ประวัติความเป็นมา

          ในปี พ.ศ. 2554 ได้มีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2554 - 2559 โดยกำหนดแนวทางการพัฒนาความเข้มแข็งขององค์กรให้มีสมรรถนะสูงโดยการพัฒนากลไก ระบบต่างๆ และกระบวนการทำงานที่สนับสนุนภารกิจขององค์กรได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ จึงมีการจัดทำแผนแม่บทเพื่อจัดตั้งและพัฒนาศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2554 - 2558 ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งและพัฒนาห้องสมุดให้เป็นศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชน สำนักงาน
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

          เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ห้องสมุด ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และได้เริ่มดำเนินการรวบรวมสารสนเทศด้านสิทธิมนุษยชน บริหารจัดการระบบฐานข้อมูลทรัพยากรสารสนเทศ ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ พัฒนาการให้บริการสารสนเทศด้านสิทธิมนุษยชน และปรับปรุงสถานที่ของศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชนฯ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

          ในปี พ.ศ. 2560 ได้มีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2565 โดยกำหนดแนวทางการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและสร้าง
ความตระหนักในเรื่องสิทธิมนุษยชน สื่อสารเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย รวมทั้งผลงานสำคัญของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต่อสาธารณชนอย่างถูกต้องและทั่วถึง และจัดให้มีศูนย์กลางความรู้และแหล่งข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชน โดยการพัฒนาศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชนให้เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับเผยแพร่ให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ

          ในวันที่ 4 กันยายน 2560 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มีพิธีเปิดศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นทางการ ภายใต้แนวคิด Sync.Space (Synchronizing Space) หรือ "สานสร้าง" สานความรู้ สานเครือข่าย สร้างคน สร้างสิทธิมนุษยชน เพื่อเป็นพื้นที่ร่วมมือสร้างสรรค์ข้อมูลความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนผ่านเครือข่าย โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาสนับสนุน เพื่อให้มีความรวดเร็ว มีประสิทธิผล และเข้าถึงได้ง่าย สำหรับบุคลากรในองค์กรและประชาชนทั่วไป และร่วมมือกันทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชน เพราะความรู้เป็นพลังสำคัญที่จะช่วยปกป้องสิทธิมนุษยชน