Human Rights Dictionary : ศัพท์สิทธิมนุษยชน

 

 

A B C D E F G H I J K L M N O P Q R S T U V W X Y Z ALL

ABSOLUTE (HUMAN) RIGHTS

คำแปล : สิทธิสัมบูรณ์

ความหมาย :

สิทธิมนุษยชนที่มีความสำคัญยิ่งต่อความเป็นมนุษย์ ไม่อาจถูกพักใช้ได้แม้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน


ACADEMIC FREEDOM

คำแปล : เสรีภาพทางวิชาการ

ความหมาย :

เสรีภาพทางวิชาการได้รับการคุ้มครองในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิในความเห็นหรือความเชื่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน(UDHR ข้อ 18) และเสรีภาพในความคิดเห็นและแสดงออก (UDHR ข้อ19 และกติการะหว่างประเทศICCPR ข้อ 19) ปฏิญญาสากลฯ (UDHR) และอนุสัญญาหลักของสิทธิมนุษยชนไม่ได้รับรองเสรีภาพทางวิชาการไว้โดยตรงเนื่องจากแนวคิดในการจัดทำนั้นมุ่งคุ้มครองสิทธิของบุคคลทั่วไปไม่ได้มุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของกลุ่มบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ ต่อมาองค์การบริการมหาวิทยาลัยโลก (World University Service) ซึ่งเป็นองค์การเอกชนระหว่างประเทศที่มีฐานะเป็นที่ปรึกษาขององค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)ได้มีมติรับรองปฏิญญากรุงลิมาฯ(Lima Declaration) ว่าด้วยเสรีภาพทางวิชาการใน ค.ศ. 1988 ( พ.ศ.2531)ทำให้สิทธินี้มีความชัดเจนขึ้น ตามปฏิญญากรุงลิมาฯ เสรีภาพทางวิชาการเป็นเสรีภาพของบุคคลในสถาบันการศึกษาซึ่งประกอบด้วยครู อาจารย์ นักวิจัยรวมทั้งนักเรียนนักศึกษาเกี่ยวกับการเรียนการสอนในอันที่จะแสวงหาความรู้และทำการค้นคว้าวิจัยโดยปราศจากการแทรกแซงหรือการจำกัดอย่างไม่มีเหตุผล จากกฎหมาย นโยบายรัฐ หรือการกดดันอื่นใดทางสังคม องค์ประกอบพื้นฐานที่ประกอบขึ้นเป็นเสรีภาพทางวิชาการมีสองด้านด้วยกันคือ เสรีภาพของผู้สอน และเสรีภาพของผู้เรียน เสรีภาพของผู้สอนรวมหมายถึงเสรีภาพในการค้นคว้าในเรื่องต่างๆ ที่ท้าทายความคิดของตน เสรีภาพในการนำเสนอสิ่งที่ตนเองค้นพบต่อผู้เรียน หรือต่อสาธารณะรวมถึงเสรีภาพในการเขียน พิมพ์เผยแพร่หรือถ่ายทอดความเห็นข้อมูลหรือสิ่งที่ตนค้นพบโดยปราศจากการแทรกแซง หรือการตรวจกรอง (Censor)เสรีภาพในการสอนที่ต้องสอดคล้องกับความเหมาะสมกับวิชาชีพทางวิชาการ ส่วนเสรีภาพของผู้เรียนหมายถึงเสรีภาพในการศึกษาวิชาต่างๆที่ตนเองสนใจและเสรีภาพที่จะมีความคิดเห็นของตนซึ่งรวมถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของตนด้วย เสรีภาพทางวิชาการมีขอบเขตและการจำกัดเช่นเดียวกับเสรีภาพด้านอื่น ๆ เช่นในข้อ 20 ของ ICCPRนอกจากนั้น UDHR ยังได้กำหนดเป้าหมายของการศึกษาไว้ว่า ”การศึกษาจักต้องมุ่งสู่การพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์อย่างเต็มเปี่ยมและเพื่อเสริมสร้างการเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานให้แข็งแกร่ง ทั้งจะต้องมุ่งเพื่อส่งเสริมความเข้าใจ ขันติธรรมและมิตรภาพระหว่างประชาชาติ”


ACCESSIBILITY

คำแปล : การเข้าถึงได้

ความหมาย :

