Human Rights Dictionary : ศัพท์สิทธิมนุษยชน

 

 

A B C D E F G H I J K L M N O P Q R S T U V W X Y Z ALL

BAIL

คำแปล : การขอประกันตัว / การขอให้ปล่อยชั่วคราว (ผู้ต้องหา หรือ จำเลย)

ความหมาย :

การขออนุญาตต่อศาลให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยพ้นจากการควบคุมของเจ้าพนักงานหรือศาลตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกควบคุมหรือคุมขังเป็นเวลานานเกินกว่าความจำเป็นในระหว่างการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีอาญา ตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนจะต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ดังนั้นการคุมขังที่ยาวนานเกินความจำเป็นจึงกระทบต่อเสรีภาพและความมั่นคงในชีวิต / ร่างกายของผู้ที่ได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ การประกันตัว / การปล่อยชั่วคราวจึงเปิดโอกาสให้ศาลใช้ดุลพินิจคุ้มครองบุคคลที่สูญเสียเสรีภาพนั้น ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การขอประกันตัว / การขอให้ปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราว มีดังนี้ 1. การขอประกันตัวชั้นสอบสวน หรือในระหว่างฝากขัง ทำได้เมื่อผู้ต้องหาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพนักงานอัยการ นำตัวมาขออนุญาตฝากขังระหว่างที่ยังสอบสวนไม่เสร็จ 2. การขอประกันตัวชั้นการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น ทำได้เมื่อผู้ต้องหาถูกพนักงานอัยการฟ้องต่อศาลแล้วก็จะเปลี่ยนฐานะจากผู้ต้องหาเป็นจำเลย ซึ่งมีสิทธิขอประกันตัวต่อศาลได้ ส่วนในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ เมื่อศาลประทับฟ้องแล้ว จำเลยจะยื่นขอประกันตัวก่อนวันนัด หรือในวันนัดที่ระบุในหมายเรียกให้มาแก้คดีก็ได้ 3. การขอประกันตัวชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา กรณีที่จำเลยถูกขังหรือจำคุกโดยผลของคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์จำเลยอาจยื่นขอประกันตัวก่อนที่จะยื่นอุทธรณ์หรือยื่นฎีกา หรือจะขอยื่นประกันตัวพร้อมกันหรือหลังจากยื่นอุทธรณ์หรือยื่นฎีกาก็ได้


BASIC PRINCIPLES

คำแปล : หลักการพื้นฐาน

ความหมาย :

ค่านิยมพื้นฐานที่เป็นแนวทางการปฏิบัติร่วมกันในสังคม หรือในสาขาวิชาชีพ ที่รวบรวมหรือจัดทำขึ้นโดยคณะบุคคลที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือที่ได้รับการยอมรับนับถือในสาขาวิชาชีพนั้น และได้ประกาศใช้ หรือได้รับการรับรองว่าเป็นแนวทางที่มีคุณค่าในการนำมาปรับใช้ในการปฏิบัติให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินงานกฎเกณฑ์เหล่านี้ไม่มีสภาพเป็นกฎหมาย แต่เป็นเกณฑ์คุณค่า หรือเป็นแนวปฏิบัติที่ใช้ประกอบเกณฑ์ทางกฎหมาย ดังนั้นจึงมีสภาพเป็น “กฎหมายที่ควรมีขึ้น” (ดู SOFT LAW / LEX FERENDA) ในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศมีเอกสารจำนวนมากที่ใช้ชื่อว่า “หลักการพื้นฐาน” ซึ่งจัดทำขึ้นโดยการประชุมระดมความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่เป็นที่ยอมรับทั่วไปในสาขาสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องเพื่อนำหลักการที่เป็นที่ยอมรับกันเป็นอย่างดีในทางวิชาการเป็นเบื้องต้นมารวมไว้เป็นเอกสารที่มีลักษณะเป็นถ้อยแถลงและมักจะเสนอต่อที่ประชุมระหว่างประเทศ เพื่อให้รับรองหลักการพื้นฐานนั้น หรือเสนอต่อสมัชชญาใหญ่สหประชาชาติ คณะมนตรีสิทธิมนุษชน หรือคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้รัฐต่าง ๆ รับรองเป็นแนวทางที่ทางการของรัฐเพื่อใช้ในการปฏิบัติ “หลักการพื้นฐาน” มีความสำคัญในกฎหมายสิทธิมนุษยชน เนื่องจากหลักการฯ ช่วยสร้างความชัดเจนทั้งในด้านคุณค่า แนวคิด เนื้อหาสาระของสิทธิรวมถึงแนวปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้เกิดผลในการส่งเสริม ปกป้องคุ้มครอง และทำให้สิทธิมนุษยชนได้เกิดขึ้นอย่างเต็มเปี่ยม พิจารณาในด้านการเมืองระหว่างประเทศ แม้ว่ารัฐมีพันธะหน้าที่ในการส่งเสริม และปกป้องสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตามการบังคับให้รัฐปฏิบัติตามพันธะหน้าที่อย่างเคร่งครัดในทันทีจะกลายเป็นอุปสรรค ทั้งนี้แม้ว่ารัฐทั้งหลายจะตกลงใจเข้ามาเป็นสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศแล้วก็ตามแต่ก็ย่อมยังคงเห็นความสำคัญกับอำนาจอธิปไตยของตนอยู่เป็นหลักแนวทางการพัฒนากฎเกณฑ์ และมาตรฐานร่วมกันอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อยกระดับสิทธิมนุษยชน อาจได้รับการสนองตอบจากรัฐภาคีดีกว่าการออกกฎเกณฑ์เคร่งครัด ดังเช่นกฎหมายรัฐสมาชิกมีความรู้สึกสะดวกใจในการนำ “หลักการพื้นฐาน” ไปกล่าวอ้างเป็นหลักปฏิบัติในประเทศ


