Human Rights Dictionary : ศัพท์สิทธิมนุษยชน

 

 

A B C D E F G H I J K L M N O P Q R S T U V W X Y Z ALL

GENDER

คำแปล : เพศสภาพ

ความหมาย :

เพศสภาพหมายถึง ความแตกต่างระหว่างชาย หญิง ที่ได้รับการปฏิบัติตามแต่วัฒนธรรม ค่านิยม คุณค่าทางสังคม ซึ่งถูกกำหนดขึ้นโดยทัศนะของคนในสังคมที่แตกต่างกัน ในขณะที่คำว่า เพศ (Sex) หมายถึง ลักษณะทางธรรมชาติของการเป็นชาย หรือ หญิง ที่ต่างกัน แต่คำว่า เพศสภาพ (Gender)เป็นคำที่มีความหมายผันแปรไปตามสังคมที่บุคคลนั้นอาศัยอยู่จึงขึ้นอยู่กับการกำหนดกรอบในการนิยามที่แตกต่างกันไปในแต่ละสังคม และความแตกต่างในบริบททางสังคมเหล่านี้นี่เองที่ทำให้มีการเลือกปฏิบัติต่อเพศหญิง ในบทบาท หน้าที่ สิทธิ ที่แตกต่างกัน เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน และมีข้อโต้แย้งที่แตกต่างกันในแต่ละสังคมว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหญิงหรือไม่ เช่นสังคมมุสลิมไม่ได้รู้สึกว่าการปฏิบัติแบบนั้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้วยเหตุผลทางศาสนา คุณค่าทางสังคม และปัจจัยแวดล้อม เป็นต้น


GENERAL ACT

คำแปล : กรรมสารทั่วไป

ความหมาย :

กรรมสารทั่วไปเป็นสนธิสัญญารูปแบบหนึ่งซึ่งอาจมีลักษณะเป็นทางการ หรือไม่เป็นทางการก็ได้ เช่นกรรมสารทั่วไปในการยุติกรณีพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติ (General Act for the Pacific Settlement of International Disputes, 1928) ซึ่งสมัชชาสันนิบาตชาติรับรองใน ค.ศ. 1928 (พ.ศ. 2471) และต่อมาสมัชชาใหญ่สหประชาชาติได้รับรองกรรมสารทั่วไปฉบับแก้ไขใน ค.ศ. 1949(พ.ศ. 2492)


GENERAL ASSEMBLY (UNITED NATIONS)

คำแปล : สมัชชาใหญ่ (สหประชาชาติ)

ความหมาย :

สมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (หรือเรียกสั้นๆว่า “สมัชชาฯ” ) เป็นองค์กรหนึ่งในห้าองค์กรหลักของสหประชาชาติอันประกอบด้วย General Assembly, Security Council, Economic and Social Council, Secretary General และ International Court of Justice สมัชชาฯ มีหน้าที่ในการปรึกษาหารือกิจการทั้งปวงของสหประชาชาติโดยการประชุมใหญ่ ประกอบด้วยผู้แทนรัฐสมาชิกสหประชาชาติทุกรัฐเพื่อมีมติร่วมกันดำเนินการภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฎบัตรฯ แต่ไม่ได้มีบทบาทในการ “ลงมือปฏิบัติ” โดยตรง ในการลงมติแต่ละประเทศมีหนึ่งเสียงเท่ากัน ในด้านสิทธิมนุษยชน สมัชชาฯ มีหน้าที่ในการริเริ่มศึกษา และทำข้อแนะนำใดๆ เพื่อให้บรรลุความร่วมมือระหว่างประเทศในการเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ สมัชชามีอำนาจในการทำคำเสนอแนะ หรือเรียกร้องให้รัฐสมาชิกใดๆ หรือ ต่อคณะมนตรีความมั่นคง (Security Council) หรือเลขาธิการสหประชาชาติ (Secretary General)ให้ดำเนินการใดๆ เพื่อปกป้องคุ้มครองและเคารพสิทธิมนุษยชน นอกจากนั้นสมัชชาฯ ยังสามารถทำการไต่สวนข้อเท็จจริงหรือศึกษาปัญหาสิทธิมนุษยชนใดๆ ได้ ในกรณีที่มีสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนนอย่างรุนแรง สมัชชาฯ มีบทบาทในการเรียกร้องให้นานาประเทศห่วงใยหรือใส่ใจต่อสถานการณ์นั้นๆ เช่น ในกรณีการใช้ระบอบแบ่งแยกผิว (Apartheid)ในสหภาพแอฟริกาใต้ หรือปัจจุบันคือสาธารณรัฐแอฟริกาใต้