การเข้าถึงได้ เป็นองค์ประกอบสำคัญของสิทธิมนุษยชน การเข้าถึงได้เป็นปัจจัย ที่ทำให้บุคคลสามารถบรรลุถึงการมีสิทธิและการใช้สิทธิ ใน“ความเห็นร่วมอันสำคัญ (General Comment) คณะกรรมการสิทธิ ทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ได้เน้นว่ารัฐต้องใช้มาตรการทั้งปวงเพื่อให้บุคคลได้เข้าถึงทรัพยากรและการบริการต่างๆ ของรัฐโดยปราศจากการเลือกปฏิบัตินอกจากนั้นต้องใช้มาตรการเชิงยืนยันสิทธิแก่กลุ่มด้อยโอกาสเพื่อให้บุคคลเหล่านั้นเข้าถึงบริการต่างๆได้จริง ในด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง การเข้าถึงได้ หมายความว่าบุคคลสามารถเข้าถึงกลไกการคุ้มครองจากรัฐ และสามารถเข้าถึงกระบวนการแก้ไขเยียวยาเมื่อถูกละเมิดสิทธิ ดังนั้นกลไกการคุ้มครองและการเยียวยาแก้ไขนอกจากรัฐจัดให้มีขึ้นแล้วจะต้องทำให้มั่นใจว่าบุคคลสามารถมีโอกาสอย่างเท่าเทียมกันในการใช้กลไกเหล่านั้น


ACCUSATORIAL / ADVERSARY SYSTEM

คำแปล : ระบบกล่าวหา

ความหมาย :

คำนี้ ในระบบกฎหมายอังกฤษใช้ “Accusatorial” ส่วนระบบกฎหมายอเมริกาใช้ “Adversary” ระบบกฎหมายที่วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาในศาลโดยเฉพาะเกี่ยวกับหลักการรับฟังพยานหลักฐาน ซึ่งใช้อยู่ในประเทศที่เป็นระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ (Common Law) การพิจารณาคดีระบบนี้อยู่บนแนวคิดที่ว่าคดีอาญาเป็นการเยียวยาทางศาลให้แก่ผู้เสียหาย (ไม่ว่าจะเป็นบุคคล หรือรัฐ) ผู้เสียหายจึงฟ้องให้ศาลลงโทษจำเลย ดังนั้นโจทก์จึงต้องรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าจำเลยกระทำผิดโดยในการวินิจฉัยคดีศาลเป็นเพียงคนกลางรับฟังการนำพยานหลักฐานเข้าสืบ ระบบกล่าวหามีหลักการสำคัญคือผู้เสียหายสามารถฟ้องคดีอาญาได้โดยไม่ต้องอาศัยพนักงานอัยการ ศาลจะไม่มีบทบาทในการแสวงหา สืบเสาะหลักฐานเพื่อค้นหาความจริง กระบวนการพิจารณาจะยึดถือความเท่าเทียมกันของคู่ความ ดังนั้นจึงกำหนดระเบียบในการนำพยานเข้าสืบและเกณฑ์สำหรับศาลในการรับฟังพยานที่เคร่งครัดเพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในคดี เช่น มีข้อกฎหมายเกี่ยวกับการตัดพยาน เป็นต้น ระบบวิธีพิจารณาความคดีอาญาที่ตรงกันข้ามกับระบบนี้ คือ ระบบไต่สวน (ดู ระบบไต่สวน INQUISITORIAL SYSTEM) แม้ว่าระบบกฎหมายของประเทศไทยจะเป็นระบบประมวลกฎหมาย หรือ ซีวิลลอว์ (Civil Law) แต่ในกระบวนวิธีพิจารณาความอาญาใช้ระบบกล่าวหา เนื่องจากอิทธิพลของการศึกษากฎหมายจากประเทศอังกฤษในยุคปฏิรูปกฎหมายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้งที่บทบัญญัติของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจะอนุญาตให้ใช้วิธีไต่สวนโดยผู้พิพากษาก็ตาม


ACCUSED, THE

คำแปล : 1.ผู้ต้องหา 2.จำเลย (ในคดีอาญา)

ความหมาย :

1. ผู้ต้องหา บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญาโดยเจ้าพนักงานได้แจ้งข้อหาแห่งการกระทำผิดต่อบุคคลนั้นแล้วแต่ยังมิได้ฟ้องต่อศาล กฎหมายกำหนดว่าในกรณีที่มิใช่กระทำผิดซึ่งหน้า เจ้าพนักงานสอบสวนต้องออกหมายเรียกหรือหมายจับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดเพื่อทำการสอบสวน โดยต้องมีพยานหลักฐานเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นกระทำผิดก่อนแจ้งข้อหาเมื่อผู้ต้องหาถูกฟ้องต่อศาลแล้วก็จะเปลี่ยนสถานะทางกฎหมายเป็น “จำเลย” 2. จำเลย บุคคลที่ถูกฟ้องต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญาไม่ว่าการฟ้องนั้นจะทำโดยบุคคลธรรมดา หรือรัฐ (โดยอัยการ) ผู้ต้องหาหรือจำเลย จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิด และจะปฏิบัติต่อผู้ต้องหาหรือจำเลย เช่นเดียวกับนักโทษมิได้ นอกจากนั้นระบบกฎหมายสิทธิมนุษยชนได้กำหนดให้รัฐประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหา หรือจำเลยเพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐกลั่นแกล้งจับกุมควบคุมตัวบุคคล อันเป็นการละเมิดต่อสิทธิในบูรณภาพแห่งร่างกายของบุคคล (ดูสิทธิของผู้ต้องหา / สิทธิของจำเลย) นอกจากนี้ แนวปฏิบัติของเจ้าพนักงานบางกรณี เช่น การกักขัง หรือควบคุมตัวผู้ต้องหา / จำเลยไว้รวมกับนักโทษเด็ดขาด (บุคคลที่ศาลตัดสินว่ากระทำผิด) การนำตัวผู้ต้องหาที่รับสารภาพไปแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ต้องหาในคดีความผิดลหุโทษจะไม่มีการควบคุมตัวผู้ต้องหา