BASIC PRINCIPLES ON THE USE OF FORCE AND FIREARMS BY LAW ENFORCEMENT OFFICIALS

คำแปล : หลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังบังคับและการใช้อาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย

ความหมาย :

เอกสารทางกฎหมายที่จัดทำขึ้นโดยสหประชาชาติอันเป็นการรวบรวมหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับการใช้กำลัง และการใช้อาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจใช้อาวุธในการปฏิบัติหน้าที่ เช่น ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคง เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เป็นต้น เพื่อให้การปฏิบัติดังกล่าวสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน หลักการดังกล่าวได้รับการรับรองโดยมติของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ เมื่อ ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้ 1. รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมี และใช้กฎและข้อบังคับว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธปืนต่อต้านบุคคลโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย โดยกฎข้อบังคับนั้นต้องคำนึงถึงประเด็นจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้กำลังและอาวุธปืน 2. รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรกำหนดกรอบว่าด้วยวิธีการและประเภทของเครื่องมือที่จะใช้ในการปฏิบัติงาน และให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายกับชนิดต่าง ๆ ของอาวุธ 3. การพัฒนาและการใช้งานอาวุธที่ไม่มีอำนาจการทำลายอย่างรุนแรงควรพิจารณาอย่างรอบคอบ ประเมินเพื่อลดความเสี่ยง อันตรายต่อบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง และการใช้อาวุธดังกล่าวควรจะถูกควบคุมอย่างระมัดระวัง 4. เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องใช้วิธีการที่ไม่รุนแรงก่อนการใช้กำลังและอาวุธปืน และจะใช้กำลังและอาวุธปืนเฉพาะในกรณีที่การใช้วิธีการอื่น ๆ ไม่เกิดประสิทธิผล หรือไม่อาจให้ความมั่นใจว่าจะสำเร็จผลได้ 5. เมื่อไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้กำลังได้ เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายต้อง (1) ชั่งน้ำหนักความได้สัดส่วนของผลร้ายที่จะเกิดขึ้นและความชอบธรรมตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย (2) ลดความเสียหายและการบาดเจ็บให้มีน้อยที่สุด เคารพและรักษาชีวิตมนุษย์ (3) ทำให้เกิดความมั่นใจว่าผู้บาดเจ็บหรือผู้ได้รับผลกระทบจะได้รับความช่วยเหลือและให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์แก่ผู้บาดเจ็บ หรือได้รับผลกระทบโดยเร็วที่สุด (4) ทำให้เกิดความมั่นใจว่าญาติหรือเพื่อนสนิทของผู้บาดเจ็บหรือผู้ได้รับผลกระทบจะได้รับการแจ้งในโอกาสแรกสุด 6. ถ้ามีการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตที่มีสาเหตุมาจากการใช้กำลังและอาวุธปืนขึ้นผู้ปฏิบัติงานจะต้องรายงานต่อผู้บังคับบัญชาทันที 7. กำหนดให้การใช้อาวุธปืนโดยเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายโดยเหตุผลส่วนตัวหรือวิธีการมิชอบ เป็นความผิดอาญา 8. ในสถานการณ์พิเศษ อาจปรับแนวทางการปฏิบัติแตกต่างไปจากหลักการพื้นฐานเหล่านี้ตามจำเป็น


BEIJING RULES

คำแปล : กฎกรุงปักกิ่ง

ความหมาย :