GENERAL COMMENT

คำแปล : ข้อคิดเห็นร่วมอันสำคัญ

ความหมาย :

ข้อคิดเห็นร่วมอันสำคัญ เป็นถ้อยแถลงที่จัดทำขึ้นเป็นเอกสารโดยองค์กรสิทธิมนุษยชนตามสนธิสัญญา เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคม คณะกรรมการสิทธิเด็ก ข้อคิดเห็นร่วมขององค์กรที่มีหน้าที่สอดส่องดูแลการปฏิบัติตามพันธกรณี เพื่อให้รัฐภาคีได้ปฏิบัติตามพันธกรณีได้อย่างเต็มเปี่ยม ข้อคิดเห็นร่วมอันสำคัญ จัดทำขึ้นเพื่ออธิบายประเด็นที่สำคัญในการจัดทำรายงานหรือเนื้อหา ความหมายและพันธกรณีของรัฐของสิทธิต่าง ๆ ที่รับรองโดยอนุสัญญาสิทธิมนุษยชน ซึ่งเกิดจากการสังเคราะห์ประเด็นต่าง ๆ ที่อยู่ในรายงานตามวาระของรัฐภาคีอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนต่างๆ ประกอบกับแนวคำวินิจฉัยคดีที่เป็นข้อพิพาทขององค์กรสิทธิมนุษยชน แม้ว่าข้อคิดเห็นร่วมอันสำคัญไม่มีพันธกรณีทางกฎหมายแต่ช่วยอธิบายเนื้อหาและการปกป้องสิทธิตลอดจนพันธกรณีของรัฐในการเคารพสิทธิมนุษยชน จัดว่าเป็นกฎหมายที่ควรมี (Soft Law) ย่อมเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักและใช้เป็นแรงกดดันทางด้านศีลธรรมและทางการเมือง


GENERAL PRINCIPLES OF LAW RECOGNISED BY CIVILIZED NATIONS

คำแปล : หลักกฎหมายทั่วไปที่ได้รับการยอมรับโดยนานาอารยประเทศ

ความหมาย :

กฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หลักกฎหมายทั่วไปที่ได้รับการยอมรับโดยนานาอารยประเทศ เป็นที่มาของกฎหมายระหว่างประเทศประเภทหนึ่ง และใช้บังคับได้ทั่วไป หลักกฎหมายทั่วไปฯ ที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เช่น หลักความเท่าเทียม (Equality) หลักการไม่พิจารณาโทษสองครั้งในความผิดเดียวกัน (Double Jeopardy หรือ ne bis in idem) หลักการพิจารณาความผิดอาญาต้องทำโดยองค์กรตุลาการที่มีความเป็นอิสระ เป็นต้น ที่มาของหลักกฎหมายทั่วไปฯ อาจเป็นหลักกฎหมายระหว่างประเทศหรือเป็นหลักกฎหมายภายในประเทศก็ได้ เช่น หลักการห้ามเลือกปฏิบัติระหว่างคนชาติกับคนต่างชาติ (Non-discrimination) หลักการหมดสิ้นหนทางเยียวยาตามกระบวนการยุติธรรมภายใน (Exhaustion of Local Remedy) ซึ่งเกี่ยวกับการใช้มาตรการคุ้มครองทางการทูต (ดู Denial of Justice) หลักความรับผิดชอบของรัฐ (State Responsibilities) ในกรณีที่คนของรัฐก่อความเสียหายต่อรัฐอื่น หลักสนธิสัญญาต้องตีความอย่างสุจริต(Good Faith) หลักการใช้สิทธิต้องไม่ทำให้รัฐอื่นเสียหาย หรือการไม่ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต (Abuse of Rights) เป็นต้น หลักกฎหมายทั่วไปฯ มีความสำคัญอย่างมากในการพิจารณาเรื่องพันธะหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เนื่องจากสิทธิมนุษยชนเป็นเกณฑ์ค่านิยมที่เป็นสากล (ดู Universality of Human Rights) หลักการเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนหลายอย่างเป็นมาตรฐานขั้นต่ำระหว่างประเทศ ดังนั้นกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติของรัฐต่อบุคคลจึงต้องสอดคล้องกับหลักกฎหมายที่รับรองโดยนานาอารยประเทศ