ACQUITTAL

คำแปล : คำพิพากษาให้ยกฟ้องปล่อยตัวจำเลยไป

ความหมาย :

คำวินิจฉัยของศาลที่มีขึ้นเพื่อตัดสินว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิดอาญาตามฟ้อง และให้จำเลยพ้นจากความรับผิดอาญา ดังนั้นถ้าจำเลยถูกกักขังอยู่ ศาลก็จะมีคำพิพากษาให้ปล่อยตัวจำเลย ในระบบวิธีพิจารณาความของประเทศไทย คำพิพากษาให้ปล่อยตัวจำเลยจะทำโดยผู้พิพากษาโดยจะมีพร้อมกับคำตัดสินที่ชี้ว่าจำเลยไม่ผิด ส่วนในระบบคอมมอนลอว์ที่ใช้ระบบคณะลูกขุน (Jury) การตัดสินการกระทำของจำเลยว่า “ผิด” หรือ “ไม่ผิด” จะทำโดยคณะลูกขุน และศาลจะเป็นผู้ทำคำพิพากษาให้ปล่อยตัวจำเลย ในทางกฎหมาย คำพิพากษาให้ปล่อยตัวจำเลยมีความสำคัญเพราะถือว่าศาลได้พิจารณาแล้วว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดดังนั้นจำเลยจะถูกดำเนินคดีในการกระทำเดียวกันนั้นไม่ได้อีก


ACT

คำแปล : พระราชบัญญัติ / รัฐบัญญัติ

ความหมาย :

กฎหมายที่ออกโดยรัฐสภามีฐานะหรือศักดิ์ของกฎหมาย (Hierarchy of Law) สูงกว่ากฎหมายอื่นนอกจากรัฐธรรมนูญ กฎหมายที่มีชื่อเรียกว่า “พระราชบัญญัติ” จะเป็นกฎหมายสำคัญมีวัตถุประสงค์ให้มีผลบังคับใช้กับประชาชนเป็นการทั่วไป ซึ่งต่างจากกฎหมายประเภทอื่น เช่น พระราชกำหนด ซึ่งตราขึ้นโดยคณะรัฐมนตรี เพื่อบริหารราชการในสถานการณ์อันจำเป็นเร่งด่วน (ดู EMERGENCY DECREE) หรือพระราชกฤษฎีกา ซึ่งเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยประมุขของรัฐที่เกี่ยวกับระเบียบวิธีปฏิบัติในการเปิดหรือปิดสมัยการประชุมสภาผู้แทนราษฎร กฎหมายที่ตราขึ้นและมีผลกระทบในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล จึงต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ เพื่อให้มีการอภิปรายและลงมติโดยสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถือว่าเป็นสถาบันที่ประชาชนได้รับมอบอำนาจให้เพื่อการปกป้องสิทธิประโยชน์ของประชาชน (ดู UNIVERSAL SUFFRAGE) สำหรับประเทศไทย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช2550 (ค.ศ. 2007) มาตรา 90 กำหนดให้การตราพระราชบัญญัติเป็นอำนาจของรัฐสภา และเมื่อรัฐสภาเห็นชอบกับร่างดังกล่าวแล้วก็จะทูลเกล้าฯถวายพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ลงพระปรมาภิไธย เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป คำนี้ในประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขจะใช้ว่า “พระราชบัญญัติ” ส่วนในประเทศที่ไม่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขจะใช้ว่า “รัฐบัญญัติ”


ACTOR IN INTERNATIONAL LAW

คำแปล : บุคคล / ผู้กระทำผิดในกฎหมายระหว่างประเทศ

ความหมาย :

บุคคลหรือผู้กระทำในกฎหมายระหว่างประเทศคือบุคคลที่มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งมีสองประเภท คือ รัฐ และองค์กรระหว่างประเทศ เดิมกฎหมายสิทธิมนุษยชนถือเคร่งครัดว่ารัฐเป็นบุคคลที่ต้องรับผิดชอบในการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในปัจจุบันเรายอมรับว่ากลุ่มบุคคลอื่นที่มิใช่รัฐ (Non-state Actors) เช่น กลุ่มกองกำลังติดอาวุธ กลุ่มกบฏ หรือบรรษัทข้ามชาติสามารถเป็นผู้กระทำในกฎหมายระหว่างประเทศได้ ดังนั้นกลุ่มต่างๆเหล่านี้จะต้องมีความรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ด้วย อย่างไรก็ตามแม้ว่า จะมีผู้กระทำอื่นที่จักต้องรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ถือว่ารัฐเป็นผู้ต้องรับผิดชอบในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามพันธะหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครอง (ดู Obligation to Protect)