กฎกรุงปักกิ่ง เป็นคำย่อที่ใช้เรียกกฎอันเป็นมาตรฐานขั้นต่ำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการบริหารกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน (United Nations Standards Rules for the Administration of Juvenile Justice)ซึ่งรับรองโดยสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ณ กรุงปักกิ่ง ใน ค.ศ. 1985 (พ.ศ. 2528) กฎกรุงปักกิ่งได้กำหนดหลักการและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้รัฐได้นำไปปรับใช้สำหรับการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชน ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน กฎกรุงปักกิ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานทางทฤษฎีอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยาแบบก้าวหน้า เช่น การแนะนำให้ใช้บ้านกึ่งวิถี(Half-Way House) ซึ่งป็นสถาบันหรือศูนย์ ฟื้นฟูจิตใจ แทนเรือนจำรูปแบบเดิม หลักการต่างๆ ในกฎกรุงปักกิ่งได้นำมาบัญญัติไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532)


BENTHAM, JEREMY

คำแปล : เจอร์มี เบ็นธั่ม

ความหมาย :

นักปรัชญาและนักปฏิรูปกฎหมายชาวอังกฤษ มีชีวิตอยู่ระหว่างค.ศ. 1748 - 1832 (พ.ศ. 2291 - 2375) เป็นผู้เสนอแนวคิดเรื่องอรรถประโยชน์นิยม (Utilitarianism) ซึ่งเป็นที่มาของแนวคิดเกี่ยวกับการกำหนดเจตจำนงโดยเสรีของปัจเจกชน และเสรีนิยมในเวลาต่อมา เบ็นธั่มเห็นว่า สังคมจะได้รับประโยชน์สุขสูงสุด ถ้าให้ปัจเจกชนมีเสรีภาพที่จะทำตามความต้องการของแต่ละคน โดยกฎหมายจะต้องไม่จำกัดอิสรภาพในการคิด หรือการกระทำของบุคคลโดยปราศจากเหตุผล เบ็นธั่ม เชื่อว่าในการตัดสินใจทำการใด ๆ มนุษย์ใช้เหตุผลเพื่อแสวงหาความพึงพอใจและพยายามหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดไม่ว่าจะเป็นความเจ็บปวดทางกาย หรือทางจิตใจ (หรือจริยธรรม) สองสิ่งนี้จึงเป็นสิ่งขับเคลื่อนสังคม ดังนั้นการเลือกกระทำการใด มนุษย์จะประเมินด้วยผลที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ที่เกี่ยวข้องนั่นคือ การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของประโยชน์หรือความสุข เขาเรียกหลักจริยธรรมนี้ว่า “หลักแห่งอรรถประโยชน์ (Principle of Utility)” และถ้ามีความขัดแย้งของหลักจริยธรรมระหว่างปัจเจกชนและสังคมต้องยึดหลักจริยธรรมของสังคมก่อน ดังนั้นกฎหมายของสังคมที่มีขึ้นก็เพื่อสนอง “ประโยชน์สุขสูงสุด” ของประชาชน “จำนวนมากที่สุด” แนวความคิดนี้มีอิทธิพลต่อกฎหมาย การเมือง และระบบเศรษฐกิจในสังคมประชาธิปไตยอย่างมาก


BIGAMY

คำแปล : การมีสามีหรือภริยาสองคนในเวลาเดียวกัน

ความหมาย :

ในทางสังคมวิทยา หมายถึง การมีสามี หรือมีภริยาในเวลาเดียวกันสองคน ซึ่งบางสังคมมีค่านิยมยอมรับว่าไม่ขัดต่อจารีตประเพณีและวัฒนธรรมในขณะที่บางสังคมมีค่านิยมไม่ยอมรับ ปัจจุบันหลายประเทศมีค่านิยมไม่ยอมรับการมีสามีภริยาสองคนในเวลาเดียวกัน เช่น สังคมไทยเคยยอมรับว่าการที่ผู้ชายมีภริยาหลายคนในเวลาเดียวกันไม่ขัดต่อประเพณีวัฒนธรรม แต่ปัจจุบันการมีภริยาหลายคนเป็นสิ่งที่ขัดต่อค่านิยมของสังคมไทย เป็นต้น ในทางกฎหมาย หมายถึง การจดทะเบียนสมรสซ้อน หรือการที่บุคคลหนึ่งไปจดทะเบียนสมรสกับอีกบุคคลหนึ่งโดยที่ตนได้จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายกับอีกบุคคลหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “คู่สมรส” อยู่แล้ว และการสมรสนั้นยังไม่สิ้นสุดลง การสมรสซ้อนเป็นความผิดอาญาในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาสำหรับประเทศไทยไม่มีความผิดฐานสมรสซ้อนโดยตรง แต่ผู้ที่ไปขอจดทะเบียนสมรสอาจจะมีความผิดฐานให้การเท็จต่อเจ้าพนักงาน ตามกฎหมายครอบครัวของไทย การสมรสกับบุคคลที่มีคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้วเป็นโมฆะ หรือไม่มีผลทางกฎหมาย ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาไม่ว่าก่อนหรือหลังการสมรสก็ยังเป็นของคนนั้น แต่บุตรที่เกิดจากการสมรสที่เป็นโมฆะนั้นยังเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดามารดา ผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งสามารถอ้างความเป็นโมฆะได้ การฟ้องคดีเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะไม่มีอายุความคู่สมรสที่สมรสโดยเข้าใจผิด หรือโดยสุจริตมีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้และถ้าต้องยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สิน หรือจากการงานที่เคยทำอยู่ ฝ่ายนั้นมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพได้ด้วย