GENEVA CONVENTIONS

คำแปล : “บรรดาอนุสัญญาเจนีวา” ว่าด้วยมนุษยธรรม

ความหมาย :

“บรรดาอนุสัญญาเจนีวา” ว่าด้วยมนุษยธรรม(Geneva Conventions) หมายถึงกฎหมายมนุษยธรรม(Humanitarian Lawsหรือสิทธิมนุษยชนในช่วงเวลาที่เกิดการพิพาทด้วยอาวุธ) ที่ได้จัดทำขึ้นภายใต้การอำนวยการของคณะกรรมการกาชาดสากล (International Committee of Red Cross หรือ ICRC) ใน ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) ณ นครเจนีวา ประเทศสหพันธรัฐสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่มุ่งคุ้มครองผู้ประสบภัยจากสงคราม ไม่ว่าจะเป็นพลรบ (หรือเชลยศึก) หรือพลเรือน บางกรณีคำว่า “อนุสัญญาเจนีวา” จะรวมถึงพิธีสารเพิ่มเติมอนุสัญญา (Additional Protocol) จำนวนสองฉบับที่ทำขึ้นใน ค.ศ. 1977(พ.ศ. 2520) ด้วย แม้ว่าก่อน ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) ได้มีการจัดทำอนุสัญญาเจนีวาเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ในการทำสงคราม หรือกฎเกี่ยวกับการพิพาทด้วยอาวุธหลายฉบับเช่น อนุสัญญาเจนีวาในค.ศ.1864 (พ.ศ. 2407) และ ค.ศ. 1929(พ.ศ.2472) ในปัจจุบันคำว่า “อนุสัญญาเจนีวา (Geneva Conventions)”หมายถึง อนุสัญญาสี่ฉบับ (และพิธีสารเพิ่มเติม) ที่ทำขึ้นในค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) ซึ่งเป็นตราสารหลักของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ “อนุสัญญาเจนีวา” โดยลำพังจะหมายถึงสนธิสัญญาที่กล่าวข้างต้นสำหรับกฎเกณฑ์ที่กำหนดอยู่ในอนุสัญญาเจนีวามักเรียกว่า “กฎหมายแห่งเจนีวา” หรือ Geneva Law อนึ่ง “เจนีวา” เป็นสถานที่ที่จัดทำสนธิสัญญาทั่วๆ ไปหลายฉบับดังนั้นจึงมักใช้คำว่า Geneva Convention ประกอบกับชื่ออนุสัญญาเหล่านั้น เช่น Geneva Conventionon the Execution of Foreign Arbitral Award 1927 (อนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ พ.ศ. 2460)


GENOCIDE

คำแปล : การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ความหมาย :

การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หมายถึงการกระทำใดๆที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะฆ่า หรือทำลายเชื้อชาติ เผ่าชน เผ่าพันธุ์ กลุ่มประชากร กลุ่มศาสนา ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน โดยวิธีการฆ่าสมาชิกของกลุ่มหรือการกระทำให้เป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจอย่างร้ายแรงของสมาชิกของกลุ่ม หรือมีการกระทำโดยตั้งใจที่จะก่อให้เกิดสภาวะ หรือสภาพการดำรงชีวิตที่จะเป็นการทำลายเผ่าชนนั้นในทางกายภาพ หรือกำหนดมาตรการใดๆที่ห้ามการขยายเผ่าพันธุ์ หรือห้ามการกำเนิดบุตรในกลุ่มชนนั้นๆ หรือการใช้กำลังบังคับการถ่ายโอนเด็ก หรือผู้เยาว์จากกลุ่มหนึ่งไปยังอีกกลุ่มหนึ่ง การกระทำในลักษณะดังกล่าวย่อมเป็นการทำลายเผ่าพันธุ์ ซึ่งเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนสิทธิมนุษยชน และเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายมนุษยธรรม เป็นการกระทำที่ต้องห้าม และถือเป็นความผิดที่สามารถนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศได้


GLOBAL REACH

คำแปล : การเข้าถึงทุกมุมโลก

ความหมาย :

การเข้าถึงทุกมุมโลก เป็นคำที่ภาคธุรกิจนำมาใช้อธิบายการเข้าถึงทุกภาคส่วนของโลกโดยอาศัยเทคโนโลยี และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในการเข้าถึง และทำธุรกรรมระหว่างองค์กรธุรกิจทั่วทุกมุมโลก และสามารถติดต่อกับลูกค้าในระดับและประเทศต่างๆ องค์กรธุรกิจสามารถเผยแพร่ข่าวสาร ข้อมูล การโฆษณา สินค้าและบริการแก่ลูกค้าได้อย่างกว้างขวาง การสื่อสาร การทำธุรกรรมโดยช่องทางของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์นี้ ช่วยให้มีการลดค่าใช้จ่ายจากการใช้โทรคมนาคมในรูปแบบอื่นๆ ที่มีราคาแพง เช่น การไปรษณีย์ ที่มีค่าใช้จ่ายแพงกว่า และใช้ระยะเวลายาวนานกว่า เกิดเป็นทางเลือกอื่น เช่น การส่งข้อมูลทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์แทนไปรษณีย์กระดาษ แนวทางปฏิบัติของระบบธุรกิจสมัยใหม่ได้นำไปสู่ความจำเป็นในการก่อตั้งระบบกฎหมาย การสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ และการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมา เพื่อกำกับดูแล ต่อมา การเข้าถึงทุกมุมโลกได้ถูกนำมาใช้และวิวัฒนาการในด้านอื่นๆ ด้วย การเข้าถึงทุกมุมโลกได้มีอิทธิพลต่อการส่งผ่านวัฒนธรรมไปสู่สังคมโลกและมีผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อสังคมมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงทาง วัฒนธรรม ค่านิยม วิสัยทัศน์ รูปแบบการดำเนินชีวิต ความเชื่อ แบบแผนการบริโภคและจารีตประเพณีของกลุ่มชน ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลต่อพลวัตทางสังคม และในบางกรณีพลวัตดังกล่าวนำมาสู่การเสื่อมสลายของประเพณีดั้งเดิมของเผ่าชนและสิทธิในการดำรงอยู่ของเผ่าชนดั้งเดิม


GLORIOUS REVOLUTION

คำแปล : การปฏิวัติอันเรืองโรจน์

ความหมาย :

กระบวนการการเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองในประเทศอังกฤษในตอนปลายศตวรรษที่สิบเจ็ด (ค.ศ. 1688 - 1689 หรือ พ.ศ. 2231 - 2232) หลังจากพระราชินีอลิซาเบท (ที่หนึ่ง) สิ้นพระชนม์ ได้เกิดความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์กับรัฐสภาและศาสนจักร ที่มีมูลเหตุมาจากพระเจ้าเจมส์ที่สอง ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกออกกฎหมายจำกัดเสรีภาพทางศาสนาของพวกที่นับถือนิกายโปรเตสแตนท์ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของอังกฤษ รัฐสภาจึงร่วมมือกับประชาชนโค่นล้มพระเจ้าเจมส์ที่สองและสถาปนาเจ้าชายวิลเลียมขึ้นเป็นกษัตริย์ คือ พระเจ้าวิลเลียมที่สามใน ค.ศ. 1688 (พ.ศ. 2231) และพระเจ้าวิลเลียมที่สามทรงสัญญาว่าจะปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของพลเมือง (Bill of Rights)ที่รัฐสภาร่างขึ้นเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐสภาและให้สิทธิเสรีภาพแก่ชาวอังกฤษมากขึ้น (ดู ENGLISH BILL OF RIGHTS) การปฏิวัติครั้งนี้ส่งผลให้การปกครองแบบพระมหากษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาดของอังกฤษสิ้นสุดลงเปลี่ยนมาเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้กฎหมายโดยรัฐสภามีอำนาจสูงสุดในทางการเมืองการปกครอง บางครั้งเรียกการปฏิวัตินี้ว่าการปฏิวัติที่ไม่เสียเลือดเนื้อ (Bloodless Revolution)เนื่องจากไม่มีการสู้รบ และได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวาง หลังจากปฏิวัติ รัฐสภาอังกฤษได้ออกกฎหมายให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนมากขึ้นตามลำดับ เช่น การประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยขันติธรรมทางศาสนา (Toleration Act) ค.ศ. 1688 (พ.ศ. 2231) ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาแก่พวกโปรเตสแตนต์นิกายต่าง ๆ ที่ไม่ยอมขึ้นต่อนิกายแองกลิคันซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ การปฏิวัติอันเรืองโรจน์มีผลต่อแนวคิดการเมืองการปกครองในยุโรปและการพัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างมาก


GOOD GOVERNANCE

คำแปล : ธรรมาภิบาล

ความหมาย :

คำว่า "ธรรมาภิบาล" ได้ถูกนำมาใช้เกี่ยวกับการพัฒนา ที่แสดงให้เห็นว่านโยบายมหาชนที่ได้ดำเนินการเกี่ยวกับกิจการสาธารณะ และการบริหารจัดการทรัพยากรสาธารณะได้ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้เนื่องจากกระบวนการตัดสินใจและบังคับการให้เป็นไปตามการตัดสินใจนั้นดำเนินไปอย่างถูกต้องเป็นธรรม ธรรมาภิบาล สามารถนำมาใช้ได้ทุกระดับไม่ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ระดับภูมิภาค ตลอดไปจนถึงระดับโลก แนวคิดธรรมาภิบาล ถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อเป็นต้นแบบ เพื่อเปรียบเทียบกับความไร้ประสิทธิภาพทางสังคม เศรษฐกิจ ทางการเมือง ที่ไม่มีความโปร่งใสไร้ความเป็นธรรม ดังนั้นองค์กรที่มีธรรมาภิบาลย่อมเป็นองค์กรที่มีความโปร่งใส เป็นธรรม และดำเนินกิจการใดๆด้วยความถูกต้อง ปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ อย่างตรงไปตรงมา


GRASS-ROOTS ORGANISATIONS

คำแปล : องค์กรรากหญ้า

ความหมาย :