AD HOC (Latin)

คำแปล : เฉพาะกิจ /เฉพาะการ / ชั่วคราว

ความหมาย :

ad hoc ตามรูปศัพท์มีความหมายว่า “เฉพาะการนี้” หรือ “to this thing” โดยทั่วไปใช้ประกอบกับคำอื่นที่มีความหมายว่า เป็นการเฉพาะ หรือ ชั่วคราว ในระบบคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมีการใช้คำนี้ในหลายๆองค์กรเช่น ad hoc Working Group คณะทำงานเฉพาะกิจ / ชั่วคราว เป็นคณะทำงานที่จัดตั้งขึ้นในองค์กรโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ดำเนินการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะซึ่งอาจกำหนดระยะเวลาหรือไม่ก็ได้ เช่น “Ad hoc Working Group on the Implementation of Existing Human Rights Norms and Standards in the Context of the Fight against Extreme Poverty” ad hoc Committee คณะกรรมการเฉพาะกิจ / ชั่วคราว เช่น Ad hoc Committee on the Elaboration of Complementary Standards ซึ่งตั้งโดยคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติด้านเชื้อชาติทุกรูปแบบ (CERD) ad hoc Tribunal ศาลชั่วคราว เป็นศาลที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้มีอำนาจพิจารณา คดีเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น ศาลนูเรมเบอร์ก ซึ่งมีอำนาจพิจารณาเฉพาะคดีเกี่ยวกับอาชญากรรมสงครามในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง หรือศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศสำหรับอดีตยูโกสลาเวีย(International Criminal Tribunal for the Former Yugoslavia)และศาลอาญาระหว่างประเทศสำหรับรวันดา(International Criminal Tribunal for Rwanda)ถือว่าเป็นศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศชั่วคราว ad hoc Judge ผู้พิพากษาเฉพาะคดี หมายถึงผู้พิพากษาที่ได้รับการแต่งตั้งให้พิจารณาคดีใดคดีหนึ่งเป็นการเฉพาะไม่ว่าจะพิจารณาคนเดียวหรือเข้าร่วมกับผู้พิพากษาคนอื่น


ADJUDICATION

คำแปล : การใช้กระบวนการทางศาล

ความหมาย :

การใช้กระบวนการทางศาล คือ การใช้อำนาจบังคับตามสิทธิโดยอาศัยอำนาจของศาลในการประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพื่อทำให้สิทธิมนุษยชนทั้งหลายที่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมายปรากฏเป็นจริง ประชาชนอาจนำคดีสู่ศาลเพื่อการเยียวยาเสมอศาลจึงเป็นหลักประกันสุดท้ายในการคุ้มครองสิทธิของประชาชน อำนาจของศาลในการวินิจฉัยจึงต้องยึดกรอบกฎหมาย การใช้กระบวนการทางศาล เป็นการตัดสินโดยบุคคลที่สามซึ่งปกติจะเป็นศาล แต่อาจจะเป็นองค์กรอื่น เช่น กรรมการสิทธิมนุษยชนคณะกรรมการการเลือกตั้ง


ADMINISTRATIVE CASE

คำแปล : คดีปกครอง

ความหมาย :

ข้อพิพาททางกฎหมายระหว่างหน่วยงานราชการหรือองค์กรของรัฐหรือระหว่างบุคคลกับหน่วยงานราชการหรือองค์กรของรัฐ อันเนื่องมาจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำขององค์กรของรัฐหรือเจ้าพนักงานของรัฐที่เกิดขึ้นจากการใช้หรือไม่ใช้อำนาจหน้าที่ “คดีปกครอง” เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ศาลปกครอง (Administrative Court) ใช้พิจารณาว่ามีอำนาจรับคดีนั้นไว้พิจารณาได้หรือไม่ ถ้าคดีนั้นไม่ใช่คดีปกครองจะไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง อนึ่ง คำว่าองค์กรของรัฐ หมายถึง หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจหน่วยงานของราชการส่วนท้องถิ่น แต่ไม่รวมฝ่ายนิติบัญญัติ


ADMINISTRATIVE COURT

คำแปล : ศาลปกครอง

ความหมาย :