BILATERAL TREATY

คำแปล : สนธิสัญญาทวิภาคี

ความหมาย :

สนธิสัญญาทวิภาคี หมายถึง สนธิสัญญาสองฝ่าย กล่าวคือคู่ภาคีของสนธิสัญญามีสองฝ่าย หรือสนธิสัญญาที่กระทำระหว่างรัฐสองรัฐ เช่นความตกลงว่าด้วยเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น หรือ ความตกลงทวิภาคีระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาในการไม่ส่งมอบตัวบุคคลที่ถือสัญชาติให้ศาลอาญาระหว่างประเทศ


BILL OF INDICTMENT

คำแปล : คำฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง

ความหมาย :

เอกสารที่ผู้เสียหายในคดีอาญา หรืออัยการทำขึ้นอย่างเป็นทางการเสนอต่อศาล หรือผู้ที่มีหน้าที่ไต่สวนมูลฟ้อง เพื่อแสดงว่าบุคคลหนึ่งบุคคลใดได้กระทำความผิดอาญาและมีเจตนาที่ให้ศาลพิจารณาไต่สวนเพื่อลงโทษบุคคลนั้นตามกฎหมาย (ดู PRELIMINARY EXAMINATION และADMISSIBILITY ) คำฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้องจะต้องแสดงให้เห็นว่ามีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้นโดยใคร มีการกระทำอย่างไร และมีพยานหลักฐานใด เพื่อแสดงว่าบุคคลที่ถูกฟ้องเป็นผู้กระทำผิด ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแกล้งฟ้อง กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของประเทศต่าง ๆ กำหนดวิธีการยื่นคำฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้องไว้ต่างกัน เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาในความผิดบางประเภท อัยการจะต้องยื่นคำฟ้องชั้นไต่สวนมูลฟ้องต่อคณะลูกขุนใหญ่(Grand Jury) เพื่อให้รับรองคำฟ้องก่อนที่จะฟ้องศาลเพื่อพิจารณาคดีในประเทศอังกฤษโจทก์ต้องยื่นคำฟ้องประเภทนี้ต่อศาลมาจิสแทรท (Court of Magistrate) เพื่อให้รับรองก่อนยื่นคำฟ้องต่อศาล เป็นต้น ตามกฎหมายไทยการยื่นฟ้องคดีในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นกระบวนการเดียวกับการดำเนินคดีในกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์ โดยจะต้องยื่นต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดี ถ้าศาลเห็นว่าคดีมีมูลก็จะสั่งรับคำฟ้องและให้มีการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีโดยมีหมายเรียกให้นำจำเลยและพยานมาสืบต่อไป ถ้าศาลเห็นว่าคดีไม่มีมูลก็จะยกฟ้อง


BINDING

คำแปล : ผูกพัน

ความหมาย :

คำว่า “ผูกพัน” ในกฎหมายสิทธิมนุษยชน หมายถึงการมีความผูกพันทางกฎหมาย ซึ่งบางครั้งก็จะใช้ คำว่าพันธะทางกฎหมาย(Legal Binding)ซึ่งหมายถึงสภาพของกฎเกณฑ์หรือธรรมเนียมประเพณีที่มีฐานะทางกฎหมายที่บุคคล องค์กร หรือรัฐต้องปฏิบัติตาม กฎหมายภายใน (Domestic Law) อาจมีกฎ ระเบียบต่าง ๆ ที่กำหนดโดยรัฐหรือองค์กรที่รัฐมอบอำนาจให้ออกกฎระเบียบ เช่น สมาคมวิชาชีพต่าง ๆ กฎเกณฑ์เหล่านั้นถ้าเป็นกฎที่บังคับบุคคลให้ปฏิบัติตามถือว่ามีความผูกพันทางกฎหมาย เช่น ข้อบังคับแพทยสภา ระเบียบสภาทนายความ กฎหมายระหว่างประเทศ หมายถึง กฎเกณฑ์ที่รัฐมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม ถ้ารัฐไม่ปฏิบัติตามถือว่าละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศ “ผูกพัน” หรือ “ความผูกพันทางกฎหมาย” มักใช้พิจารณาพันธกรณีของรัฐตามสนธิสัญญา ซึ่งถ้ารัฐเป็นภาคี สนธิสัญญาก็จะผูกพันรัฐ แต่ถ้าไม่ได้เป็นภาคี สนธิสัญญานั้นก็จะไม่ผูกพัน อย่างไรก็ตาม รัฐจะอ้างว่าไม่ผูกพันต่อกฎเกณฑ์ บรรทัดฐาน ที่เป็นจารีตประเพณีระหว่างประเทศหรือหลักกฎหมายทั่วไปไม่ได้ (ดู Hard Law ประกอบ)


