือการบังคับใช้งาน • การแต่งงานในวัยเยาว์ หรือโดยการบังคับ (Forced Marriage) โดยที่หญิงและเด็กถูกบังคับให้แต่งงานโดยไม่มีทางเลือกและนำไปสู่การบังคับให้ใช้ชีวิตเยี่ยงทาส ควบคู่ไปกับการตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงทางร่างกาย ทาสจากวัฒนธรรมดั้งเดิม หรือทาสจากการถูกซื้อขาย เป็นการขายและซื้อบุคคลที่ส่วนใหญ่ถูกลักพาตัวมาจากบ้าน แล้วเป็นมรดกสืบทอดกันต่อมาหรือยกเป็นทรัพย์สินแก่ผู้อื่น


MONTESQUIEU, CHARLES LOUIS DE SECONDAT

คำแปล : ชาร์ล หลุยส์ เดอ เซอกงดา มงเตสกิเออ

ความหมาย :

นักปรัชญาการเมืองและนักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส มีชีวิตอยู่ในช่วงค.ศ. 1689 - 1755 (พ.ศ. 2232 - 2298) ซึ่งเป็นผู้เสนอแนวคิดว่าด้วยการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยในการปกครอง งานเขียนที่มีชื่อของมงเตสกิเออ คือ “Spirit of Laws” (เจตนารมณ์ของกฎหมาย) ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกใน ค.ศ. 1748 (พ.ศ. 2391) กล่าวถึงการแบ่งแยกอำนาจในระบอบการปกครองที่เสรีนั้น ถ้าหากปราศจากการถ่วงดุลอำนาจกันระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เสรีภาพอย่างแท้จริงของบุคคลก็จะไม่เกิดขึ้น การถ่วงดุลอำนาจจะเป็นการตรวจสอบเพื่อการป้องกันการใช้อำนาจในทางที่ผิด มงเตสกิเออเห็นว่าผู้ที่มีอำนาจมีแนวโน้มที่จะนำอำนาจไปใช้ในทางที่ผิดและมักจะออกระเบียบ กฎหมาย ที่ไม่มีเหตุผลซึ่งไม่เพียงแต่กระทบต่อความมั่นคงปลอดภัย เสรีภาพ และผลประโยชน์ของพลเมืองเท่านั้น แต่ยังกระทบผลประโยชน์และข้อได้เปรียบในการแข่งขันของรัฐด้วย แนวคิดการเมืองเสรีนิยมและหลักการตรวจสอบและการถ่วงดุลอำนาจปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรก และต่อมาแนวคิดนี้ได้แผ่ขยายไปทั่วโลก


MULE

คำแปล : ผู้ลักลอบขนของผิดกฎหมายข้ามประเทศ

ความหมาย :

บุคคลที่ลักลอบขนของผิดกฎหมายที่ทำโดยการนำมากับตัว โดยการซุกซ่อนไว้ในสัมภาระการเดินทาง เสื้อผ้า หรือในร่างกาย ซึ่งมักทำครั้งละจำนวนหรือปริมาณไม่มาก อันเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการลักลอบขนของข้ามประเทศ โดยบุคคลที่ขนของนั้นอาจตั้งใจทำ หรือถูกบังคับ หรือถูกหลอกลวงให้ทำ ในกรณีที่เป็นการขนยาเสพติดเรียกว่า “Drug Mule” หรือ “Easter Egg”วิธีการหนึ่งที่นิยมทำ คือ การบรรจุยาเสพติดในวัสดุที่ทำจากยาง (เช่น ถุงยางอนามัย) แล้วกลืนลงในท้อง หรือสอดไว้ในอวัยวะเพศหญิง


MULTILATERAL TREATY

คำแปล : สนธิสัญญาพหุภาคี

ความหมาย :

สนธิสัญญาพหุภาคี หมายถึงสนธิสัญญาที่มีภาคีของสนธิสัญญามากกว่าสองฝ่ายขึ้นไปเช่นกฎบัตรสหประชาชาติ กฎบัตรอาเซียน โดยทั่วไปสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนมักทำขึ้นในรูปของสนธิสัญญาพหุภาคี เช่น ICCPR, ICESCR, CRC ชื่อของสนธิสัญญาเองก็อาจแสดงได้ว่าสนธิสัญญานั้นๆ เป็นสนธิสัญญาพหุภาคี เช่น คำว่า อนุสัญญา กติการะหว่างประเทศ ธรรมนูญ กฎบัตร เป็นต้น