องค์กรตุลาการที่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาคดีพิพาททางกฎหมายระหว่างหน่วยงานราชการ หรือระหว่างองค์กรของรัฐ หรือคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานราชการ องค์กรของรัฐกับเอกชน หรือที่เรียกว่า“คดีปกครอง” (ดู ADMINISTRATIVE CASE) ศาลปกครองของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 (ค.ศ. 1997) และมีระเบียบวิธีพิจารณาคดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. 2542 (ค.ศ. 1999) มีฐานะเทียบเท่าศาลยุติธรรมแบ่งออกเป็นสองระดับคือ “ศาลปกครองชั้นต้น” และ “ศาลปกครองสูงสุด” ผู้พิพากษาศาลปกครองเรียกว่า “ตุลาการศาลปกครอง” การแยกศาลปกครองออกจากศาลยุติธรรมเพื่อให้เป็นสถาบันตุลาการที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน เนื่องจากคดีปกครองเป็นการพิพาทระหว่างรัฐกับราษฎรคู่ความในคดีจึงมีฐานะไม่เท่ากัน ดังนั้นแนวคิดของการระงับข้อพิพาทและกระบวนการพิจารณาจึงแตกต่างจากการพิจารณาคดีพิพาททั่วไป กล่าวคือในคดีทั่วไปที่พิจารณาโดยศาลยุติธรรมจะใช้ระบบกล่าวหาในขณะที่การพิจารณาคดีในศาลปกครองจะใช้วิธีไต่สวน อันเป็นการเปิดโอกาสให้ศาลปกครองได้แสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อปรับใช้กฎหมายต่าง ๆในการอำนวยความยุติธรรมให้กับคู่ความอย่างเต็มที่ ศาลปกครองมีบทบาทสำคัญในการตีความข้อกฎหมายเกี่ยวกับการรับรองสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดผลในการใช้จริงตลอดจนการวางหลักเกณฑ์ให้ใช้อำนาจของฝ่ายบริหารเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อปัจเจกชน


ADMINISTRATIVE DETENTION

คำแปล : การคุมขังโดยอำนาจฝ่ายบริหาร

ความหมาย :

การควบคุมตัวบุคคลที่ทำโดยอำนาจของฝ่ายบริหาร การควบคุมตัวไม่ได้กระทำโดยอำนาจศาล หรือไม่ได้ถูกตั้งข้อหาว่ากระทำความผิดทางอาญาในฐานะ “ผู้ต้องหา” แต่ถูกจับกุมและควบคุมตัวตามกฎหมายที่ให้อำนาจฝ่ายบริหาร ซึ่งอาจเกิดขึ้นในสถานการณ์ปกติ หรือ สถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อความจำเป็นในการบริหารสาธารณะของฝ่ายบริหาร เช่น ความจำเป็นในการป้องกันภยันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อสังคมหรือกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม เช่น การควบคุมตัวผู้ที่หลบหนีเข้าเมือง ควบคุมตัวบุคคลที่เชื่อว่าปลุกปั่นยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในสังคม การคุมขังโดยฝ่ายบริหารมักจะควบคุมตัวบุคคลไว้ในสถานที่ที่แยกต่างหากจากบุคคลซึ่งถูกดำเนินคดีอาญาและถูกตั้งข้อหาว่าทำความผิดทางอาญาแล้วแม้การคุมขังโดยฝ่ายบริหารสามารถทำได้ในบางกรณีแต่การคุมขังโดยไม่มีวัตถุประสงค์ที่ชอบธรรม หรือการควบคุมตัวบุคคลเป็นระยะเวลานานเกินจำเป็นถือว่าเป็นการจับกุมคุมขังที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ กรณีนี้ศาลอาจมีหมายเรียกให้บุคคลที่ควบคุมตัวต้องนำบุคคลที่ถูกคุมขังมาไต่สวนพิจารณาความชอบธรรมของการควบคุมตัว เพื่อเป็นการป้องกันการใช้อำนาจอันมิชอบของฝ่ายบริหาร นอกจากนั้นแม้ว่าการคุมขังจะทำโดยชอบด้วยกฎหมาย รัฐต้องประกันสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานให้แก่บุคคลที่ถูกคุมขังอีกด้วย


ADMISSIBILITY

คำแปล : เกณฑ์การรับเรื่องร้องเรียน / เกณฑ์การรับคำฟ้อง

ความหมาย :