BIODIVERSITY / BIOLOGICAL DIVERSITY

คำแปล : ความหลากหลายทางชีวภาพ

ความหมาย :

Biodiversity แปลว่า ความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นชื่อแบบย่อของคำว่า Biological Diversity อันเป็นระดับของความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในสายพันธุ์ รูปแบบ ชนิดพันธุ์ ในระบบนิเวศ ในระบบภูมิอากาศ ภูมิประเทศ หรือ ภายในโลก ที่มีความหลากหลายสูง ความหลากหลายทางชีวภาพนี้เป็นมาตรวัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ยิ่งในระบบนิเวศมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงเพียงใดย่อมหมายถึงระดับความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศนั้นมีสูงมากเพียงนั้น อีกนัยหนึ่งความหลากหลายทางชีวภาพเป็นบทบาท หรือ ปัจจัยหนึ่งของการสร้างสมดุลของภูมิอากาศ ภูมิประเทศ และระบบนิเวศโดยรวม ด้วยวัฏจักรของระบบห่วงโซ่อาหาร การพึ่งพาซึ่งกันและกันของสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่หลากหลาย จะเป็นการเกื้อกูลความดำรงอยู่ของแต่ละสิ่งและแต่ละชีวิต ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศของโลกอย่างรวดเร็วเป็นการทำให้เกิดความสูญสิ้นของระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตโดยรวม ประเทศสมาชิกสหประชาชาติได้ร่วมกันลงนามในอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity) มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม ค.ศ. 1993(พ.ศ. 2536) โดยประเทศสมาชิก 193 ประเทศ (ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2011(พ.ศ. 2554))


BIRTH CERTIFICATE/CERTIFICATE OF BIRTH

คำแปล : สูติบัตร

ความหมาย :

เอกสารทางราชการที่เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานแสดงการเกิดของบุคคล อันเป็นการแสดงว่าบุคคลนั้นมีตัวตน นอกจากนั้นยังเป็นหลักฐานสำคัญเพื่อใช้พิสูจน์ในการอ้างการมีสัญชาติ หรือเรียกร้องการถือสัญชาติและสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เช่น การรับบริการศึกษา การแพทย์หรือสวัสดิการสังคม เป็นต้น โดยทั่วไปข้อมูลสำคัญในสูติบัตรประกอบด้วย • ชื่อเด็กที่เกิด วัน เดือน ปี และเวลาที่เกิด • สถานที่เกิด (บ้านเลขที่ ตำบล อำเภอ จังหวัด ประเทศ) • ชื่อบิดา มารดา • ชื่อเจ้าหน้าที่ผู้จดทะเบียนการเกิด หรือผู้ออกใบสูติบัตรพร้อมตราประทับ ข้อมูลในสูติบัตร เช่น วันที่เกิด เป็นหลักฐานแสดงการเริ่มต้นของสถานภาพทางกฎหมายของบุคคล อันทำให้บุคคลมีสิทธิต่าง ๆ หลายประเทศกำหนดให้สภาพบุคคลเริ่มตั้งแต่เกิด อย่างไรก็ตามกฎหมายอาจให้สิทธิบุคคลย้อนหลังขึ้นไปตั้งแต่อยู่ในครรภ์ได้ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กข้อ 7 กำหนดว่าเด็กจะต้องได้รับการจดทะเบียนทันทีหลังการเกิดและมีสิทธิที่จะมีชื่อตั้งแต่เกิด ใน พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992) ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532) และได้ตั้งข้อสงวนในเรื่องการจดทะเบียนการเกิด เนื่องจากสาเหตุด้านความมั่นคง และการมีสัญชาติของเด็ก ต่อมาประเทศไทยได้ยกเลิกข้อสงวนนี้


BLASPHEMY

คำแปล : การหมิ่นศาสนา

ความหมาย :