ในความหมายทางสังคมและการเมือง หมายถึง การที่ชุมชนระดับท้องถิ่นรวมตัวกันเพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อนการเมือง องค์กรรากหญ้ามักเกิดขึ้นในระดับท้องถิ่น โดยคนในท้องถิ่นสละเวลาเพื่อสนับสนุนพรรคการเมืองในท้องถิ่น ซึ่งจะนำไปสู่การช่วยเหลือพรรคในระดับชาติได้ คำว่า “รากหญ้า” ราชบัณฑิตยสถานได้ให้คำนิยามว่าหมายถึง “ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งมีฐานะยากจน และด้อยโอกาสทางสังคม” การใช้คำว่า “รากหญ้า” ในทางการเมืองคาดว่าเริ่มจากวุฒิสมาชิกอัลเบิร์ต เจเรไมอาห์ เบเวอร์ริดจ์ แห่งรัฐอินเดียนา สังกัดพรรคก้าวหน้าที่กล่าวปราศัย ในปี ค.ศ. 1912 (พ.ศ. 2455) ว่า “พรรคนี้มาจากรากหญ้า มันเติบโตมาจากดินแห่งความต้องการอย่างแรงกล้าของประชาชน” สำหรับในประเทศไทย คำว่า “รากหญ้า” เป็นคำที่ได้นำมาใช้อย่างกว้างขวางในการรณรงค์ทางการเมืองโดยใช้เปรียบเทียบ หมายถึง ประชาชนชั้นล่างของสังคมไทย โดยมากเป็นเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ที่มีรายได้น้อย มีภาวะการครองชีพต่ำ องค์กรรากหญ้ามีบทบาทสำคัญในการผลักดันนโยบายทางการเมืองให้สอดคล้องกับความต้องการท้องถิ่นของชุมชน ซึ่งมักเป็นคนชายขอบ(ดู MARGINALISED PEOPLE) องค์กรรากหญ้ายังเป็นรูปแบบหนึ่งของการแสดงออกของสิทธิในการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกิจการสาธารณะ หรือสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง


GROSS VIOLATION

คำแปล : การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

ความหมาย :

คำว่า “ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง” มีการใช้อย่างกว้างขวางในกฎหมายสิทธิมนุษยชน แม้ว่าองค์ประกอบที่ถือว่าเป็นการละเมิดอย่างร้ายแรงยังขาดความชัดเจน แต่เป็นที่ยอมรับว่าโดยทั่วไปการละเมิดกฎเกณฑ์หรือบรรทัดฐาน สิทธิมนุษยชนบางอย่างอันมีลักษณะร้ายแรงและเป็นระบบ ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางหรือการกระทำที่เป็นการละเมิดนั้นเป็นแนวปฏิบัติหรือเป็นนโยบายของรัฐ เช่น การสังหารตามอำเภอใจ การใช้ระบอบปกครองแบ่งแยกสีผิว การเลือกปฏิบัติด้านเชื้อชาติ การค้าทาส การล้างเผ่าพันธุ์ หรือการประหัตประหารด้วยเหตุผลทางด้านศาสนา การจับกุมคุมขังตามอำเภอใจ ในการพิจารณาลักษณะการกระทำหรือแนวปฏิบัติที่จะถือว่าเป็นการละเมิดอย่างร้ายแรงมีองค์ประกอบอย่างน้อยที่สุดสองประการ คือ สิทธิที่ถูกละเมิดนั้นเป็นสิทธิที่เป็นสาระสำคัญ Essence of Right ของความเป็นมนุษย์ และความร้ายแรง หรือผลของการกระทำหรือ Gravity of Violation


GROSS VIOLATION OF HUMAN RIGHTS

คำแปล : การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

ความหมาย :

สภาพการณ์ที่มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลอย่างกว้างขวางเป็นระบบในประเทศใดประเทศหนึ่ง ไม่ว่าจะเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเอกชน หรือกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ ซึ่งรัฐไม่สามารถให้ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่จำเป็นของบุคคลได้ การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงทำให้สหประชาชาติสามารถมีข้อมติของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมที่ 1235 (ดู THE 1235 PROCEDURE) และกระบวนการตามข้อมติที่ 1503 (ดู THE 1503 PROCEDURE) กฎหมายสิทธิมนุษยนไม่ได้นิยามความหมายของคำว่า “การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง” ไว้ แต่มีผู้เสนอว่าประกอบด้วย ระดับของความรุนแรงของการละเมิดที่เกิดขึ้น และประเภทของสิทธิที่ถูกละเมิด ลักษณะของการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เช่น การล้างเผ่าพันธ์ุ การใช้ระบอบแบ่งแยกผิว การกดขี่ทางศาสนา การทรมาน การฆ่า การใช้กำลังบังคับให้หายตัว การจับกุมคุมขังตามอำเภอใจ / โดยพลการ เป็นต้น ซึ่งการกระทำดังกล่าวต้องเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และเป็นระบบ