เกณฑ์การรับเรื่องร้องเรียน หรือเกณฑ์การรับคำฟ้อง เป็นขั้นตอนแรกของกระบวนการพิจารณาการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือ การดำเนินการพิจารณาคดีทั่วๆ ไปโดยองค์กรตุลาการ หรือ องค์กรกึ่งตุลาการ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ผู้ตรวจการแผ่นดิน ฯลฯ ที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ขั้นตอนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบว่า คำร้อง หรือคำฟ้องนั้นเข้าเงื่อนไขตามที่ได้กำหนดหรือไม่ โดยไม่พิจารณาเนื้อหาว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ หรือ ใครจะต้องรับผิดชอบอย่างไร เงื่อนไขในการรับเรื่องแต่ละองค์กรอาจแตกต่างกัน แต่มีลักษณะคล้ายกันในเรื่องเหล่านี้ • ผู้มีสิทธิยื่นเรื่อง หรือยื่นคำฟ้อง • มีข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่พอถือได้ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น • อายุความ (คือกำหนดระยะเวลาในการยื่นนับตั้งแต่มูลเหตุการละเมิดเกิดขึ้น) • เป็นเรื่องที่ไม่เคยพิจารณามาก่อน • อำนาจศาล หรือ อำนาจในการพิจารณาเรื่องนั้น ในส่วนที่เกี่ยวกับเวลา (เช่น ไม่ใช้กฎหมายย้อนหลัง) สถานที่ (เช่น เรื่องเกิดขึ้นนอกดินแดนที่มีอำนาจ) บุคคล (เช่น บุคคลนั้นไม่ได้มีสัญชาติที่จะได้รับการคุ้มครอง หรือเป็นบุคคลที่ได้รับเอกสิทธิ์) • ในกรณีที่ปัจเจกชนร้องเรียนองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ หรือฟ้องศาลระหว่างประเทศ มักจะกำหนดให้มีเงื่อนไขเรื่องการหมดหนทางเยียวยาภายในประเทศ (Exhaustion of Local Remedy ) ในกรณีที่คำร้อง หรือคำฟ้องนั้นเข้าเงื่อนไขที่จะรับเรื่องไว้พิจารณาได้ก็ใช้คำว่า “รับไว้ได้ (Admissible)” ถ้าไม่เข้าเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใดก็จะไม่รับคำร้อง หรือ จำหน่ายคดี ก็ใช้คำว่า “รับไว้ไม่ได้ (Inadmissible)”


ADVISORY OPINION

คำแปล : ความเห็นเชิงแนะนำ

ความหมาย :

ความเห็นเชิงแนะนำเป็นความเห็นที่ศาลหรือองค์กรตุลาการจัดทำขึ้นเพื่ออธิบายเกี่ยวกับการตีความ (Interpretation) ข้อบทของสนธิสัญญา หรืออธิบายการปรับใช้ (Application) กฎหมายระหว่างประเทศ ตามคำร้องขอของรัฐ หรือองค์การระหว่างประเทศที่ขอความเห็นไป โดยทั่วไปธรรมนูญศาลระหว่างประเทศต่างๆ เช่นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) และศาลสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกา (Inter-American Court of Human Rights) จะกำหนดภาระหน้าที่ในการให้ความเห็นเชิงแนะนำแก่องค์กรย่อยภายในองค์การนั้นๆ ได้ แต่ในกรณีรัฐภาคีขององค์การระหว่างประเทศนั้นเป็นผู้ขอ การขอความเห็นเชิงแนะนำจะต้องกระทำผ่านองค์กรภายในเพื่อให้สอดคล้องกับธรรมนูญศาลฯนั้นๆ เช่นกรณีสหประชาชาติต้องเสนอประเด็นปัญหาข้อกฎหมายต่อสมัชชาใหญ่เพื่อให้สมัชชาใหญ่ร้องขอต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เมื่อองค์กรหรือรัฐจะขอความเห็นเชิงแนะนำจากศาล จะต้องขอความเห็นประเด็นกฎหมายที่ตนเองเกี่ยวข้อง หรือ เป็นภาระหน้าที่ในการดำเนินงานของตนเอง นอกจากนั้นจะขอความเห็นเชิงแนะนำในประเด็นข้อกฎหมายที่เป็นคดีพิพาทอยู่มิได้ ความเห็นเชิงแนะนำไม่มีผลบังคับอย่างเช่นผลตามคำพิพากษาแต่มีผลในด้านความเห็นทางกฎหมายซึ่งเป็นแนวทางให้ศาลที่จะพิจารณาคดีดำเนินตาม นอกจากนั้นความเห็นเชิงแนะนำยังใช้ในการอ้างอิงการอธิบายความหมายของสนธิสัญญาหรือข้อกฎหมายในประเด็นนั้น


AFFIRMATIVE MEASURE

คำแปล : มาตรการเชิงยืนยันสิทธิ

ความหมาย :

มาตรการทางนโยบาย กฎหมาย หรือการปฏิบัติที่ให้สิทธิประโยชน์พิเศษแก่กลุ่มบุคคลที่ด้อยสิทธิ หรือกลุ่มที่เสียเปรียบบางกลุ่ม เช่น เด็กสตรี คนยากจน หรือชนกลุ่มน้อย เพื่อให้กลุ่มดังกล่าวได้รับประโยชน์จากการมีสิทธินั้นอย่างแท้จริง เช่น การให้เงินสงเคราะห์แก่เด็กชาวเขาเพื่อสนับสนุนให้เข้าโรงเรียน การกำหนดสัดส่วนของสตรีในองค์ประกอบของคณะกรรมการต่าง ๆ หรือการให้มีสุขาพิเศษสำหรับคนพิการ เป็นต้น การใช้มาตรการเชิงยืนยันสิทธิจึงเป็น “การปฏิบัติที่แตกต่าง” แต่ไม่ถือว่าเป็น “การเลือกปฏิบัติ” ตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนการใช้มาตรการเชิงยืนยันสิทธิมีเงื่อนไขสองประการคือ • มีเหตุผลที่ชอบธรรมเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ใช้มาตรการที่แตกต่างกัน • เป็นมาตรการชั่วคราว เมื่อบรรลุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์แล้วต้องยกเลิกมาตรการที่แตกต่างนั้น