จากภาษากรีก ละติน blasphemare แปลว่า “ฉันทำลายชื่อเสียง(I injure reputation)” การกระทำที่เป็นการดูหมิ่น เดิมหมายถึง การเปล่งวาจาดูหมิ่นเหยียดหยามศาสนา คำสอน หรือทำให้เกลียดชัง ขาดการนับถือ ซึ่งรวมถึงการทำให้พระเจ้า หรือศาสดาของศาสนาเสื่อมเสียเกียรติยศ โดยการแสดงข้อความโดยวาจาลายลักษณ์อักษร หรือสัญลักษณ์ ตามกฎหมายคอมมอนลอว์ (ดู COMMON LAW) ความผิดที่เป็นการหมิ่นศาสนา พระเจ้า หรือศาสดาไม่จำเป็นต้องมีเจตนาที่จะดูหมิ่นหรือเหยียดหยาม หรือมีเจตนาทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติยศ เดิมกฎหมายอาญาของหลายประเทศ กำหนดให้การหมิ่นศาสนาเป็นความผิดมีโทษและมักมีโทษรุนแรง แต่ในปัจจุบันประเทศในยุโรปหลายประเทศได้ยกเลิกความผิดนี้ บางประเทศยังคงมีความผิดแต่มีบทลงโทษเพียงเล็กน้อย ส่วนประเทศตะวันออกกลางบางประเทศยังคงมีบทลงโทษอย่างรุนแรง ประมวลกฎหมายอาญาของไทย ไม่มีความผิดฐานหมิ่นศาสนาโดยตรงแต่ได้กำหนดความผิดของบุคคลที่กระทำอันเป็นการเหยียดหยามศาสนาซึ่ง“กระทำแก่วัตถุหรือสถานที่อันเป็นที่เคารพในทางศาสนาของหมู่ชนใด”มีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท แต่การกระทำความผิดดังกล่าวจะต้องมีเจตนาเหยียดหยามอันต่างจากกฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นศาสนา พระเจ้า หรือศาสดาตามความหมายของคอมมอนลอว์ข้างต้น การหมิ่นศาสนา มีความสัมพันธ์กับเสรีภาพในการนับถือและแสดงออกความเชื่อทางศาสนา เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพทางวิชาการ หลายกรณีที่การใช้เสรีภาพในการแสดงออกขัดกับหลักคำสอนหรือความเชื่อทางศาสนา ซึ่งเป็นปัญหาที่ซับซ้อน ในการเจรจาในเรื่องสิทธิมนุษยชนในสหประชาชาติ ต่อมาใน ค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552) ได้มีการเสนอให้สมัชชาใหญ่สหประชาชาติรับรอง “ข้อมติว่าด้วยการต่อต้านการหมิ่นศาสนา (Combating Defamation of Religions)” มีประเทศที่ออกเสียงสนับสนุนแปดสิบเอ็ดประเทศ ออกเสียงคัดค้านห้าสิบห้าประเทศ และงดออกเสียงสี่สิบสามประเทศ


BLUE - COLLAR WORKERS

คำแปล : คนทำงานที่ใช้แรงงาน

ความหมาย :

คนงานที่ใช้แรงงาน หมายถึงคนทำงานอยู่ในโรงงาน หรือชนชั้นแรงงาน (Working Class) คนงานเหล่านี้มักใส่เสื้อผ้าสีน้ำเงิน เนื่องจากการทำงานในโรงงานอาจจะเปรอะเปื้อนเสื้อผ้าได้ง่าย จนเป็นที่มาของคำว่า Blue-collar Workers ซึ่งตรงกันข้ามกับคำว่า White-collar Workers คนงานที่ใช้แรงงานจะได้ค่าแรงเป็นรายชั่วโมง และอัตราค่าแรงต่ำกว่าคนทำงานทำงานในสำนักงาน คนทำงานในสองกลุ่มนี้จึงสะท้อนความแตกต่างของชนชั้นในสังคม Blue-collar Workers เป็นกลุ่มชนชั้นกรรมาชีพ ในขณะที่คนที่ทำงานในสำนักงานเป็นกลุ่มชนชั้นวิชาชีพ


BODY OF PRINCIPLES

คำแปล : องค์หลักการ

ความหมาย :

เอกสารที่รวบรวมหลักการหลาย ๆ ข้อที่ผู้ร่างมีความเห็นร่วมกันว่ามีความเกี่ยวข้อง และจำเป็นในการปฏิบัติงานด้านใดด้านหนึ่งไว้เป็นเอกสารเดียวกัน โดยเขียนให้เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน เพื่อประโยชน์ในการชี้แนวทางในการปฏิบัติงานในด้านนั้น “องค์หลักการ” จึงเป็นการประมวลหลักการมีลักษณะคล้ายกับประมวลกฎหมาย ตราสารทางสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่ใช้ชื่อว่า “องค์หลักการ” เป็นเอกสารที่จัดทำขึ้นเพื่อสนองตอบความจำเป็นในการดำเนินงานที่เป็นภาระหน้าที่ตามปกติ เพื่อให้สอดคล้องกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเฉพาะด้านเช่น สิทธิผู้ต้องขัง สิทธิบุคคลที่เข้ารับบริการทางการแพทย์ เป็นต้น ที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของบุคลากรสาขานั้น ในการรวบรวมจัดทำขึ้น ทั้งนี้เพราะวิธีการปฏิบัติงานในแต่ละประเทศอาจมีความแตกต่างกันในรายละเอียด อันอาจจะเนื่องมาจากกฎหมาย ทรัพยากร เทคโนโลยี หรือสภาพแวดล้อมอื่นสิ่งที่เป็นเจตนารมณ์ในการวางหลักการร่วมกันเพื่อพัฒนาการคุ้มครอง สิทธิมนุษยชนเรื่องนั้น จึงกลั่นกรองเฉพาะสิ่งจำเป็นที่เป็นหลักการมาใช้เป็นเครื่องชี้แนวทาง