GUIDELINES

คำแปล : ข้อชี้แนะ

ความหมาย :

เอกสารที่จัดทำขึ้น เพื่อเป็นแนวทาง หรือกำหนดวิธีการปฏิบัติของหน่วยงานที่ดำเนินงานเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการปฏิบัติงานด้านนั้นให้สอดคล้องกัน คำว่า “ข้อชี้แนะ” มีผู้แปลไว้หลายความหมาย เช่น “ข้อแนะนำ”“คำแนะนำ” “แนวทาง” ในเอกสารสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศมักจะใช้คำว่า “ข้อชี้แนะ” “ข้อชี้แนะ” ได้นำมาใช้อย่างกว้างขวางในการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งที่เป็นหน่วยงานทั่วไปและหน่วยงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้เนื่องจากสิทธิมนุษยชนเป็นเกณฑ์สากลที่ต้องการนำเกณฑ์นั้นมาปรับใช้ภายในประเทศในขั้นตอนปฏิบัติงานอาจมีการตีความเกณฑ์คุณค่าเหล่านั้นต่างกันในแต่ละประเทศ หรืออาจมีปัจจัยอย่างอื่นที่ทำให้อาจมีการดำเนินงานที่เป็นรายละเอียดแตกต่างกันระหว่างหน่วยงานภายในประเทศด้วยกันที่ทำงานอย่างเดียวกัน ซึ่งอาจจะไม่สอดคล้องกับเป้าหมายของการดำเนินงานดังกล่าว เช่น กฎระเบียบหรือแนวปฏิบัติที่หลากหลายอาจมีความไม่ชัดเจน ข้อชี้แนะจึงรวมวิธีการเป็นแนวทางมาตรฐานในการปฏิบัติงานเข้าไว้ด้วยกัน “ข้อชี้แนะ” ที่เป็นเอกสารการดำเนินงานของหน่วยงานราชการของประเทศไทยปรากฏในงานต่าง ๆ เช่น “แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยถูกงูพิษกัด (Guidelines for Management of Patients with Snake Bite)” ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง วิธีการปฏิบัติของผู้ปฏิบัติงานและผู้เกี่ยวข้อง ในกรณีที่มีผู้ป่วยถูกงูพิษกัดที่เข้ารับบริการทางการแพทย์ของหน่วยงานในสังกัด ในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ได้มีการจัดทำ ข้อชี้แนะ อย่างกว้างขวาง เพื่อเป็นแนวทางให้กับประเทศต่าง ๆ ได้ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ เช่น • “ข้อชี้แนะว่าด้วยบทบาทของอัยการ” (Guidelines on the Role of Prosecutors) กล่าวถึง คุณสมบัติ การคัดเลือก และการฝึกอบรมสถานภาพ และเงื่อนไขของการปฏิบัติงานเสรีภาพในการแสดงออก และการสมาคมบทบาทในการดำเนินคดีอาญา อาชญากรรมและการใช้อำนาจโดยไม่ถูกต้อง การใช้ดุลยพินิจความสัมพันธ์กับหน่วยงานหรือองค์กรอื่นของรัฐการดำเนินการทางวินัย • “ข้อชี้แนะสหประชาชาติสำหรับการป้องกันเด็กจากการกระทำความผิด” (The United Nations Guidelines for the Prevention of Juvenile Delinquency) หรือมักเรียกสั้น ๆ ว่า “ข้อชี้แนะแห่งกรุงริยาดห์” (The Riyadh Guidelines) ข้อชี้แนะสำหรับการดำเนินงานเกี่ยวกับเด็กในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (Guidelines for Action on Children in the Criminal Justice System) ซึ่งเป็นเอกสารที่สำคัญที่ถูกกล่าวอ้างโดยสังคมโลกเสมอ ๆ ในการปฏิบัติที่ดีต่อเด็กที่กระทำผิดตามกฎหมาย