AFRICAN COMMISSION ON HUMAN AND PEOPLE’S RIGHTS

คำแปล : คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนและสิทธิประชาชนชนแอฟริกา

ความหมาย :

คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนและสิทธิประชาชนแอฟริกาเป็นสถาบันหลักสถาบันเดียวที่มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคแอฟริกาที่ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1986 (พ.ศ. 2529) ภายใต้กฎบัตรแอฟริกาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิประชาชนก่อนที่ศาลสิทธิมนุษยชนแอฟริกาฯ (African Court on Human and People’s Rights) จะเริ่มดำเนินการใน ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547) คณะกรรมาธิการฯ ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถสูงจำนวนสิบเอ็ดคนที่มาจากการเลือกตั้งโดยสมัชชาประมุขแห่งรัฐและหัวหน้ารัฐบาล (ปัจจุบันคือ สมัชชาสหภาพแอฟริกา) คณะกรรมาธิการฯปฏิบัติหน้าที่เป็นอิสระในนามตนเองไม่อยู่ภายใต้อาณัติของรัฐใด ดำรงตำแหน่งคราวละหกปี ในการดำเนินงานส่งเสริมสิทธิมนุษยชนคณะกรรมาธิการฯ จะประชุมกันปีละสองครั้ง คณะกรรมาธิการฯ มีอำนาจในการทำการศึกษาปัญหาสิทธิมนุษยชน รับเรื่องราวร้องเรียน จากรัฐหรือบุคคลว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการไต่สวน แสวงหาข้อเท็จจริง เนื่องจากปัจจัยทางด้านการเงิน ความจริงใจของรัฐภาคีสมาชิกในการส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน และบุคลิกภาพส่วนตัวของกรรมาธิการฯ ทำให้การดำเนินงานที่ผ่านมาประสบปัญหาและไม่สามารถให้การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้ตามที่ได้คาดหมาย เมื่อมีการจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชนและสิทธิประชาชนแอฟริกาขึ้น คณะกรรมาธิการฯ ได้ทำงานคู่กันไปกับศาลฯ โดยมีหน้าที่ในการฟ้องร้องการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อศาลฯ


AFRICAN CONVENTION ON HUMAN AND PEOPLE"S RIGHTS

คำแปล : อนุสัญญาแอฟริกาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิประชาชน

ความหมาย :

อนุสัญญาแอฟริกาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิประชาชนนี้เป็นสนธิสัญญาที่จัดทำขึ้นเพื่อให้เป็นหลักประกันการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคแอฟริกา กฎบัตรฯ ได้รับรองโดยองค์การเอกภาพแอฟริกา (Organisation of African Unity ปัจจุบันคือ สหภาพแอฟริกา) ใน ค.ศ. 1981(พ.ศ. 2524) และมีผลบังคับใช้ใน ค.ศ. 1986 (พ.ศ. 2529) กฎบัตรแอฟริกาฯได้รับรองสิทธิมนุษยชนในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองโดยนอกจากจะได้รับรองสิทธิทางด้านพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมดังเช่นปฏิญญาสากลฯ แล้วยังได้รับรองสิทธิประชาชนซึ่งถือว่าเป็นสิทธิของกลุ่ม (Collective Rights) ให้มีผลทางกฎหมาย เช่นเดียวกับสิทธิประเภทแรก ในการรับรองสิทธิเสรีภาพด้านต่างๆ มักจะมีข้อจำกัดสิทธิ จึงมีคำกล่าวว่ากฎบัตรฯ เป็นบทบัญญัติจำกัดสิทธิมากที่สุดในบรรดาตราสารระหว่างประเทศ นอกจากนั้นกฎบัตรยังได้กำหนดหน้าที่ต่างๆของบุคคลคู่ไปกับสิทธิที่ได้รับรองเช่น หน้าที่ต่อครอบครัว หน้าที่ต่อสังคมในการป้องกันประเทศ และ หน้าที่ในการจ่ายภาษี กฎบัตรฯได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนและสิทธิประชาชนแอฟริกาให้มีหน้าที่ส่งเสริม และปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ได้รับรอง แต่ไม่มีอำนาจฟ้องร้องคดี และต่อมาใน ค.ศ.1998 (พ.ศ. 2541) ได้มีพิธีสารจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชนและสิทธิประชาชนแอฟริกาขึ้นเพื่อให้มีอำนาจรับคำฟ้องว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้กฎบัตรได้โดยศาลเริ่มต้นปฏิบัติงานใน ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547)