BODY OF PRINCIPLES ON THE INDEPENDENCE OF THE JUDICIARY

คำแปล : องค์หลักการว่าด้วยความเป็นอิสระของผู้พิพากษา/ตุลาการ

ความหมาย :

หลักการและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินงานของบุคคลที่ทำหน้าที่ตุลาการที่จัดทำขึ้นในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและการคุ้มครองผู้กระทำผิด ครั้งที่ 7 ณ นครมิลาน สาธารณรัฐอิตาลี ใน ค.ศ. 1985 (พ.ศ. 2528) และต่อมาข้อกำหนดนี้ได้รับรองโดยคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติใน ค.ศ. 1985 (พ.ศ. 2528) องค์หลักการฯ ได้วางแนวทางในการบริหารความยุติธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับผู้พิพากษา / ตุลาการ นับตั้งแต่การเข้าสู่ตำแหน่ง การจ่ายสำนวนคดีการเลื่อนตำแหน่ง และการคุ้มครองผู้พิพากษา / ตุลาการจากอิทธิพลต่าง ๆเพื่อให้ผู้พิพากษา / ตุลาการสามารถทำงานในหน้าที่ได้อย่างเที่ยงธรรมอันสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน เช่น • การได้รับการประกันจากรัฐที่กำหนดให้ผู้พิพากษามีอำนาจในการพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีโดยปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายใด ๆ • การได้รับการรับรองจากรัฐในการกำหนดให้ผู้พิพากษาหรือศาลซึ่งตั้งขึ้นโดยกฎหมายมีอำนาจในการพิจารณาคดีแต่เพียงผู้เดียวและจะไม่มีการเข้าแทรกแซงใด ๆ เช่น การบัญญัติกฎหมายเพื่อให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่อใช้บังคับแก่คดีใดคดีหนึ่งโดยเฉพาะจะกระทำมิได้ • การได้รับรองหลักการในเรื่องหลักของความเป็นอิสระของผู้พิพากษา (The Principles of the Independence of the Judiciary) ขึ้นเพื่อให้เป็นหลักประกันความเป็นอิสระแก่ผู้พิพากษาว่า หลักการดังกล่าวจะได้รับการยอมรับโดยรัฐ และคู่ความอย่างแท้จริง • การได้รับรองในเรื่องอิสระของการแสดงความคิดและสิทธิในการจัดตั้งและเข้าร่วมสมาคม โดยต้องรักษาไว้ซึ่งเกียรติยศศักดิ์ศรีของผู้พิพากษา / ตุลาการ • การได้รับการรับรองในเรื่องคุณสมบัติและการคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งผู้พิพากษา / ตุลาการ • การได้รับการรับรองในเรื่องค่าตอบแทนหรือเงินเดือนตลอดจนระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งของผู้พิพากษา • การได้รับการรับรองจากรัฐในเรื่องอำนาจหน้าที่ที่จะได้รับมอบหมายในการตัดสินคดีในศาลโดยการแจกสำนวนของเจ้าหน้าที่บริหารศาลซึ่งมีหลักการว่าในการแจกสำนวนแก่ผู้พิพากษานั้น จะต้องแจกสำนวนด้วยความเป็นธรรม • การได้รับการรับรองจากรัฐในเรื่องความปลอดภัยและในการทำงานตามวิชาชีพ • การได้รับการรับรองจากรัฐในเรื่องระเบียบวินัยและการลงโทษผู้พิพากษาและตุลาการ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ค.ศ. 2007) ได้บัญญัติหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาไว้ ในมาตรา 197 ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ • ผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีทั้งปวง โดยไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาตามลำดับชั้น • การโยกย้ายผู้พิพากษาต้องได้รับความยินยอมจากตัวผู้พิพากษาที่จะถูกย้ายก่อน เว้นแต่เป็นการโยกย้ายตามวาระ การเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น หรืออยู่ระหว่างการถูกดำเนินการทางวินัย หรือตกเป็นจำเลยในคดีอาญา หลักการข้อนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้พิพากษาถูกกลั่นแกล้ง หรือถูกแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่จากผู้บริหาร • ผู้พิพากษาจะเป็นข้าราชการการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมิได้