AFRICAN COURT ON HUMAN RIGHTS AND PEOPLE’S RIGHTS

คำแปล : ศาลสิทธิมนุษยชนและสิทธิประชาชนแอฟริกา

ความหมาย :

ศาลสิทธิมนุษยชนและสิทธิประชาชนแอฟริกา ตั้งอยู่ที่นครอรุชา (Arusha) ประเทศแทนซาเนีย ก่อตั้งขึ้นโดยพิธีสาร พ.ศ. 2541 (Protocol to the Charter on the Establishment of the African Court on Human and Peoples' Rights1998) ตามกฎบัตรแอฟริกาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิประชาชน ขององค์การสหภาพแอฟริกา (African Union)ซึ่งพัฒนามาจากองค์การเอกภาพแอฟริกา (Organisation of African Unity) และมีผลบังคับใช้ใน ค.ศ. 2004(ค.ศ. 2547) ศาลสิทธิมนุษยชนฯ แอฟริกาเกิดขึ้นหลังจากที่สหภาพแอฟริกาได้ตระหนักความจริงว่า คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนและสิทธิประชาชนแอฟริกา (African Commission on Human and People’s Rights)ไม่สามารถดำเนินงานในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้บรรลุผลตามที่คาดหวังได้ ศาลประกอบด้วยผู้พิพากษาจำนวนสิบเอ็ดคน ซึ่งมาจากการคัดเลือกโดยสมัชชาสหภาพแอฟริกาซึ่งเป็นที่ประชุมระดับประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาล ศาลมีอำนาจในการรับคำฟ้องจากรัฐภาคี คณะกรรมาธิการ บุคคลหรือ องค์กรพัฒนาเอกชนกล่าวหาว่ารัฐใดรัฐหนึ่งละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ได้รับรองตามกฎบัตรแอฟริกาฯ และมีอำนาจในการให้ความเห็นแนะนำ (Advisory Opinion)แก่รัฐภาคีหรือองค์กรต่างๆ ของสหภาพแอฟริกาในปัญหาข้อกฎหมายที่ร้องขอความเห็น พิธีสารกำหนดให้คณะมนตรีบริหาร (Executive Council) สหภาพแอฟริกา เป็นองค์กรที่มีหน้าที่บังคับสอดส่องให้เป็นไปตามคำพิพากษา


AGE OF ENLIGHTENMENT

คำแปล : ยุคเรืองปัญญา / ยุคสว่างทางปัญญา

ความหมาย :

เป็นชื่อที่เรียกช่วงระยะเวลาทางประวัติศาสตร์สำคัญยุคหนึ่งของอารยธรรมและปรัชญาตะวันตก เกิดขึ้นตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นยุคของการปฏิรูปทางสังคมและความก้าวหน้าทางด้านความรู้วิทยาการ เป็นยุคที่ความสามารถในการใช้เหตุผลของมนุษย์ได้รับการยกย่องเชิดชู เนื่องจากในอดีตนั้น การกระทำของมนุษย์ในสังคมมักถูกชี้นำโดยนักบวชทางศาสนา ส่วนในระดับครอบครัวมักถูกชี้นำผ่านการอบรมเลี้ยงดู และการศึกษาที่ตกทอดต่อกันมา ความกล้าในการที่จะใช้ความคิดที่แตกต่างจากสิ่งที่ได้รับการถ่ายทอดกันมาอาจเสี่ยงและเป็นอันตรายยุคเรืองปัญญา / ยุคสว่างทางปัญญาจึงเป็นการปฏิวัติความเชื่อ ความคิดของมนุษย์ให้หลุดพ้นจากการถูกชี้นำ มีอิสระและกล้าที่จะคิดด้วยตนเอง ในยุคดังกล่าวเน้นการคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล (Rational Thought) ดังนั้นยุคนี้จึงเรียกอีกอย่างว่า ยุคแห่งเหตุผล (The Age of Reason) ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นแสงส่องสว่าง เพื่อกำจัดความเชื่องมงาย และความเขลาเน้นความรู้ความเข้าใจในวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ตลอดจนการถือกำเนิดขึ้นของระบบสังคมนิยมด้วย ผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งยุคเรืองปัญญาได้แก่ ฟรานซิสเบคอน (Francis Bacon) ชาวอังกฤษ ผู้สนับสนุนความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลของวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นรากฐานของการทดลองและการสังเกตอย่างละเอียดและเรอเน เดการ์ต (Rene Descartes) นักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศสผู้เขียนหนังสือที่ประกาศว่าเหตุผลและคณิตศาสตร์เป็นเพียงสองสิ่งที่เราจำเป็นต้องมีเพื่อค้นหาความจริง