BREACH OF CONFIDENCE

คำแปล : การล่วงละเมิดความลับ

ความหมาย :

หลักกฎหมายคอมมอนลอว์ที่กำหนดให้บุคคลที่ใช้พฤติการณ์ที่ไม่สมควรสืบเสาะแสวงหา หรือเข้าไปล่วงรู้ข้อมูลสารสนเทศของบุคคลอื่นที่ไม่ประสงค์ และเป็นเหตุทำให้บุคคลผู้ครอบครองข้อมูลเสียประโยชน์ บุคคลที่กระทำการล่วงรู้ความลับต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง ข้อมูลที่เป็นความลับนั้นคือข้อมูลที่ผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองข้อมูลไม่ประสงค์เปิดเผยต่อสาธารณะ ข้อมูลดังกล่าวอาจเป็นข้อมูลของเอกชน หรือข้อมูลราชการก็ได้ความรับผิดของบุคคลเกิดขึ้นเมื่อข้อมูลสารสนเทศใดได้ล่วงรู้โดยบุคคล บุคคลที่เป็นเจ้าของความลับ สามารถเรียกร้องให้ฝ่ายที่ทำให้ข้อมูลสารสนเทศใดได้ล่วงรู้โดยบุคคลอื่นใดได้รับผิดทางแพ่งได้ เดิมกฎหมายคอมมอนลอว์ของอังกฤษ กำหนดความรับผิดทางแพ่งเฉพาะกรณีที่ผู้เป็นเจ้าของข้อมูลต้องเสียประโยชน์จากข้อมูลที่เป็นความลับซึ่งหลักการนี้ได้พัฒนาไปอย่างมากในเรื่องความลับทางการค้า สิทธิบัตรโดยที่ไม่ได้คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในลักษณะของ “สิทธิในความเป็นส่วนตัว” หรือ “the Right to Privacy” ดังนั้น สิทธิในความเป็นส่วนตัวของบุคคลจึงไม่ได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย เป็นเหตุให้บุคคลที่ถูกล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวนำคดีไปฟ้องร้องต่อศาลสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีการผลักดันให้ประเทศอังกฤษตราพระราชบัญญัติสิทธิมนุษยชน ค.ศ. 1998 (พ.ศ. 2541) (Human Rights Acts)ซึ่งเป็นการรับเอาอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมาเป็นกฎหมายภายใน เพื่อให้มีบทบัญญัติเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษร กำหนดความรับผิดการล่วงรู้ความลับ และการสอดแทรกความเป็นส่วนตัวของบุคคลจึงชัดเจนขึ้น


BROADCAST

คำแปล : การกระจายเสียงหรือภาพ

ความหมาย :

การทำให้แพร่หลายซึ่งข้อความ ข้อมูล ข่าวสาร หรือเนื้อหาที่เป็นรูปแบบรายการผ่านเครื่องส่งสัญญาณ หรือเครื่องมือถ่ายทอดสัญญาณเสียง หรือภาพสู่สาธารณชน โดยอาศัยคลื่นความถี่เป็นสื่อตัวนำในการส่งไปยังเครื่องรับ การกระจายเสียงหรือภาพเป็นสิทธิที่เป็นเครื่องมือ (Instrumental Right) อย่างหนึ่งในการใช้เสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of Expression)ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองโดยปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน(Universal Declaration of Human Rights) ข้อ 19 สิทธินี้จะต้องไม่ถูกแทรกแซงจากรัฐโดยพลการ แต่อย่างไรก็ตามเสรีภาพในการกระจายเสียงหรือภาพอาจถูกจำกัดได้ตามหลักการจำกัดสิทธิและเสรีภาพที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยทั่วไปรัฐจะกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงหรือภาพ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดผลด้านลบกับสาธารณชน หลายประเทศใช้ระบบใบอนุญาต (Licensing System) ประกอบกับตั้งองค์กรที่เป็นอิสระปราศจากการแทรกแซงหรือการครอบงำจากกลุ่มผลประโยชน์ เป็นต้นเพื่อทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการกระจายเสียงหรือภาพการวางกฎระเบียบต่าง ๆ ตลอดจนการควบคุมกิจการกระจายเสียง หรือภาพให้เกิดประโยชน์สาธารณะและเป็นหลักประกันเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารด้วยความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ในประเทศไทยได้มีการจัดตั้ง “สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ” (กสทช.)ที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ค.ศ. 2007) มาตรา 47กำหนดให้เป็นองค์กรอิสระมีอำนาจหน้าที่พิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่ในการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือในกิจการวิทยุคมนาคม การออกใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบกิจการฯ นอกจากนั้นคณะกรรมการฯ ยังมีหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือภาพ คุ้มครองสิทธิในความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพของบุคคล ตลอดจนการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชนในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม